นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ถึงแนวทางการจัดทำพ.ร.บ. เพื่อสวัสดิการของรัฐ โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้กรมสามารถเปิดขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการออกนโยบายช่วยเหลือของรัฐ
ซึ่งต้องออกเป็นพ.ร.บ.ต่างหากแยกกับประมวลรัษฎากร ของกรมสรรพากร เนื่องจากประมวลรัษฎากรจะมีบทลงโทษหากไม่ยื่นแบบแสดงรายได้เพื่อเสียภาษี แต่พ.ร.บ.ที่กำลังร่างขึ้นมานี้จะจูงใจให้คนที่มีรายได้ และไม่ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีสามารถมายื่นแบบแสดงรายได้ที่ออกแบบให้กรองข้อมูลง่ายๆ เพื่อขอรับสวัสดิการที่รัฐจะมีขึ้นในอนาคต ถ้าไม่ยื่นแบบแสดงรายได้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการสำรวจข้อมูลรายได้ของประชาชน และต้องการให้พ.ร.บ.แล้วเสร็จภายในปี 2558 นี้ ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นอาจจะนำไปเชื่อมโยง หรือบรรจุไว้ในบัตรประชาชน โดยคาดว่าจะมีประชาชนที่ต้องมายื่นแบบแสดงรายได้ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวประมาณ 10 ล้านราย คาดว่าจะเท่ากับจำนวนของบุคคลธรรมดาที่ยื่นแบบแสดงรายได้ปีประมาณ 10 ล้านราย
“การดำเนินการดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษี แต่เป็นการสำรวจข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าคนไทยมีรายได้ต่อคนต่อปีเท่าไหร่ ขณะนี้กำลังหารือถึงการออกแบบแนวทางการยื่นแบบแสดงรายได้ว่าควรจะทำอย่างไรจะมีการเชื่อมข้อมูลของแต่ละกระทรวงอย่างไร หน่วยงานไหนจะรับยื่นเรื่องบ้าง ซึ่งกรมสรรพากรพร้อมจะรวบรวมข้อมูลตรงนี้ รวมถึงทำหน้าที่ร่างกฎหมายให้”
นายประสงค์ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนรายได้ของคนไทยอาจจะต้องกำหนดอายุขั้นต่ำ อาทิ 20 ปี เพราะถ้าเด็กกว่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน แต่คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการที่รัฐทราบถึงรายได้ของประชาชนในแต่คน แต่ละกลุ่มอาชีพ ทำให้สามารถออกแบบการช่วยเหลือด้านสวัสดิการได้อย่างตรงจุด และจะสามารถช่วยประหยัดเงินงบประมาณในการช่วยเหลือได้มาก
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างดำเนินการร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่เรียกว่า “เงินโอน แก้จน คนขยัน” หรือที่เรียกว่า Negative Income Tax หรือ NIT แนวคิดที่สำคัญ คือ การใช้เงินภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นคนจนในสังคม ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยต้องเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อให้กระทรวงการคลังทราบว่าจะต้องช่วยใครอย่างไรสามารถใช้การสำรวจดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับการช่วยเหลือได้ แต่ก็ต้องอยู่กับฝ่ายนโยบายว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ช่วงปี 2547 เคยมีการดำเนินการลักษณะนี้ ด้วยการขึ้นทะเบียนคนจน โดยกำหนดรายได้ไว้คือไม่เกิน 1,242 บาท/เดือน หรือ 4,904 บาท/ปี พบว่ามีคนลงทะเบียน 7.89 ล้านคน หรือ 11.25% เท่ากับ 1 ใน 10 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนั้น 4,814,424 คน ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขหนี้สิน โดยจังหวัดที่มีอัตราส่วนคนจนสูงสุด 1.แม่ฮ่องสอน อยู่ที่ 59.77% 2.ศรีสะเกษ อยู่ที่ 36.12% 3.กาฬสินธุ์ อยู่ที่ 30.94% ส่วนจังหวัดที่มีอัตราส่วนคนจนน้อยที่สุด อยู่ที่ 1.ภูเก็ต และ ปทุมธานี อยู่ที่ 0.00% 2.นนทบุรี อยู่ที่ 0.1% 3.ระยอง อยู่ที่0.16%
ที่มา : มติชน วันที่ 15 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.