"ประพัฒน์" ผู้พลิกชีวิตเกษตรกรแบบเก่าสู้โลกร้อน

prapat

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้ที่ยอมพลิกชีวิตจากการปลูกส้มโชกุน พืชเชิงเดียวมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปรับตัวสู้กับภาวะโลกร้อน ชี้หากเกษตรไทยยังช้ามีโอกาสล่มสลาย

วันนี้ (4 ก.ย.2563) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกประสบการณ์ปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน หลังจากพลิกชีวิตหันหลังให้การเมือง

เขาบอกว่า จากประสบการณ์เกษตรมาทั้งชีวิต กว่า 40 ปีได้ปรับเปลี่ยนการผลิตปลูกส้มโชกุน พืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างเศรษฐกิจแบบผสม ไม่ใช่ทำแบบมักง่าย แต่ต้องทำแบบมีความรู้ว่าพื้นที่ของตัวเองเหมาะสมกับการปลูกชนิดไหน และอะไรบ้างที่จะสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือน

จากส้มโชกุนที่ปลูกและต้องใช้น้ำเยอะ มาเป็นการปลูกไม้ผลที่ใช้น้ำน้อย เช่น มะม่วง ส้มโอที่ใช้น้ำน้อย และทำ และปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์พันธุ์พื้นเมือง เช่น ไก่ และฟาร์มหมู ขายในชุมชุม มีโรงชำแหละหมู ขายหมูติดแอร์ครบวงจร ปลูกไผ่และส่งเสริมการแปรรูปจากไผ่ เช่น ตะเกียบ ไม้ลูกชิ้นปิ้ง เผาถ่าน เป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ประพัฒน์ บอกว่า กิจกรรมลักษณะแบบนี้ ถ้าเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยน เกษตรกรสามารถหาความรู้ได้ทั้งจากการไปอบรม และหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตทั่วไป และดูงานจากเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ถ้าเกษตรกรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ยังใช้การผลิตแบบเดิมๆ ปลูกข้าวแบบเดิมเหมือนหลายสิบปีก่อน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกอ้อยแบบเดิม ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านหลายเท่า เราต้องเปลี่ยนถ้าไม่ปรับหรือเปลี่ยน ไม่ช้าหรือเร็วอาชีพนี้จะต้องเลิกในที่สุด 

เพราะว่าตอนนี้ทั้งโลกเสรีมากขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรกร ไม่สามารถกีดขวางประเทศอื่นๆได้วันหนึ่งก็ต้องเปิดเสรี เพราะถ้าเปิดเสรี และยังคงต้นทุนสูง ก็แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ในการปรับเปลี่ยนจึงเป็นทางรอด แต่ต้องปรับเปลี่ยนแบบมีความรู้ เหมือนกับผมที่เปลี่ยนมาให้มีระบบเศรษฐกิจให้มีระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เกษตรมากกว่า 1 อย่าง

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ต้องอดทนเพื่อสู้กับความอยู่รอด

นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับครอบครัวเขาต้องใช้เวลาในการศึกษาก่อนปรับตัว เช่น การเลี้ยงไก่พันธุ์พืนเมือง ต้องใช้เวลา 3 ปี ทำไปศึกษาไปจนขยายตลาด เช่นเดียวกับหมูก็ใช้เวลา 3-4 ปีกว่าที่จะเข้าใจและปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจจากหมู รวมทั้งเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ ส่วนไม้ผลยืนต้น ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะออกดอกและมีผลผลิต และรู้การตลาด ส่วนไผ่ แม้จะทำมาหลายปี แต่ยังมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลยังไม่เข้าใจและยังต้องพยายามผลักดันต่อไป แต่เหล่านี้เป็นการปลุกและเลี้ยงเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดียว

หากถามว่าเกษตรกรไทยติดหล่มอะไรถึงไปไม่ถึงจุดหมาย ประพัฒน์ กล่าวว่า สภาเกษตรกร ก็ผลักดันแนวคิดใหม่ๆ ผลักดันการผลิตภาคการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเชื่อว่าถ้ามาถูกทางพี่น้องจะเรียนรู้และปรับตัวทัน 

เกษตรกรไทยติดหล่มความคิดตัวเอง ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีปัญหาหนี้สิน สุขภาพ ครอบครัว ทำให้ไม่สามารถหลุดออกจากสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ เพราะปัญหาเฉพาะหน้ายังมีมาก

นอกจากนี้มองว่ารัฐบาลต้องเป็นพี่เลี้ยง เช่น มีแหล่งเงินทุน และปรับการใช้จ่ายเงินภาครัฐ และธกส. ต้องปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ ที่เหมาะสมระยะยาวมากขึ้น ปีต่อปีน้อยลง และให้ความรู้ที่เป็นแก่นสารที่จำเป็นตรงเป้าไม่ใช่เอาสิ่งที่ไม่ใช้ประโยชน์ไปอบรมแบบเดิมๆ

