ยูเอ็นแนะให้ไทยหยุดตัดไม้ยางและแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของประชาชน อย่างมีประสิทธิผล และคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งด้านสิทธิในที่ดิน การศึกษา และวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2558 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมทบทวนรายงานคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
เวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการไทยจำนวนกว่า 20 คนที่เดินทางมาร่วมเวทีในวันที่ 4 มิถุนายนมีเวลา 3 ชั่วโมงและในวันที่ 5 มิถุนายนมีเวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมง ทั้งนี้เป็นเวทีถามตอบกับคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน 18 คน ได้สรุปใจความสำคัญของสถานการณ์สิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมว่าประเทศไทยส่งรายงานต่อยูเอ็นช้ามากคือ 16 ปีหลังจากการเข้าเป็นรัฐภาคีและรายงานก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆในประเทศไทย ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาตั้งคำถามมากที่สุด คือประเด็นสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิทางการศึกษาและวัฒนธรรม อีกทั้งเมื่อถูกละเมิดก็ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการรับรองสิทธิภายใต้กฎหมายภายในประเทศ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการบังคับไล่รื้อตัดฟันพืชผล โดยคณะกรรมการฯเสนอให้ยุติการตัดฟันและยกเลิกคำสั่งคสช. รวมทั้งยกเลิกคำสั่งต่างๆที่ส่งผลต่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งให้ตัดต้นไม้ยางพาราจำนวนมากในช่วงเวลานี้ในนามแผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติและการลดภาวะโลกร้อน
ทางคณะกรรมการฯ เสนอให้ประเทศไทยนำหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีทุกฉบับที่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่เวลานี้ เพื่อให้สามารถนำหลักการสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไปใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศและสามารถทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะกับชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีเฉพาะ ที่ต้องการการยอมรับความเสมอภาคและเท่าเทียมภายในหลักการสิทธิมนุษยชน ในที่นี้รวมถึงการคุ้มครองผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย แรงงานอพยพนอกระบบ การไม่ให้การคุ้มครองกลุ่มประชากรกลุ่มนี้เป็นปัญหาในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติโดยรวมที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนเพื่อยุติกระบวนการค้ามนุษย์ อีกทั้งได้ระบุว่าหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทั้งจากการกระทำของบริษัทในประเทศไทยและบริษัทไทยในต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะทำข้อเสนอแนะเชิงสรุปอย่างเป็นทางการและเผยแพร่ในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 นี้ และจะมีการส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะทูตไทยประจำนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเวปไซด์ของสหประชาชาติต่อไป
ที่มา : ประชาไท วันที่ 8 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.