ราคาข้าวเปลือกดิ่งต่อเนื่องจ่อหลุด 7,000 บาท/ตัน โรงสีอ้างน้ำท่วมความชื้นสูง มาตรการช่วยเหลือชาวนาไม่สามารถพยุงราคาได้ ผู้ส่งออกข้าวหนีตายขายตัดราคากันเอง เผยไตรมาส 4 บิ๊กออร์เดอร์หายเรียบ ทั้งฟิลิปปินส์-อินโดฯ-มาเลย์ แถมG to G จีนยังเงียบ หวั่นราคาร่วงไม่หยุด หวั่นส่งออกข้าวปีนี้ไม่ถึงเป้า 9.5 ล้านตัน
แหล่งข่าวจากวงการโรงสีกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์การรับซื้อข้าวเปลือก ซึ่งจะออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันในช่วง 3 เดือนนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตันข้าวเปลือกว่า มีโรงสีหลายจังหวัดทั้งภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เช่น สุพรรณบุรี กำแพงเพชร ออกมาตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกความชื้น 25% แค่ตันละ 6,500-6,600 บาท ขณะที่ข้าวแห้งความชื้น 15% ถูกปรับลดลงไปเหลือตันละ 7,500-7,900 บาท มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว
โดยกลุ่มโรงสีอ้างสาเหตุมาจากฝนตกและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายกับพื้นที่ปลูกข้าวระหว่าง 300,000-400,000 ไร่
ด้านเกษตรกรเองก็เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำ และจำเป็นต้องขายเป็นข้าวเปลือกสดที่มีความชื้นสูงเกินกว่าระดับปกติ ส่งผลให้ถูกหักราคาตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นที่เพิ่มขึ้น
ผู้ส่งออกตัดราคาข้าวหอมมะลิ
ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวก็ซบเซาลงมาก โดยภาพรวมการส่งออกข้าว 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2559) มีปริมาณเพียง 6 ล้านตัน แต่กลับปรากฏจำนวนผู้ส่งออกข้าวหน้าใหม่มากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่พัฒนามาจากโรงสีก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกระดับท็อป 5 ของประเทศ ได้ใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้วยวิธีการขาย "ตัดราคา" ผู้ส่งออกรายเก่า เพื่อแย่งชิงตลาดส่งออกข้าว
ล่าสุดเมื่อ 1-2 สัปดาห์ก่อน ก็เกิดปรากฏการณ์มีการเสนอขาย "ข้าวหอมมะลิ" ในตลาดจีน (เสิ่นเจิ้น) ด้วยราคาตันละ 650 เหรียญสหรัฐ เพื่อตัดราคาผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นราคาข้าวหอมมะลิที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2007 ที่เคยส่งออกเฉลี่ยตันละ 799.45 เหรียญ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิล่วงหน้าเดือนพฤศจิกายน อาจจะราคาตกเหลือเพียงตันละ 11,000 บาท ส่วนราคาข้าวสารหอมมะลิอาจจะลดลงไปเหลือตันละ 18,000-20,000 บาทเท่านั้น
ด้านราคาข้าวขาว 5% (ใหม่) ตอนนี้ราคาส่งออกก็ลดลงเหลือตันละ 350-360 เหรียญ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาข้าวสารในประเทศอาจจะลดลงจากตันละ 11,500 บาท เหลือ 11,200 บาท และราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ปรับลดลงไปอยู่ที่ตันละ 7,000-8,000 บาท
ไม่เพียงเท่านั้นราคาบายโปรดักต์ เช่น ปลายข้าวเอวัน ก็ปรับลดลงจาก 11,000-11,200 บาท เหลือตันละ 10,800 บาท, ปลายข้าวซีวันจากตันละ 10,000 บาท เหลือ 9,000 บาท และรำข้าวจากตันละ 9,000-10,000 บาท ก็ตกลงเหลือตันละ 7,000 บาท
17 มาตรการรัฐไม่เวิร์ก
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 17 มาตรการ วงเงิน 102,784 ล้านบาท ของรัฐบาลที่อนุมัติมาก่อนหน้านี้ก็ไม่สามารถพยุงราคาข้าวภายในประเทศได้ ยกตัวอย่าง โครงการสินเชื่อชะลอการเก็บเกี่ยว (จำนำยุ้งฉาง) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีข้าวเหลือจากการจำนำยุ้งฉางปี 2558/2559 ยังไม่ได้ระบายอีกประมาณ 200,000-300,000 ตัน
