ร่าง
พระราชบัญญัติ
การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
พ.ศ. ....
----------------------------------------------------
.............................................
........................................................
............................................
.................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
พระ ราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบมาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
..................................................................................................................................
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“ที่ดิน” หมายความว่า ที่ดินของรัฐและเอกชนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
“พื้นที่เกษตรกรรม” หมายความว่า พื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
“เจ้าของที่ดิน” หมายความว่า ผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น
“สิทธิในที่ดิน” หมายความว่า กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง และสิทธิการเช่าในพื้นที่เกษตรกรรม
“คนต่างด้าว” หมาย ความว่า บุคคลที่มิได้มีสัญชาติไทย และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลซึ่งมีคนต่างด้าวถือหุ้นในนิติบุคคลนั้นเกิน กว่าร้อยละห้าสิบ หรือนิติบุคคลอื่นๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
“เป็นเจ้าของที่ดินแทนคนต่างด้าว” หมายความว่า คนต่างด้าวซื้อที่ดินโดยให้คนไทยเป็นผู้ถือครองที่ดิน แทน หรือรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแทนคนต่างด้าว และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือที่ดิน บุคคลหรือสถาบัน ผู้ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนในการถือและดูแลที่ดิน แทนเจ้าของซึ่งเป็นคนต่างด้าว
“เขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม” หมายความว่า เขตที่ดินที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็น
เขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละ กระทรวง
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด 1
คณะกรรมการ
มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบดีกรมการข้าว เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ กรรมการอื่นจำนวนไม่เกินเก้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน ภาคเอกชนจำนวนสามคน และผู้แทนเกษตรกรจำนวนสามคน
ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ เลขานุการอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสม
ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เกษตรกรรมตามมาตรา 15 ใช้บังคับในท้องที่กรุงเทพมหานครแล้ว ให้คณะกรรมการทำหน้าที่คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดสำหรับกรุงเทพมหานครด้วย
มาตรา 6 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เกษตรกรรมตามมาตรา 15 ใช้บังคับในเขตท้องที่หนึ่งท้องที่ใดในจังหวัดใดแล้ว ให้มีคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมประจำจังหวัดขึ้นคณะหนึ่งในจังหวัดนั้น เรียกว่า “คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัด” ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน(จังหวัด) สหกรณ์จังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ผู้แทนกรมการข้าว ผู้แทนกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ปลัดจังหวัด เป็นกรรมการ กรรมการอื่นจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ภาคเอกชนจำนวนสองคน และผู้แทนเกษตรกรจำนวนสามคน
ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ เลขานุการอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสม
มาตรา 7 ให้กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 5 มาตรา 6 มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้
มาตรา 8 นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้ออกแล้วแต่กรณี
(4) เป็นคนล้มละลาย
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
มาตรา 9 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และถ้าประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา 10 การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 11 ให้คณะกรรมการหรือคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัด มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามความจำเป็น
ให้นำความในมาตรา 9 และมาตรา 10 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 12 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(2) พิจารณากำหนดนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริม การฟื้นฟู และบำรุงรักษาดินและที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(3) พิจารณาให้ความเห็นชอบการขยายหรือการเพิกถอนเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(4) พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามคำร้องหรือคำอุทธรณ์ ของเจ้าของที่ดินหรือบุคคลผู้ครอบครองที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนยุวเกษตรกรและเกษตรกรในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมให้เข้มแข็ง
(6) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับ รวมตลอดถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หรือการคุ้มครอง ที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
มาตรา 13 ให้คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีการสำรวจบริเวณที่ดินที่เห็นสมควรจะกำหนดเป็นเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมตามประกาศของรัฐมนตรี
(2) จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงให้เจ้าของที่ดินและประชาชนในท้องที่เข้าใจความ มุ่งหมายการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและประโยชน์ที่จะพึงได้รับ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น
(3) ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยคำร้องของเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(4) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตการจำหน่ายที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(5) ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมตามระเบียบหรือข้อบังคับหรือมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(6) พิจารณาวางแผนการส่งเสริมและบำรุงเกษตรกรรมเพื่อเสนอคณะกรรมการ
(7) วางระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หรือการคุ้มครองที่ดินในเขตคุ้มครอง พื้นที่เกษตรกรรมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติของคณะกรรมการ
มาตรา 14 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ และให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัด
หมวด 2
การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
มาตรา 15 การกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ใดให้เป็นเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้มีแผนที่แสดงเขตและระบุท้องที่ที่อยู่ในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมแนบ ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย แผนที่ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกา
การกำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมตามวรรคหนึ่ง โดยให้ดำเนินการในท้องที่ที่มีที่ดินเหมาะสมต่อการเกษตร หรือท้องที่ที่รัฐได้ลงทุนจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทานไว้แล้ว
มาตรา 16 การขยายหรือการเพิกถอนเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
พื้นที่ใดที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว หากประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าว จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ เข้าชื่อกันร้องขอให้เพิกถอน ให้คณะกรรมการรับพิจารณาคำร้องขอนั้น
มาตรา 17 ผู้ใดกระทำการใดๆ ให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อคนต่างด้าว หรือเป็นเจ้าของที่ดินแทนคนต่างด้าว โดยกรณีมิได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ต่างๆตามที่กฎหมายอื่น หรือพระราชบัญญัตินี้กำหนด ให้ถือว่าการได้มาซึ่งที่ดินเป็นโมฆะ
