ราคา ข้าวเปลือกหอมมะลินาปี 58/59 ดิ่งหลุดตันละ 9,000 บาท ด้าน "พาณิชย์" เรียกหารือด่วน ส่งผล "ผู้ส่งออก-โรงสีข้าว" ซัดกันนัว ฝ่ายแรกโบ้ยบอกโรงสีแห่ส่งออกตัดราคาขายขณะที่ฝ่ายหลังแจ้งผู้ส่งออกไล่ทุบ ราคาข้าวลงเหลือ 23,000 บาท จากราคาประกัน 26,000 บาท ร้องรัฐจัดระเบียบก่อนอุตสาหกรรมข้าวพัง
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานหลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาเพื่อรักษาเสถียรภาพ ราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/2559 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตปริมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือก ด้วยวงเงินไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือโรงสีเข้าช่วยซื้อข้าวเปลือกตามโครงการชดเชย ดอกเบี้ย 3% วงเงิน 385 ล้านบาท (เริ่ม 15 ตุลาคม 2558)
โครงการ ชะลอการขาย (จำนำยุ้งฉาง) กับ ธ.ก.ส.ตันละ 13,500 บาท โดยให้ค่าฝากเก็บ 1,000 บาท วงเงิน 27,000 ล้านบาท, โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือก 2.5 ล้านตัน วงเงิน 12,500 ล้านบาท (ไม่นับรวมถึงการขอความร่วมมือให้ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดทำโครงการ ประกันราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิตันละ 26,000 บาท หรือคิดเป็น13,500 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งขณะนี้เริ่มรับซื้อไปได้แล้ว 75,000 ตัน)
ปรากฏระดับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็น พื้นที่เพาะปลูกหลัก กลับลดราคาต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตกลงเหลือตันละ 8,900-9,100 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาในช่วงที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่ศึกษาผลผลิต ข้าวปี 2558/2559 ที่จังหวัดอุบลราชธานี-ยโสธร-ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่11-13 พฤศจิกายน 2558 โดยขณะนั้นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิใหม่เกี่ยวสดเฉลี่ยยังอยู่ที่ตันละ 9,000-11,000 บาท และยังต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิปี 2557 ที่ชาวนาขายได้เฉลี่ยตันละ 11,000-12,000 บาท
ราคาข้าวหอมมะลิที่ ตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ทำให้นายวิจักร วิเศษน้อย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ น.ส.บูลย์ลักษณ์ร่วมรัก อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เรียกประชุมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย พร้อมคณะผู้บริหารทั้ง 2 สมาคม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างเร่งด่วน
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมทางกระทรวงได้แสดงท่าทีให้เห็นว่า "โรงสีเป็นจำเลย" จากการที่ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขายข้าวได้ราคาต่ำ ซึ่งทางสมาคมโรงสีได้ชี้แจงว่าสาเหตุที่โรงสีไม่สามารถซื้อข้าวหอมมะลิใน ราคาที่สูงได้ เพราะข้าวมีความชื้นสูง ที่สำคัญผู้ส่งออกที่รับซื้อข้าวจากโรงสีได้ปรับลดราคารับซื้อล่วงหน้าลง อย่างต่อเนื่อง โดยราคาส่งมอบเดือนธันวาคมลดลงเหลือเพียงตันละ 23,000 บาท หรือลดลงจากต้นเดือนพฤศจิกายนที่มีราคาอยู่ระหว่างตัน 26,000-27,000 บาท หรือลดลงไปตันละ 3,000 บาท จากราคาที่ผู้ส่งออกมีโครงการประกันราคารับซื้อตันละ26,000 บาท