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

สภาเกษตรกรแห่งชาติพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในทุกมิติ สร้างแนวทางในการช่วยปรับตัวให้เกษตรกรได้ ตอนนี้เป็นเพราะยังมีช่องว่าง พวกเขาเองยังมีความเชื่อมั่นในวิธีการเก่าๆ แต่สภาเกษตรกรยังมองว่าวิธีการเก่าที่ใช้กันตอนนี้โบราณคร่ำครึเกินไปไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ถ้าให้ประเมินเกษตรกรที่จะอยู่รอดในอาชีพนี้ เหลือน้อยมาก ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่ตอนนี้อาจมีแค่เรื่องข้าวบริโภคในประเทศที่ยังอยู่รอดเพราะยังไม่มีข้าวจากต่างประเทศเข้ามา ข้าวที่ชาวนาไทยผลิตในประเทศจะแข่งขันไม่ได้ นั่นจะหมายถึงหายนะ เพราต้นทุนเราสู้เขาไมได้ ทางเดียวกันคือต้องปรับเปลี่ยน ถ้าไม่รีบปรับเปลี่ยนจะหมายถึงการล่มสลายทั้งระบบ

ไม่ปรับไม่เลิก ยกเว้นไม้ผล และประมง แต่พืชไร่สู้ไม่ได้ต้องปรับเปลี่ยน ต้องหนีคู่แข่งให้ทัน

ก้าวข้ามสู่การเปลี่ยนแปลง

นายประพัฒน์ บอกว่า ถึงแม้จะเคยเป็นอดีต รมว.ทส.แต่ขอน้ำจากชลประทานมา 10 ปียังไม่สำเร็จ จากจุดนี้ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า อย่าเปลี่ยนธรรมชาติ แต่เปลี่ยนจากตัวเราเอง หาความรู้ที่จะเพิ่มการผลิต ทดลองจากเล็กไปหาใหญ่ เช่น เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำจาก 50 ตัวตอนนี้ผ่านไปจนตอนนี้จากแม่พันธุ์ 6 แม่ ตอนนี้มีเป็น 100 แม่

การออกแบบทางเศรษฐกิจผสมผสานที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะลดรายจ่าย เช่นวางแผนการเงินรายวัน เช่น ขายไข่ไก่กี่แผง ขายหมู ลูกหมู พืชผลในฟาร์มได้เท่าไหร่ ผมมีพนักงานฟาร์ม 20 คน รายจ่ายเป็นแสนบาทแต่มีรายได้หมู ไก่มาใช้จ่ายเงินเดือน ส่วนเงินออมเก็บจากต้นสักไว้ในระยะยาว 

ทั้งนี้ ประพัฒน์ แนะแนวทางสำหรับเพื่อนเกษตรกรว่า อยากให้รีบปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับตัวอนาคตเกษตรกรไทยจะไม่รอดแน่ๆ ต้องก้าวข้าม เท่าทันแล้วจะต้องออกจากห่วงโซ่นี้ให้ได้ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมายอมรับว่าเกษตรกรลำบากหนี้เยอะแต่ทำแล้วมีความสุข

ที่มา : ไทยพีบีเอส วันที่ 4 ก.ย. 2563

 

ความสุขที่บ้านนอก ภูมิคุ้มกันยุคโควิด-19

Covid19Protection

ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมและวัฒนธรรม  การท่องเที่ยว  การสาธารณสุข  ฯลฯ  แต่ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่คือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจฐานราก วิกฤติภาคแรงงาน ตัวเลขจากสภาพัฒน์ประเมินว่ามีแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างและตกงานจากภาวะโควิด-19 ประมาณ 8.4 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันและสวัสดิการรองรับ การถูกเลิกจ้างงานของแรงงานส่วนใหญ่ที่มาจากชนบท ไม่เพียงไม่มีรายได้มาเลี้ยงชีพของตนเอง แต่ยังหมายถึงไม่มีรายได้ส่งกลับไปจุนเจือและดูแลครอบครัวในชนบท 

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน จึงเห็นภาพแรงงานในเมืองจำนวนมากต่างมุ่งหน้าเดินทางกลับบ้านที่ชนบท  ส่งผลให้การจราจรขาออกเกิดความหนาแน่นและติดขัด  การแย่งชิงกันเดินทางกลับบ้านนอกเป็นสาระสำคัญว่า  บ้านนอกหรือชนบทยังสามารถเป็นที่พักพิงที่ดีที่สุดในภาวะปัญหาอันหนักหน่วงเช่นนี้หรือไม่   

ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ไขเยียวยาปัญหาให้กับประชาชนหลายๆ ช่องทาง   โครงการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน”  ที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และโครงการ “เยียวยาเกษตรกร” ซึ่งหากมองรอบด้านก็เป็นทั้งดาบสองคมในฝักเดียวกัน  คนที่ได้รับสิทธิอาจเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ยากอะไรเลย  เพียงแค่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี จึงทำให้ได้รับสิทธิในการเยียวยา  ส่วนคนจนที่ตกขอบของสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้  แต่ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ออกมาช่วยเยียวยา  ก็คงจะเป็นกิจกรรมระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืน  โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว  และไม่เคยได้สร้างฐานอาหารของครอบครัวเอาไว้  เงินช่วยเหลือจะเป็นแค่เพียงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ  ค่ากินอยู่เท่านั้นเองที่ใช้แล้วก็หมดไป

การเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19   ในประเทศไทยและทั่วโลก  ทำให้เราค้น่พบว่าการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร  การเมือง  หรือการดำเนินธุรกิจ  มาเป็นแนวทางหลักที่สามารถทำให้เราฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19  ได้อย่างแท้จริง  จะเห็นได้จากภาวะการไหลตัวออกจากเมืองเพื่อไปสู่ชนบท  ที่เป็นแหล่งพึ่งพิงทางอาหาร  สายใยความผูกพัน  ทรัพยากร  และความปลอดภัย  ความมั่นคงดูจากฐานทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านนอกและชนบทนั้นมีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน   

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สอนให้เราไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง  พึ่งพาตนเองได้ในด้านอาหาร  ทรัพยากร  ยา   พลังงาน  รายได้ที่มีความมั่นคง มุ่งสอนคนไม่ฟุ้งเฟ้อเมื่อเกิดวิกฤติไม่มีเงินแต่ยังมีอาหารก็สามารถอยู่ได้   โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรม  เกษตรกรที่น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  ส่วนมากจะมีความสุขเพราะไม่ค่อยเกิดผลกระทบมากนัก หากเทียบกับผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มที่ทำการเกษตรและธุรกิจเชิงเดี่ยว  ตื่นเช้าขึ้นมา  หุงข้าว  หาพืชผักที่อยู่ตามริมรั้ว  เข้าป่าหาเห็ด  เมื่อได้มาก็นำมาเป็นอาหารและขาย  ใช้พลังงานจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่อยู่ในสวน  ปลูกผักที่ปลอดภัยหมุนเวียน  มีอากาศที่ปลอดโปร่ง  และพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยี  ในระบบการขายออนไลน์  แปรรูปพืชผัก  ผลไม้ที่มีเหลือล้นเป็นรายได้และสามารถนำไปแบ่งปันให้กับคนที่อยู่ในเมืองได้ 

ซึ่งจะเห็นข่าวจากทางโทรทัศน์  วิทยุ  ที่เครือข่ายบนดอยสูง(ชนเผ่า)หลายพื้นที่ได้รวบรวมเอาข้าวมาปันให้กับประชาชนที่เดือดร้อนในตัวเมือง  หรือเครือข่ายประมงภาคใต้นำเอาปลาทะเลตากแห้งนำมาส่งให้กับคนที่เดือดร้อนในเมือง  ฯลฯ  มันเป็นความสุขของคนบ้านนอก  ที่มีฐานอาหาร  ทรัพยากร  พลังงาน  ยารักษาโรค  เศรษฐกิจเพียงพอที่จะแบ่งปัน  ให้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากสามารถต่อสู้ปัญหาในชีวิตได้

เมื่อผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19  แล้ว  โจทย์การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ควรจะมีระบบเศรษฐกิจสองระบบควบคู่กัน แม้เรามีรายได้น้อยลง แต่มีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าโจทย์ชีวิตของเราให้น้ำหนักเรื่องรายได้หรือความมั่นคงในชีวิตมากกว่ากัน อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต  โดยสามารถที่จะทำไปพร้อม ๆ กันในหนึ่งครอบครัว  นั่นคือการทำตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในการเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต  และทำควบคู่ไปกับระบบธุรกิจ  จึงจะทำให้เกษตรกรและประชาชนอยู่ได้อย่างแท้จริง  มิใช่จะมุ่งหวังให้เป็นทุนนิยมหรือเสรีนิยมเพียงอย่างเดียว

ความสุขที่บ้านนอก  ถึงจะเจอกับภาวะวิกฤติ  หรือไม่เจอภาวะวิกฤติอื่นใด  สังคมในชนบทไทยก็มีความสุขเสมอ เพราะมีพื้นฐานจากการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ที่มีสังคมที่ดี  อาหารดี  สุขภาพดี  ทรัพยากรดี  อากาศดี  ชีวิตแค่นี้ก็มีความสุขอย่างล้นเหลือ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มิ.ย. 2563

ผู้เขียน : ณัฎฐวี สายสวัสดิ์

ชาวนาดีเด่น 2563 ต้นทุนไร่ละ 2 พัน

BestRiceFarmer2020

“สมัยยังเป็นเด็กน้อยช่วยพ่อแม่ทำนา ถึงเวลาใส่ปุ๋ยจึงต้องไปกู้เงิน หลังเกี่ยวข้าวมีเหลือกินแค่ปีชนปี เพราะต้องแบ่งไปใช้หนี้เงินกู้ เสียดอกแพง เงินต้น 2,000 บาท ต้องใช้คืน 3,000 บาท คิดหักจากข้าวเปลือกที่เจ้าหนี้เป็นคนกำหนดราคา หักกลบลบหนี้แล้ว ทำนา 16 ไร่ เหลือข้าวไว้กินแค่ 16 กระสอบ กับเมล็ดพันธุ์ข้าวเก็บไว้ปลูกอีก 2 กระสอบ”

นางรจนา สีวันทา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2563 เล่าต่อ...หลังมีครอบครัวจึงปรึกษากับสามี ถ้าหากยังทำนาเหมือนพ่อแม่ อนาคตไม่มีโอกาสส่งลูกเรียนแน่ๆ