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและทำการสอบสวนได้ความปรากฏว่า ผู้ใดได้มาซึ่งที่ดินแห่งใดในฐานะเป็นคนต่างด้าว หรือเป็นเจ้าของที่ดินแทนคนต่างด้าว ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อ ที่ดินแปลงนั้นได้ในทันที และสำหรับการกำหนดราคาที่ดินที่จัดซื้อต้องเป็นราคาไม่เกินราคาประเมินของกรมธนารักษ์กำหนด
ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งนั้น โดยให้ถือว่าเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย ตามาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เมื่อคณะกรรมการมีมติให้จัดซื้อที่ดินแปลงนั้นแล้ว ผู้นั้นหรือเจ้าของที่ดินจะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ และมติคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 18 การเช่าที่ดินทั้งที่มีลายลักษณ์อักษรหรือไม่มีลายลักษณ์อักษร หรือเช่าซื้อที่ดินของคนต่างด้าวในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมให้ถือว่า เป็นโมฆะ
มาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 15 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขต คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ประกาศดังกล่าวให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจเพื่อกำหนดเป็นเขต คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมแนบท้ายประกาศนั้นด้วย แผนที่ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งประกาศ
ภายในเขตแผนที่ท้ายประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่มี อำนาจดังต่อไปนี้
(1) เข้าเป็นทำการอันจำเป็นเพื่อการสำรวจได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบเสียก่อน
(2) ทำ เครื่องหมายระดับ ขอบเขต หรือแนวเขต โดยปักหลักหรือขุดร่องแนว ในกรณีที่ต้องสร้างหมุดหลักฐานการแผนที่ในที่ดินของผู้ใด ก็ให้มีอำนาจสร้างหมุดหลักฐานลงได้ตามความจำเป็น
เมื่อ มีความจำเป็นและโดยสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขุดดิน ตัดรานกิ่งไม้ และกระทำการอย่างอื่นแก่สิ่งที่กีดขวางการสำรวจได้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการที่จะให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
มาตรา 20 ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานเขตกรุงเทพหานคร หรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
มาตรา 21 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว ห้าม มิให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมใช้ ที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม หรือทำการปลูกสร้างสิ่งใดๆ หรือทำการใดๆ แก่ที่ดินนั้นอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การใช้ประโยชน์พื้นที่ เกษตรกรรม เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินได้ ใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่ เกษตรกรรม และจะใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้นต่อไปเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว แต่ ถ้าคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดเห็นว่าการใช้ประโยชน์ ที่ดินเช่นนั้นต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การใช้ประโยชน์พื้นที่ เกษตรกรรม คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดมี อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินจะต้องแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้นต่อไป การ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังกล่าว ให้คำนึงถึงกิจการที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพของที่ดิน และทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวกับที่ดิน การลงทุน ประโยชน์ หรือผลกระทบที่ได้รับจากกิจการนั้น ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดเชิญเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินมาแสดงข้อเท็จจริงและความคิดเห็นประกอบด้วย
เมื่อได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธี การและเงื่อนไขดังกล่าวในวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของ ที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบ และเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินมีสิทธิคัดค้านได้
มาตรา 22 ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ประสงค์จะคัดค้าน ยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ในกรณีที่มีผู้ร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดมีอำนาจสอบสวนและเรียก บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็นและวินิจฉัยสั่งการไปตามที่เห็นสมควร และแจ้งคำวินิจฉัยนั้นเป็นหนังสือไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้าน
เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยสั่งการตามวรรคสอง มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำ วินิจฉัย เพื่อคณะกรรมการวินิจฉัยคำอุทธรณ์นั้นให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วัน ที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนด
ในระหว่างคัดค้านหรืออุทธรณ์ ห้ามมิให้ผู้คัดค้านหรือผู้อุทธรณ์กระทำการใดๆ อันเป็นมูลกรณีแห่งการคัดค้านหรือการอุทธรณ์
มาตรา 23 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ รังวัดที่ดินในเขตท้องที่ที่จะกำหนดเป็นเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขออนุญาตขายที่ดินหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ ที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(2) มีหนังสือเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมได้ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 24 ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก โดย ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินอำนวยความสะดวกตามสมควรและในการนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 3
การส่งเสริมและควบคุมการใช้พื้นที่เกษตรกรรม
มาตรา 25 เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมย่อมได้รับการ ส่งเสริม และสนับสนุนในด้านการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม
มาตรา 26 ที่ดินแปลงใดถ้าเจ้าของที่ดินไม่ต้องการประกอบเกษตรกรรมต่อไป ให้คณะกรรมการมีมติมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นผู้จัดซื้อที่ดินแปลงนั้นจากเงินกองทุนตาม กฎหมายของส่วนราชการนั้น และให้นำไปดำเนินการจำหน่าย หรือให้เช่า หรือให้เช่าซื้อแก่เกษตรกร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายของส่วนราชการนั้นกำหนด
การจัดซื้อ ให้เช่า หรือเช่าซื้อที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดราคาที่ดินโดยคำนึงถึงการได้มา สภาพความอุดมสมบูรณ์ และทำเลที่ตั้งของที่ดิน ประกอบกับมูลค่าของผลิตผลเกษตรกรรมที่สามารถผลิตได้จากที่ดินในท้องที่นั้น
การจัดซื้อที่ดิน หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาเช่าซื้อตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการเสียภาษีอากรเฉพาะกรณีที่รัฐจะต้องเป็นฝ่ายชำระ
หมวด 4
บทกำหนดโทษ
มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือสิ่งใดๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกให้มาหรือให้ส่งให้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดสนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 17 และมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 28 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 29 ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติ หรือไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือสิ่งใดๆ ที่เรียกให้มาหรือให้ส่งตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 30 เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินรายใด ในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายกรัฐมนตรี
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : localact@localact.org