"แม้จะมีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยจำนวน 200-300 โรงก็จริง แต่เมื่อเห็นสถานการณ์ราคาข้าวอนาคตลดลง ถึงเราจะเข้าไปซื้อในราคาที่รัฐบาลต้องการ แต่พอไปขายไม่คุ้ม การชดเชยดอกเบี้ยก็ไม่คุ้ม เพราะรัฐชดเชยแค่ 3% แต่โรงสียังต้องจ่ายส่วนต่างดอกเบี้ยที่เหลืออีก 7% อยู่ดี" แหล่งข่าวกล่าว
พร้อม กันนี้สมาคมโรงสีข้าวไทยได้ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมว่า โดยปกติประเทศไทยผลิตข้าวหอม มะลิรอบเดียว 6 ล้านตัน ซึ่งข้าวจะทะลักออกในช่วง 2 เดือนเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น1.5 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิไปต่างประเทศเฉลี่ยเดือนละ 150,000-200,000 ตัน จึงต้องเก็บสต๊อกข้าวหอมมะลิที่เหลือ ไว้ใช้ตลอดทั้งปี แต่พอเกี่ยวข้าวสดออกมามาก โรงสีอีสานกำลังการผลิตน้อยกว่า "อบไม่ทัน" ดังนั้นจึงมีโรงสีภาคกลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเข้ามารับซื้อข้าวหอมมะลิ ซึ่งโรงสีภาคกลางเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า สามารถอบข้าวได้มาก และขายให้กับผู้ส่งออกทันที ทำให้ผู้ส่งออกมีอำนาจต่อรองซื้อสูง
"ราคาข้าวหอมมะลิในตลาดพื้นที่จึงลดต่ำลง"
ทว่า แหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าวกลับกล่าวว่า การตั้งราคารับซื้อข้าวหอมมะลิต่ำเป็นผลมาจากโรงสีข้าวรายใหญ่หันมาทำส่งออก ข้าวกันมากขึ้น โดยโรงสีเหล่านี้มีพฤติกรรมไปขายตัดราคาในตลาดต่างประเทศ ส่งผลทำให้ราคาส่งออก FOB ลดลงจากเดิมที่เคยขายได้ 800-900 เหรียญ ขณะนี้เหลือเพียง 700-750 เหรียญ โดยหวังจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ผลลัพธ์ก็คือ ราคาตลาดลดลงทั้งระบบ ทำให้ไทยได้รับเงินรายได้จากการส่งออกข้าวหอมมะลิลดลง
"ประเด็นความ ขัดแย้งระหว่างโรงสีและผู้ส่งออกข้าวในปีนี้ค่อนข้างรุนแรง มากขึ้น จากในอดีตที่รัฐบาลชุดก่อน ๆ มีโครงการรับจำนำ โรงสีก็ขยายกำลังการผลิตจนล้น เมื่อโตมากก็ต้องหันไปส่งออก นับเป็นการส่งออกข้าวแบบก้าวกระโดด บางรายก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ ของประเทศ ด้วยวิธีการตัดราคาต่ำมากเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรุนแรงมากขึ้น เรื่องแบบนี้ทางโรงสีได้เปรียบด้านต้นทุน เพราะไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0.75% แต่ผู้ส่งออกต้องไปทำตลาดมีต้นทุนค่าการทำตลาด หากรัฐบาลไม่จัดระเบียบการประกอบธุรกิจส่งออกข้าวก็จะกระทบมาก เพราะผู้ส่งออกข้าวมีเพียง 300 ราย แต่โรงสีมีจำนวนมาก อำนาจต่อรองมากกว่า" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าในที่ประชุมได้ ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะไปเร่งรัดการประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้ เกษตรกรรับทราบ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำยุ้งฉางและเชื่อว่า หากดำเนินการเต็มประสิทธิภาพจะช่วยดูดซับผลผลิตส่วนเกินได้ถึง 2 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณผลผลิต ขณะที่กลไกด้านอื่น ๆ ทางกระทรวงก็ขอความร่วมมือให้ดำเนินการร่วมกันอย่างเต็มที่เช่นกัน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 พ.ย. 2558