ข้าวในแต่ละปีเริ่มได้น้อยลง ปูปลาในนาเริ่มหาย ถ้ายังทำนาแบบเดิมเมื่อไรจะลืมตาอ้าปากได้...ฉะนั้นต้องงดใส่ปุ๋ย แต่จะต้องทำอย่างไร นั่นคือปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไข

จากการสังเกตลานนวดข้าวในนาที่ดอน จะใช้มูลควายผสมน้ำมาทาหน้าดินแล้วปล่อยให้แห้ง หลังนวดสีข้าวเสร็จแล้วปีถัดไป พื้นที่ตรงนั้นต้นข้าวขึ้นงาม... เพราะไม่มีความรู้ แต่อยากให้ต้นข้าวงามจึงหามูลควายมาใส่แปลงนาหวังช่วยลดปุ๋ย

แต่กลับมีหญ้าวัชพืชขึ้นมาแข่งกับข้าวในนา

ปี 2542 จ.สุรินทร์ รณรงค์ปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายา ตรงกับแนวความคิดของ รจนา ที่ต้องการคืนธรรมชาติสู่พื้นที่ แก้ปัญหาสภาพดินนาที่เสื่อมลง ทั้งที่ไม่ได้รับคัดเลือก ด้วยความอยากรู้จึงขอไปอบรมวิธีการทำนาอินทรีย์ ต้องไถกลบตอซัง เพิ่มพลังอินทรียวัตถุในดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หว่านให้ทั่วด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ชีวีจะปลอดภัย และได้ข้าวที่งอกงามผลผลิตดี

หลังกลับมาตั้งใจไว้ปีนี้จะไม่กู้เงินมาทำนาแน่ๆ...หลังเกี่ยวข้าวในแปลงนาหมด ไถปรับหน้าดินหว่านถั่วพร้าและโสนแอฟริกัน ขณะที่รอเข้าหน้าฝน ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินใช้มูลวัว 900 กก. รำข้าว 25 กก. แกลบ 80 กก. กากน้ำตาล 10 กก.คลุกให้เข้ากัน ใช้ผ้ายางปิดเพื่อให้จุลินทรีย์เดินและวัชพืชในมูลวัวตาย หมัก 30 วัน สามารถนำมาใส่บำรุงดินก่อนปลูกข้าว และช่วงต้นข้าวอายุได้ 20 วัน อัตราไร่ละ 200 กก. นา 16 ไร่ จากที่เคยได้ข้าว 126 กระสอบ ทำนาอินทรีย์ได้ข้าวแค่ 44 กระสอบป่าน ต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท...แม้จะได้ข้าวน้อยแต่เป็นของเราทั้งหมด ไม่ต้องหักหนี้ให้ใคร

เพื่อนบ้านจึงขอให้ตั้งกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์...ปีที่ 2 ได้ข้าว 77 กระสอบ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันได้ไร่ละ 600 กก. ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของ จ.สุรินทร์ อยู่ที่ไร่ละ 376 กก.

ไม่เพียงแค่นั้น ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มรจนายังมีออเดอร์จากตัวแทนบริษัทส่งออกสั่งซื้อไปขายเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และยุโรป อีกต่างหาก.

ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 27 พ.ค. 2563

ผู้เขียน: เพ็ญพิชญา เตียว

ดุสิตโพลเผยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลให้ความสุขคนไทยลดลง

SuanDusitPollAboutThaihappiness

8 พ.ย. 2563 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “อยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” กลุ่มตัวอย่าง 1,374 คน สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2563 พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลให้ความสุขของประชาชนลดลง ร้อยละ 62.66 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุข คือ มีรายได้เพียงพอ ร้อยละ 79.85 วิธีสร้างความสุข คือ ต้องลด/ควบคุมค่าใช้จ่าย ร้อยละ 70.80 มาตรการรัฐที่ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น คือ ลดค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 63.81

ความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด หากเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากประชาชนยังต้องลดและควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคุณภาพชีวิตของรัฐบาลนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ

ด้านดร.ศิริ ชะระอ่ำ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า  โดยทั่วไปแล้ว องค์ประกอบของดัชนีชี้วัดความสุขของคนในประเทศ (Gross Happiness Index) นั้น ครอบคลุมหลากหลายมิติทั้งคุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง แต่เมื่อมาพิจารณาเทียบเคียงกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลล่าสุดนี้ กลับเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพียงความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น มิใช่สิ่งที่ซับซ้อนหรือเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศแต่อย่างใด     นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังระบุชัดว่า มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายประจำของครัวเรือนแบบตรงไปตรงมา เช่น การลดค่าสาธารณูปโภค การพักชำระหนี้เงินกู้ประเภทต่างๆ ส่งผลบวกต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก 

จึงสามารถสรุปได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน มาตรการภาครัฐระยะสั้นที่สร้างการรับรู้ถึงความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (Mega Projects) ได้อย่างน่าสนใจ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 8 พ.ย. 2563

ปรับวิธีสู่แนวความคิดแบบยืดหยุ่น (Resilience Thinking)

