นายกฯห่วงชาวสวนยาง เร่งแก้ไขปัญหาระยะยาว วอนเกษตรกรเห็นใจรัฐ หากแก้ปัญหาด้วยวิธีจ่ายเงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียวจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายและหนี้พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราที่ก.ก. ละ 60 บาท และให้ชะลอการโค่นยางตามนโยบายทวงคืนผืนป่า และอื่นๆ อันเนื่องมาจากปัญหาราคายางตกต่ำ โดยหากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือจะมีชาวสวนยางออกมาเคลื่อนไหว นั้น รัฐบาลขอเรียนว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยการจ่ายเงินอุดหนุนราคา หลายรายการด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนกลไลตลาด นำไปสู่ความเสียหายในระยะยาว เช่น เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดเดียวกันจนผลผลิตล้นตลาด และปริมาณเงินที่รัฐอุดหนุนจะเพิ่มขึ้นมากเป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มไม่เฉพาะแต่ชาวสวนยางเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปประเทศด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตร ทั้งการช่วยเหลือเรื่องลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมตลาด ให้เงินอุดหนุนเฉพาะเรื่องตามสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกหรือโซนนิ่ง และอีกหลายๆเรื่อง
ดังนั้น จึงอยากวิงวอนให้พี่น้องชาวสวนยางเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐบาล เราไม่ต้องการแก้ไขปัญหาแบบที่ผ่าน ๆ มาด้วยการให้เงินแต่เพียงอย่างเดียวจนเป็นนิสัย ทำให้ประเทศต้องเป็นหนี้ และเกษตรกรเองก็จะต้องประสบปัญหาเช่นนี้ซ้ำซาก รัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจ่ายเงินอุดหนุนให้ทุกครั้ง วันนี้ราคายางในตลาดโลกก็ไม่ได้สูงนัก เพราะความต้องการยางโดยภาพรวมยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รายได้จากการส่งออกยางก็ได้รับผลกระทบ รัฐก็จัดเก็บภาษีจากการขายยางดิบไม่ได้มากด้วยเช่นกัน ขอให้ชาวสวนยางเห็นใจรัฐบาลและเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นซึ่งรัฐบาลต้องดูแลด้วย
"นายกฯ เห็นใจพี่น้องชาวสวนยาง ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นต่อเนื่องมาโดยตลอด นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ เพราะเข้าใจดีว่าภาคการเกษตรเป็นกำลังหลักของประเทศ แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจและเห็นใจรัฐบาลด้วย ไม่อยากให้บังคับว่ารัฐบาลต้องทำแบบนั้นแบบนี้ รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน แต่เรากำลังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งการเพิ่มความต้องการใช้ยาง สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เช่น ล้อยาง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง จัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นแทนยางโดยดูความต้องการของตลาด
พลตรีสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากนั้น จะเร่งผลักดันการบริหารกฎหมายคือ พรบ.การยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 ให้มีองค์คณะกรรมการที่ครบถ้วน เพื่อจะได้ขับเคลื่อนกลไกต่างๆในการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การออกระเบียบว่าด้วยการจัดสรรเงินกองทุน ค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง เพื่อใช้เป็นสวัสดิการให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตลอดจนการซื้อยางโดยอาศัยกลไกตลาดเพื่อยกระดับราคา ทั้งนี้ก็ไม่ได้ละเลยที่จะพิจารณามาตรการการอุดหนุนเงินช่วยเหลือแต่จะต้องมีเหตุผลรองรับมีเงื่อนไขที่เหมาะสมไม่ ก่อให้เกิดผลกระทบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.