แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการหาทางออกร่วมกันของการเปลี่ยนผ่านประเทศ รวมถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นฐานแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนการผลักดันสู่ความสำเร็จในก้าวไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศและสากล ก่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน
ดร.วิรไท สันติประภพผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ บนเวที Thailand Sustainability Forum ครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยระบุว่า นับจากวันนี้ไปอีก 15 ปี ทุกประเทศจะต้องทำงานอย่างหนักในการสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนาในระยะยาว ก่อนที่กับดักฉุดรั้งไม่ให้เกิดกระบวนการพัฒนาไปข้างหน้า
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในช่วง 15 ปีของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goal: MDGs) จะพบว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นในยุคก่อนหน้านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนบนโลกดีขึ้นมากในหลายด้าน ประชากรโลกที่เคยมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน ลดลงจากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 10 ผู้คนที่เผชิญกับความหิวโหย ลดลงจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 11 ตัวเลขเหล่านี้อาจดูน่าพอใจ แต่ถ้าศึกษาลงในรายละเอียดแล้วจะพบว่า โลกยังมีประชากรอีกกว่า 700 ล้านคนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่มีแหล่งน้ำสะอาด และไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมถึงประชากรอีก 900 ล้านคนยังต้องอาศัยในชุมชนแออัด เราเห็นปัญหาความขัดแย้งของสังคมในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า “การพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา มันจะเดินต่อไปไม่ได้ ถ้ายังไม่เปลี่ยนกรอบแนวคิด การมุ่งทำงานให้มากขึ้นในกรอบเดิมๆ จะไม่เท่าทันต่อการแก้ไขปัญหาในโลก" ดร.วิรไท กล่าว
ดร.วิรไทยังเน้นย้ำว่า ความเสี่ยงใหญ่ที่ประชากรโลกกำลังเผชิญ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้การพัฒนาเดินหน้าไปในแนวทางที่ยั่งยืน “เพื่อให้เราก้าวสู่ปี 2030 และอนาคตคำถามสำคัญไม่ใช่การคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 15 ปีข้างหน้าแต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน
4มุมมองสู่ความยั่งยืน
ประเด็นแรกการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ดร.วิรไท กล่าวว่า “ภาครัฐจะต้องปฏิรูประบบการทำงาน ต้องเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากนั้น ภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ส่วนงานอื่นๆ ได้เข้ามาทำงานร่วมกันอย่างมีพลัง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคประชาชน ประชาสังคม และที่สำคัญคือภาคธุรกิจ”
ประเด็นที่สองต้องปรับการให้น้ำหนักจากการมองระยะสั้นเป็นการมองระยะยาว เริ่มจากพวกเราทุกคนนำแนวคิด ความพอประมาณและมีเหตุผล มาใช้ในทุกระดับของวิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคม เชื่อว่าเราจะสามารถวางรากฐานให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและตรงธรรม
ประเด็นที่สามการให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในทุกเรื่องหลักที่เราทำ “โลกแห่งอนาคตจะเป็นโลกมีทีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง เราต้องมีกันชนในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจากภายนอก ในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ การพัฒนาคนจะเป็นรากฐานและภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุด สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ประเด็นสุดท้าย การสร้างสภาวะแวดล้อมรวมถึงระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต "ระบบนิเวศจะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบเกณฑ์กติกาที่ล้าสมัย หรือเอื้อผลประโยชน์แบบเดิมๆ และไม่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยและเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน ถ้าเรายังเป็นสังคมที่ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมุ่งมองแบบ ฉัน-เธอ มากกว่าที่จะเป็นเรา" ดร.วิรไท กล่าวสรุป
การสร้างความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ
ลดาวัลย์ คำภารองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ หรือ สคช.) ได้นำเสนอให้เห็นถึงข้อมูลของการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ(MDGs) ที่ผ่านมา ว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวในหลายข้อ แต่ก็ยังมีบางข้อที่ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ17 SDGs ที่เกิดขึ้นใหม่นั้น จึงเป็นแนวทางหนึ่งให้ประเทศไทยก้าวเดินเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนขึ้น ให้ประเทศสามารถก้าวข้ามความเสี่ยง กับดักต่างๆ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ ให้ความสำคัญ คือเรื่องของการสร้างกลไกขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจและประเมินผล การพัฒนาระบบข้าราชการ และการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการและอนุกรรมการประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเอกชน เน้นการทำงานในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดเวทีพูดคุย เพื่อสอบถามความก้าวหน้า และความเห็น การให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยทำโรดแมปในแต่ละเป้าหมาย เพื่อประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนการพัฒนาตัวชี้วัดและสร้างการรับรู้ร่วมกันในทุกภาคส่วน
จากเป้าหมายสู่การปฏิบัติ
ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ Thailand SDGs: From commitment to action ที่ได้ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมมาร่วมกันหาทิศทาง แนวทาง รวมถึงข้อเสนอแนะของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติใช้ในภาคส่วนต่างๆ
รพี สุจริตกุล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า
ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกว่า 600 บริษัท เป็นผู้มีบทบาทในการเป็นต้นแบบของการนำหลักการทำงานบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืนไปขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจ ซึ่งกลไกหลักไม่ใช่มีเพียงแค่หลักเกณฑ์หรือข้อบังคับ ในทางปฏิบัติเพียงอย่างเดียวเพราะไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดเรื่องหลักเกณฑ์ที่ทุกคนในสังคมสามารถปฏิบัติได้จริง โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ กฎหมายระเบียบขั้นพื้นฐาน จิตสำนึกในการปฏิบัติ และแรงผลักดันจากสังคม
“ทั้ง 3 ประเด็นนี้จะต้องเคลื่อนตัวประสานกัน ผลักดันให้ภาคธุรกิจหรือองค์กรคิดและบริหารที่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก โดยไม่แสวงหาแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว เวลาพูดถึง Corporate Social ResponsibilityหรือCSR ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กุญแจคือเราต้องทำให้CSR เป็น in process คือบริษัทต้องไม่มองแต่เรื่องของตัวเอง”
ทางด้านลดาวัลย์ คำภารองเลขาธิการคณะกรรมการฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนการทำงานของภาครัฐว่า ปัจจุบันการสร้างกรอบคิดในการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่วางไว้ในกระบวนการทำงานแต่ละหน่วยงานภาครัฐเดิมอยู่แล้ว หากแต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการสร้าง “ความเข้าใจ” ในการทำงานว่ามีเป้าหมายหรือนโยบายที่สอดรับไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ และมีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนในแต่ละเรื่องเพื่อการสานต่อและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
“เรายอมรับว่าเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร ในบางนโยบายก็อาจจะไม่มีผู้เข้ามาสานต่อ หรือไปมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่สำคัญในส่วนอื่นๆ ดังนั้นกระบวนการทำงานเพื่อไปสู่ SDGs จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่งานใหม่แต่เป็นงานที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบอยู่ หน่วยงาน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการทำงานและมองว่านี่คือพันธกิจที่ท้าทาย"
ปิดท้ายด้วยมุมมองของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา เสนอแนะว่า ในเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยอาจต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ รวมถึงจะต้องมีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีเพื่อเป็นเครื่องประกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือวัด เครื่องมือกำกับดูแล และการออกแบบแนวทางรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุนที่มากขึ้น เช่น กลไกกำกับดูแลที่มีภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เพื่อเพิ่มการไหลลื่นของการค้าการลงทุนให้มากขึ้น
“เราต้องมีวัฒนธรรมของการทดลองบ้าง ลองผิดลองถูก และมีมุมมองที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs และมีฐานของความคิดในเรื่องการมองธุรกิจที่ยั่งยืน เพิ่มร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตและการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมได้มากขึ้น" ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวสรุป
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 18 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.