ResilienceThinking

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของประชากรทั่วโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกรูปแบบ ถึงแม้เราจะพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่จากอดีตและปัจจุบัน มาสร้างโมเดลเพื่อพยากรณ์อนาคต ก็อาจจะไม่สามารถทำนายอนาคตอันใกล้นี้ได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน ทำให้ผมคิดว่า เราคงมาถึงจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ของทั้งองค์กร สังคม และกลุ่มธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรองรับภาวะแปรปรวน (disturbance) ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านเจอเรื่อง resilience thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่น จากหนังสือ Team of Teams โดย McChrystal ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการการรบในอิรักและอัฟกานิสถาน ในหนังสือได้พูดถึงเกี่ยวกับแนวคิด 2 รูปแบบ คือ

1) แนวคิดองค์กรที่เน้นประสิทธิภาพ (efficiency) ที่เน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพโดยการพยากรณ์และคาดการจากข้อมูล

และ2) แนวคิดองค์กรที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น (adaptability and resilience) ที่เน้นใช้ทุกสิ่งที่หามาได้ในการรับมือต่อสู้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งนายพล McChrystal ยอมรับว่า แนวคิดที่เน้นแต่ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดหลักเดิมที่ใช้อยู่ในหน่วยงานทหาร อาจทำให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ทัน แต่แนวคิดที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกว่ากับสถานการณ์ที่ต้องสู้รบในอิรักและอัฟกานิสถาน ที่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ไหน และไม่สามารถคาดเดาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

พอยิ่งค้นคว้ามากขึ้น ผมก็พบว่าวิธีคิดแบบresilience thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่นนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเชิงระบบ (systems thinking) ซึ่งมีผลมาจากการเชื่อมองค์ประกอบต่างๆ ของระบบที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และถ้าเจอภาวะแปรปรวนก็ยังสามารถทำงานหลักๆ ของระบบต่อไปได้

แนวคิดนี้มีที่มาจาก ความยั่งยืนของระบบนิเวศวิทยาสังคม (social-ecological) ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วงต้นยุคปี 1980 เมื่อประเทศออสเตรเลียฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เจอกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุด เกษตรกรล้มละลายกันเป็นแถว ถึงแม้ส่วนใหญ่จะดูแลกิจการโดยใช้วิธีการจัดการไร่อย่างดีที่สุดแต่ก็ยังไม่สามารถต้านภัยแล้งได้ ต่อมาเกษตรกรกลุ่มหนึ่งได้ทดลองเปลี่ยนวิธีจัดการไร่แบบเดิมๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการเล็มหญ้า ลดการไถดิน ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพรรณพืชในป่าและคืนความชุ่มชื่นเพื่อเพิ่มความทนทานจากผลกระทบของภัยแล้งได้ หลังจากนั้นในอีก 20 ปี ต่อมาก็เกิดภัยแล้งขึ้นอีก เกษตรกรที่มีการปรับตัวกลุ่มนี้ ก็ไม่ประสบกับผลกระทบจากภัยแล้ง

เรามาดู 7 หลักการสำคัญของแนวคิดแบบยืดหยุ่น ที่ทาง Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัย Stockholm แนะนำไว้ ดังนี้

1. Maintain Diversity and Redundancy การคงความหลากหลายและการสำรององค์ประกอบต่างๆ ของระบบ เพื่อช่วยสร้างทางเลือกที่จะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด

2. Manage Connectivity การจัดการการเชื่อมต่อของเครือข่ายที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแบ่งระบบงานที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนออกเป็นส่วนย่อยๆ (modularity) ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจแต่ละส่วนได้ง่ายและไม่เกิดผลกระทบในวงกว้าง

3. Manage Slow Variables and Feedback การจัดการตัวแปรที่แสดงผลช้าและการป้อนกลับ ยกตัวอย่าง คุณภาพของน้ำขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของธาตุฟอสฟอรัสในตะกอน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ปนเปื้อนลงในทะเลสาบ โดยสองสิ่งนี้เป็นตัวแปรที่แสดงผลช้า จึงส่งผลต่อตัวป้อนกลับทั้งทางลบและบวกของคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับตัวแปรที่แสดงผลช้า ที่จะทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าตามไปด้วย

4. Foster Complex Adaptive Systems Thinking การสนับสนุนแนวคิดเชิงระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ ช่วยให้เข้าใจว่าปัญหาที่เรามองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ซับซ้อนกับส่วนต่างๆ ทั้งด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผลกระทบขององค์ประกอบหนึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ในระบบได้ เช่น ประเทศจีนปิดประเทศส่งผลกระทบต่อระบบ supply chain การซื้อขายทั่วโลก หรืออุณหภูมิของน้ำในทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการฟอกสีของประการัง

5. Encourage Continuous Learning สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อมต้องมีการเรียนรู้และทดลองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสถานการณ์

6. Broaden Participation การขยายความร่วมมือเพื่อให้เกิดความรู้ที่หลากหลายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความชอบธรรมในการตัดสินใจตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม

7. Promote Polycentric Governance Systems การสนับสนุนระบบที่มีการปกครองแบบหลายศูนย์กลาง ช่วยประสานและควบคุมนโยบายให้เกิดความครอบคลุมในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าการประสานทำได้ดีก็ช่วยเพิ่มความสามารถรับมือกับสถานการณ์ในยามคับขัน

จริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ บทความหน้าเราจะมาดูกันว่าแนวคิดนี้จะสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับองค์กรเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นฟื้นฟูได้อย่างไร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

References:

https://whatisresilience.org/wp-content/uploads/2016/04/Applying_resilience_thinking.pdf

Walker, B.H. and D. Salt. 2006. Resilience Thinking: Sustaining Ecosystems and People in a Changing World. Island Press.

