โดย...อชัถยา ชื่นนิรันดร์
ปัญหาชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในไทยโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือนอมินี ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยทั้งในส่วนของผลประโยชน์ ตลอดจนเสียหายต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะที่ จ.ภูเก็ต
จากปัญหาดังกล่าว กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และติดตามความคืบหน้าแก้ปัญาหานอมินีอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ภูเก็ตเพื่อรับทราบสถานการณ์เป็นระยะเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบและควบคุมการประกอบกิจการของคนต่างด้าวในไทยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
กอบกาญจน์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้นักลงทุนต่างชาติได้ใช้คนไทยทำธุรกิจท่องเที่ยวในลักษณะตัวแทนอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ส่วนผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เปิดให้บริการมาแล้วก็จะมอบหมายให้คณะกรรมการกลั่นกรองที่มาจากหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีใครเป็นเจ้าของบริษัทและมีผู้ถือหุ้นด้วยจำนวนเท่าไหร่
ขณะเดียวกันยังได้หารือแนวทางการเข้าไปตรวจสอบสำนักงานบัญชีและทนายความ ซึ่งจะต้องคุมเข้มในมาตรฐานของการให้บริการเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยจะมีการนำไปพูดคุยกับสภาวิชาชีพของทั้งสององค์กร
“สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การจ่ายภาษีให้ถูกต้อง รวมทั้งยังมองไปถึงแนวทางในอนาคตว่าจะต้องมีการปรับกฎระเบียบ หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่จะสามารถทำให้ธุรกิจอยู่บนความถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นจริงในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจจะมีหลายรูปแบบ เช่น ทำอย่างไรที่จะสามารถปรับกฎระเบียบให้เข้มข้นมากขึ้น และทำให้โอกาสการเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจต่างๆ ลดน้อยลง เป็นต้น” กอบกาญจน์ กล่าว
ประเจียด อักษรธรรมกุล รอง ผวจ.ภูเก็ต กล่าวว่า รมว.ท่องเที่ยวฯ ได้กำชับให้ทางจังหวัดเข้มงวดดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากต่างชาติมาทำธุรกิจแบบ นอมินี คือ เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ แต่หลบเลี่ยงกฎหมายไทย ทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ ดังนั้นต้องทำกันอย่างจริงจัง โดยทาง จ.ภูเก็ต กำหนดประชุมเดือนละ 2 ครั้งเพื่อประเมินผลกลุ่มเสี่ยง ตลอดทั้งตรวจสอบว่ามีกลุ่มใดบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงเข้ามาทำธุรกิจลักษณะนอมินีก่อนจะเข้าแก้ปัญหาจริงจังเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
ประเจียด กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักธุรกิจเข้ามาจดจดทะเบียนบริษัทใน จ.ภูเก็ต มากกว่า 1 หมื่นบริษัท แต่ที่เข้าข่ายที่ต้องจับตาเป็นพิเศษมีไม่มากนัก ซึ่งกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่มีการร้องเรียนเข้ามาให้ตรวจสอบ เช่น นักธุรกิจที่ทำธุรกิจด้วยแล้วเกิดแตกคอกันผลประโยชน์ไม่ลงตัว ตลอดทั้งประชาชนหรือลูกค้าร้องเรียนขึ้นมาจึงต้องเข้าไปดูเป็นพิเศษเพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหรือผู้มีส่วนตรงนั้น
สันติ ป่าหวาย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต และในฐานะนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์สาขาภาคใต้เขต 2 กล่าวว่า ชาวต่างชาติ มาถือหุ้นในภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปี 2558-2559 มีชาวต่างชาติถือหุ้นมากที่สุด คือ เกาหลี 11 บริษัท รองลงมา จีน 7 บริษัท รัสเซีย อังกฤษ มาเลเซีย มีคนไทย จาก จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ร่วมจดทะเบียนบริษัทฯ ซึ่งต้องตรวจสอบอย่างละเอียดกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำนักงานทะเบียนฯ ที่รับผิดชอบได้สั่งปิดบริษัทนอมินีใน จ.ภูเก็ต แล้วจำนวน 5 บริษัท เมื่อปี 2558 ต่อเนื่องปี 2259 และจะทยอยตรวจสอบต่อเนื่องหากตรวจพบการกระทำผิดจะสั่งปิดบริษัททันที
สำหรับข้อมูลการลงทุนตามสัญชาติใน จ.ภูเก็ต รวมทั้งหมด 113 สัญชาติ มีจำนวนนิติบุคคล 7458 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 16,534,558,121.65 บาท สัญชาติที่ลงทุน
มากที่สุด ได้แก่ หมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) จำนวนนิติบุคคล 198 ราย มูลค่าการลงทุน 2,576,990,557.00 บาท
รองลงมา อังกฤษ นิติบุคคล 1,197 ราย มูลค่าการลงทุน 1,475,990,557.00 บาท ฮ่องกง นิติบุคคล 62 ราย มูลค่าการลงทุน 1,377,399,790.00บาท ฝรั่งเศส นิติบุคคล 669 ราย มูลค่าการลงทุน 1,151,219,925.90 บาท
รัสเซีย นิติบุคคล 559ราย มูลค่าการลงทุน 794,224,835.00 บาท มาเลเซีย นิติบุคคล 77 ราย มูลค่าการลงทุน 788,520,500.00 บาท จีน นิติบุคคล 238 ราย มูลค่าการลงทุน 686,669,930.00 บาท เกาหลี นิติบุคคล232 ราย มูลค่าการลงทุน 578,226,500.00บาท ฯลฯ
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 มี.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.