ในหลายพื้นที่ เช่น สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ ทำให้ข้าวจำนวนนี้ออกมากดดันราคาในพื้นที่ สาเหตุที่ระบายข้าวออกได้ล่าช้าเป็นเพราะคณะกรรมการระบายข้าวระดับจังหวัด ไม่พิจารณาตัดสินใจขายข้าวจนราคาข้าวตกลง "คณะกรรมการก็ตกใจเร่งเปิดขายข้าวเป็นแบบเหมา เข้าทางผู้ซื้อออกมากดราคาต่ำเพียงตันละ 7,000-8,000 บาท จากต้นทุนการรับจำนำยุ้งฉางรวมค่าฝากเก็บ
ปี 2558 เฉลี่ยที่ตันละ 13,500 บาท หมายถึงขายขาดทุน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงไม่อนุมัติขายเพราะเกรงว่า จะมีความผิดคล้ายกับโครงการรับจำนำข้าว ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งไม่สามารถจะเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางในปีนี้ได้ เพราะข้าวระบายไม่หมด" แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี ก็มีปัญหาในลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือสถานการณ์ราคาข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงสีไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากการชดเชยดอกเบี้ย 3% ที่รัฐบาลให้ เมื่อเทียบกันแล้วไม่คุ้มกับราคาข้าวในตลาดที่ปรับตัวลดลง ดังนั้นโรงสีส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนวิธีการรับซื้อข้าวเปลือกใหม่ เป็น "ซื้อเพื่อผลิตและส่งมอบตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ตัวโรงสีเองจะไม่ซื้อข้าวเพื่อเก็บสต๊อกไว้" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะหยุดระบายข้าวสารในสต๊อกไปแล้ว แต่ผลจากการประมูลข้าวล่าสุดได้มีการอนุมัติขาย ข้าวหอมมะลิ ให้กับผู้ส่งออกรายหนึ่งในราคาตันละ 18,000 บาท "ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำมาก"
เท่ากับเป็นการชี้นำราคาข้าวหอมมะลิในตลาดให้ลดลงไปอีก โดยผู้ส่งออกคาดการณ์ว่า ยังมีข้าวหอมมะลิค้างอยู่ในสต๊อกรัฐบาลอีกประมาณ 600,000 ตัน ไม่นับรวมสต๊อกในส่วนของภาคเอกชน ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อชาวนาทั่วประเทศในแง่ของกำลังซื้อจะลดต่ำลง
ไตรมาส 4 ยังไร้คำสั่งซื้อ
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าวกล่าวว่า จากการประเมินครั้งล่าสุด ตลาดส่งออกข้าวไตรมาส 4 "ยังน่าห่วง" เพราะไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาในช่วงนี้เลย ทั้งตลาดฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จากเดิมคาดการณ์ว่า จะมีคำสั่งซื้อข้าวใหม่ในช่วงปลายปี แต่ก็ยังไม่มีเข้ามา ตลาดอิหร่านก็ยังไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ส่วนตลาดจีน ซึ่งมีความตกลงจะซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ในสัญญารัฐบาลประยุทธ์ อีกปริมาณ 2,000,000 ตัน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
"ผมอยากเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันให้มีการทำสัญญาขายข้าวลอตแรก 200,000-300,000 ตัน เพื่อให้มีตลาดรองรับข้าวหอมมะลิใหม่ที่จะออกมาปลายเดือนตุลาคมนี้ ยกตัวอย่าง เสนอขายราคามิตรภาพ 650 เหรียญ เท่ากับเอกชน แล้วรัฐนำข้าวในคลังรัฐบาลมาจ่ายชดเชยให้เอกชน แทนส่วนต่างอีก 50 เหรียญสหรัฐ วิธีนี้ก็ยังดีกว่าไม่มีออร์เดอร์เลย" แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัทธนสรรไรซ์ กล่าวว่า ความต้องการซื้อข้าวในตลาดต่างประเทศไตรมาส 4 ยังชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่และออกเรือได้ภายในกลางเดือนพฤศจิกายน ก็จะทำให้การส่งมอบข้าวไม่ทันช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันหยุด
ขณะที่ตลาดหลักแอฟริกา ประเทศนำเข้าหลักอย่าง ไนจีเรีย เองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจมานานกว่า 2 ปีแล้ว ประธานาธิบดีได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้า และส่งเสริมให้ประชาชนหันไปกินมันแทน ทั้งยังจำกัดการนำเงินออกมาชำระหนี้ ซึ่งผู้ส่งออกไทยประสบปัญหาไม่สามารถส่งข้าวเข้าไนจีเรียโดยตรงได้ จำเป็นต้องส่งผ่านเทรดเดอร์ไปยัง เบนิน-แคเมอรูน-โคโตนู แทน
ดังนั้นหากเปรียบเทียบราคาข้าว 5% ฤดูกาลใหม่ ลดลงเหลือ 350-360 เหรียญ ข้าวเก่า 335-340 เหรียญ ขณะที่ราคาข้าวปากีสถาน ขายอยู่ที่ 310-320 เหรียญ ทำให้ผู้ส่งออกต้องปรับราคารับซื้อข้าวในประเทศลดลงจาก 11.50 บาท เหลือ 11.30 บาท/กก. และมีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือ 11 บาท ถึง 11.10 บาท/กก.ด้วย
"ปัจจัยบวกของการส่งออกข้าวตอนนี้มีเพียงอัตราแลกเปลี่ยนที่กลับมาแข็งค่า แต่หากรัฐบาลไม่มีการดำเนินมาตรการช่วยเหลืออะไรเพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสสูงที่ราคาข้าวสาร 5% จะลงต่ำกว่า 11 บาท ข้าวหอมมะลิก็น่าห่วงเพราะมาตรการเดิม อย่างเช่น การจำนำยุ้งฉางเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ข้าวในยุ้งฉางที่จำนำไว้ตั้งแต่ปีก่อนก็ยังคงเหลือจนไม่ที่เก็บ โรงสีในกลุ่มภาคอีสานที่รับซื้อข้าวหอมมะลิไว้ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเจ็บตัวจากราคาข้าวที่ลดลงต่อเนื่อง และหากไม่มีคำสั่งซื้อข้าวลอตใหญ่เข้ามาอาจทำให้ราคาข้าวลดลงไปอีก ดังนั้นหากเป็นไปได้ รัฐบาลควรเร่งผลักดันการขายข้าว G to G ให้จีน 1,000,000 ตัน เพื่อผลักดันยอดการส่งออกข้าวหอมมะลิ เพราะจีนต้องการข้าวใหม่มากกว่าข้าวเก่าในสต๊อก" นายศุภชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายศุภชัยยอมรับว่า การเสนอราคาแข่งขันระหว่างผู้ส่งออกด้วยกันเอง ตอนนี้มีระดับความห่างกันอยู่ประมาณตันละ 5-10 เหรียญเท่านั้น โดยในส่วนของผู้ส่งออกที่มีโรงสีผลิตข้าวครบวงจรจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่าผู้ส่งออกข้าวที่ไม่มีโรงสี
สิ้นปีส่งออกไม่ถึง9.5 ล้านตัน
สอดคล้องกับความเห็นของ นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้น ไรซ์ ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของประเทศ กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปลายทางหลายประเทศยังมีปัญหา กำลังซื้อไม่ดี ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยเฉพาะ "ข้าวหอมมะลิ" จะเป็นข้าวที่ได้รับผลกระทบมากกว่าข้าวชนิดอื่น เพราะยังไม่มีตลาดใหญ่ที่มีคำสั่งซื้ออย่างชัดเจนเข้ามา
"ภาครัฐควรเร่งหารือกับทางรัฐบาลจีน เพื่อผลักดัน G to G ขายข้าว ซึ่งจะช่วยทำให้ยอดการส่งออกข้าวหอมมะลิในช่วงปลายปีปรับตัวดีขึ้น และส่งผลดีกับราคาข้าวเปลือกนาปีที่กำลังจะออกสู่ตลาด หากรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติมก็มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ราคาข้าวลดลงไปอีก เพราะมาตรการที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอและไม่ตอบโจทย์ โดยส่วนตัวประมาณว่า การส่งออกข้าวปีนี้อาจจะทำได้เพียง 9.2 ล้านตัน ไม่ถึงเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน จากปัจจุบันยอด 8 เดือนแรก ส่งออกข้าวไปได้ 6 ล้านตัน" นายสมบัติกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.