ที่มา : Thaipublica วันที่ 18 เม.ย. 2563

ผู้เขียน : จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

ผลกระทบโควิด-19 ต่อภาคเกษตร ข้อเสนอและการปรับตัวของเกษตรกร

Covid19ImpactedFarmers

ที่มาภาพ : สุมาลี พะสิม

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดหนักในประเทศจีน และกระจายการแพร่ระบาดหนักไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติการณ์ร่วมของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนอย่างหนักหนาสาหัส ทั้งภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว และหนึ่งในนั้นคือภาคเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน

           ปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องพบเจอในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลการสำรวจระดับพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ และรายได้ที่ลดลง จากเดิมที่เกษตรกรเคยขายผลผลิตได้ในตลาดปกติ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ตลาดทั้งในประเทศและส่งออกถูกปิดตัว พ่อค้าคนกลางหายไป ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำลง อีกทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตจากเกษตรกรไปยังผู้บริโภคทางไกลเกิดความติดขัดและล่าช้าลงไป เนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืน ส่งผลให้ผู้มารับผลผลิตไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางไกลลดลง เดิมเกษตรกรบางรายมีบริการขนส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคทางไกลด้วยตนเองก็ต้องหยุดการขนส่ง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามภาครัฐที่ขอให้ประชาชนงดการเดิมทางข้ามจังหวัด และตัวเกษตรกรก็ห่วงและกังวลในเรื่องโอกาสที่อาจจะติดเชื้อโควิด-19  หากต้องเดินทางขนส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อผลผลิตที่ออกมาขายไม่ได้ ไม่มีผู้รับซื้อ ผลผลิตจึงเกิดการเน่าเสียหาย

           นอกจากปัญหาด้านการตลาด ราคา และรายได้ที่ลดลงของเกษตรกรแล้ว เกษตรกรยังต้องเจอกับผลกระทบต่อปัญหาหนี้สิน เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรลดลง เกษตรกรที่มีหนี้สิน มีงวดผ่อนชำระรายเดือนและรายปี จึงจำเป็นที่จะต้องยื่นขอพักชำระหนี้ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ

           อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบหลายด้าน แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือรอรับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เกษตรกรบางส่วนได้ดำเนินความพยายามหาของออกและปรับตัวต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น  เมื่อเห็นว่าช่องทางการตลาดลดลง เกษตรกรได้ปรับลดปริมาณการผลิตลง ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทางการตลาดที่เปลี่ยนไป และการบริโภคภายในครัวเรือนของตนเอง ลดขนาดพื้นที่ปลูก ลดการลงทุน เกษตรกรพยายามลดต้นทุนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด และให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบตลาดออนไลน์ และการขนส่งผลผลิตผ่านช่องทางการบริการขนส่งต่างๆ ที่มี ทั้งของภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

           ในส่วนความเห็นและข้อเสนอแนะที่เกษตรกรมีต่อความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐในการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างล่าช้า ควรมีการจัดการช่วยเหลือเชียวยาต่อเกษตรกรที่รวดเร็วต่อสถานการณ์ การให้เงินช่วยเหลือเยียวยาต่อเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท ไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนของเกษตรกรที่มีอยู่มาก เกษตรกรหนึ่งครัวเรือนมีไม่ต่ำกว่า 3 คน และควรช่วยเหลือเรื่องหนี้สินด้วยการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี เกษตรกรจึงจะสามารถบริหารจัดการหนี้สินที่มีได้

           รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะปกติ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาผลผลิต ข้อตกลงและนโยบายเดิมยังไม่มีกรอบเวลาช่วยเหลือที่ชัดเจน นอกจากนี้ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนให้ผลผลิตของเกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น มีเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรจากระบบเคมีสู่อินทรีย์

           ประเทศไทยควรใช้วิกฤตโควิด-19 นี้ให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร เพราะทิศทางการพัฒนาการเกษตรที่พึ่งพาตลาดส่งออกไม่ใช่คำตอบสู่ความยั่งยืน ควรมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรในการดำรงชีวิตบนฐานทรัพยากรที่หลากหลาย ให้มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับและปรับตัวต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงได้ทุกรูปแบบ การส่งเสริมสู่ Smart Farmer ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำภาคเกษตร สนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรให้เข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรการเกษตรเพื่อลดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อม

           การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่จากวิกฤตก็ถูกใช้เป็นโอกาสได้เกษตรกรหันกลับมาทบทวนตนเอง ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง โดยไม่รอความช่วยเหลือหรือเยียวยา ซึ่งหากทางภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านแนวทางหรือข้อปฏิบัติการปรับตัวหลังจากนี้ จะทำให้เกษตรกรมีแนวทางเลือกการพึ่งพาตนเองได้หลากหลาย เพื่อตั้งรับ และปรับตัวต่อปัญหาและวิกฤติการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น

ไทยโพสต์ วันที่ 26 พ.ค. 2563

ส่งออกข้าวไทยต่ำสุดรอบ 10 ปี จี้รัฐส่ง “พันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่ม” สู้ตลาดโลก

ThaiRiceExport2020

FILE PHOTO: REUTERS/ Athit Perawongmetha

ข้าวไทยวิกฤตต่ำสุดเสี่ยงส่งออกหดเหลือแค่ 4-5 ล้านตันใน 3-4 ปีข้างหน้าล่าสุด 5 เดือนแรกปีนี้ยอดตก 31% คาด ”เวียดนาม” แซงไทยขึ้นแท่นเบอร์ 3 ส่งออกทะลุ 7 ล้านตันเป็นปีแรก ส่วนไทยทำได้แค่ 6 ล้านตัน จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บาทแข็ง-แล้งกระทบผลผลิต-ผู้นำเข้าสต๊อกเต็ม “เอกชน” จี้แก้ปัญหาพันธุ์ข้าว เสริมศักยภาพแข่งขัน ส่ง ”ข้าวขาวพื้นนิ่ม” ลงสนามแข่ง

นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในงานการประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลก ประจำปี 2563 ว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์การแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกเทียบกับคู่แข่งหลัก 5 ประเทศ พบว่า การส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาศักยภาพและคุณภาพข้าวลดลง หากไม่เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน ขยายช่องทางการขาย คาดว่ามีโอกาสการส่งออกข้าวทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 6 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยวางไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 จากเดิมที่เป็นอันดับ 2รองจากอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน และเวียดนามจะขยับจากอันดับ 3 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 คาดว่าจะส่งออกได้ 7 ล้านตัน

จากการติดตามการส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ส่งออกปริมาณ 11 ล้านตัน ปี 2562 การส่งออกข้าวทั้งปี 7.5 ล้านตัน ขณะที่ช่วง 5 เดือน(มกราคม-พฤษภาคม) 2563 ไทยส่งออกได้เพียง 2.5 ล้านตัน ลดลง 31.9% และเมื่อดูปริมาณการส่งออกรายเดือนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง 50-60 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โดยหากเทียบราคาข้าวส่งออกไทยกับประเทศส่งออกข้าวอื่น พบว่าราคาข้าวที่ซื้อขายล่วงหน้า ในส่วนของข้าวขาวไทยตันละ 505-509 เหรียญสหรัฐ เวียดนามตันละ 463-467 เหรียญสหรัฐ และอินเดียตันละ 368-372 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลูกค้าย่อมเลือกสินค้าที่มีราคาถูกกว่า เพราะต้องยอมรับว่าคุณภาพข้าวประเทศคู่แข่งนั้นมีคุณภาพข้าวที่ดีขึ้นเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับไทย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งความนิยมบริโภคข้าวเปลี่ยนไป ปัญหาของโควิด-19 ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันและไม่เพิ่มศักยภาพ และคุณภาพข้าวไทยให้ดีกว่าคู่แข่ง มีโอกาสที่การส่งออกข้าวไทยจะลดลงอย่างมาก 

“ปริมาณการซื้อ-ขายข้าวในตลาดโลกต่อปี เฉลี่ย 44-45 ล้านตัน โดยข้าวขาวเป็นข้าวที่มีปริมาณการซื้อ-ขายกันมากที่สุด เฉลี่ยต่อปี 21 ล้านตัน และมีแนวโน้มปริมาณความต้องการก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มหรือข้าวขาวพื้นนิ่ม ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ส่งออกข้าวกลุ่มนี้เพียงเวียดนามและปากีสถานเท่านั้น ขณะที่ข้าวขาวพื้นแข็งมีประเทศที่ส่งออก คือ ไทย เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และจีน แข่งขันกันมากกว่า ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวพื้นนุ่ม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดสำคัญของไทย หากความต้องการมีเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด ไทยก็เสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากขึ้น และยิ่งปริมาณผลผลิตต่อไร่ของไทยน้อยส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาด ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งอีก หากไม่ทำอะไรเลยเชื่อว่าภาย ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเห็นการส่งออกข้าวไทยต่อปีเหลือ 4-5 ล้านตันแน่นอน”

แนวโน้มผู้แข่งขันข้าวในตลาดโลกจะมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยเฉพาะจีนอาจกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกในอีก 3-5 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ เห็นได้จากการที่จีนพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกยังน้อย เช่น ปี 2561 จีนส่งออกข้าว 2.09 ล้านตัน เพิ่มเป็น 2.75 ล้านตันในปี 2562 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่น่าจับตา คือ ปริมาณข้าวในสต๊อกของจีนมีถึง 117 ล้านตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศโดยจะเห็นได้ว่าปริมาณการผลิตข้าวของจีนมีปริมาณมาก โอกาสที่จะระบายข้าวออกมาในตลาดก็เป็นไปได้มากเช่นกัน

นายวัลลภกล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลาดข้าวนั้น คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยโดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่ม การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้ว เวียดนามมีพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเพียง 7 ล้านไร่ แต่กลับมีผลผลิต 45 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่การเพาะปลูกข้าวอยู่ที่ 11 ล้านไร่ ผลผลิตมีเพียง 32 ล้านตันต่อปี ทำอย่างไรให้ผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นลดต้นทุนการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดี นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการส่งออกข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกด้วย โดยจัดให้มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบรับรองการเพิ่มด้วย

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง ตลาดข้าวไทย :โอกาสและความท้าทายในตลาดโลก ว่า คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสแย่ลง คาดว่าราคาสินค้าเกษตรอาจจะหดตัว 4.5% ได้ โดยการส่งออกข้าวในเดือนมิถุนายน 2563 ไทยมีโอกาสทำได้ 450,000-500,000 ตันจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาข้าวไทยในตลาดโลก ปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ประเทศผู้นำเข้ามีสต๊อกข้าวเพียงพอแล้ว จีนมีสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้น ประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เวียดนาม มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ไทยต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันพัฒนาช่องทางการขายรุกตลาดแพลตฟอร์มต่างประเทศ โลจิสติกส์ตอบโจทย์การบริโภคข้าวให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เน้นทำการตลาดข้าวขาวพื้นนุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เลี่ยงการแข่งขันเรื่องราคา เน้นไปแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 ก.ค. 2563

สภาพัฒน์ เปิดพิจารณาโครงการกรอบวงเงินฟื้นฟูศก. 4 แสนลบ. ก่อนเสนอครม. 7 ก.ค.นี้

CovidSolvingPlan01

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวชี้แจงแนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาทว่า ได้วางไว้ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.ลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เน้นเรื่องเกษตรอัจฉริยะ (เกษตรแม่นยำ เกษตรแปลงใหญ่ การเกษตรที่มีมูลค่าสูง) เรื่องอุตสาหกรรมอาหาร Bioeconomy เรื่องท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ Hospitality Industry และเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2.ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน เน้นเรื่องเกษตรพอเพียง/ผสมผสาน สินค้าและบริการชุมชม โอทอป และท่องเที่ยวชุมชน

3.ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน สิ่งที่ทำได้ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค คือ โครงการไทยเที่ยวไทย เช่น มีแนวคิดที่จะออกแพ็คเก็จท่องเที่ยวที่เป็นส่วนลดให้กับนักท่องเที่ยวนำไปใช้จ่ายค่าห้องพัก และรัฐจะช่วยจ่ายส่วนต่างให้กับผู้ผประกอบการแทน เป็นต้น

4.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต เน้นโครงการพื้นฐานระดับชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาดิจิทัล แฟลตฟอร์ม

CovidSolvingPlan02

จากงบประมาณจำนวนดังกล่าว กว่า 50% จะไปลงในโครงการตามแผนงานที่ 2 ที่เน้นให้เม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อรองรับกับนักศึกษาที่จบใหม่ด้วย ส่วนโครงการไทยเที่ยวไทยถือเป็นโครงการที่น่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไว และบางโครงการ เช่น ช้อปช่วยชาติ ก็มีข้อเสนอจากสมาคมค้าปลีก ซึ่งต้องดูถึงความเหมาะสมอีกครั้ง

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า จะเปิดให้มีการเสนอโครงการเข้ามาภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ และจากนั้นจะมีการประชุมหารือ ก่อนส่งให้สศช.พิจารณา และเสนอทางคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาจัดทำความเห็น ก่อนนำเสนอ ครม.ภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้ และเริ่มจ่ายเงินไปยังโครงการต่างๆได้ภายในก.ค.นี้ ซึ่งต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการได้เสร็จภายในปีงบประมาณ 64

โดยลักษณะโครงการจะต้องมีลักษณะเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ต้องเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ เป็นโครงการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ หรือสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) หรือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ, เป็นโครงการเพื่อลดรายจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ, เป็นโครงการเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ และเป็นโครงการเพื่อเพิ่มการจ้างงานหรือรักษาระดับการจ้างงานให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ

“บทเรียนโควิดครั้งนี้ พอไม่มีรายได้นักท่องเที่ยวเข้ามา หลายกิจการปิดตัวลง ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนที่กลับภูมิลำเนา เน้นเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ซึ่ง 4 แสนล้านจะเน้นสร้างงานเพิ่มรายไดั สร้างอาชีพให้กับชุมชน” นายทศพร กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ วันที่ 25 พ.ค. 2563

หนุ่มโรงงานผันตัวทำเกษตรพอเพียง ระบุตอบโจทย์ในยุคโควิด-19

Watcharapong

วันนี้ 20 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงาน พบที่ริมถนนสายบ้านท่าโพธิ์ – ท่าเรือ “หมู่บ้านเกาะยายหนัก” เลขที่ 51 หมู่ที่ 3 ถนน ตำบลหนองแก้ว อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เส้นทางท่องเที่ยวผ่านไปสู่น้ำตกตะคร้อ,น้ำตกธารทิพย์ มีศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตำบลหนองแก้ว พื้นที่เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ของครอบครัว ชุมชนและสังคม

มีนายวัชรพงษ์ ทูคำมี อายุ 44 ปี อดีตหนุ่มโรงงาน ผู้หันเหชีวิตมาทำเริ่มทำ เกษตรพอเพียง ตั้งแต่อายุ 20 ปี ในพื้นที่ มีหลากหลายทั้ง ไม้ผลหลายชนิด อาทิ มะม่วง ,มังคุด,มะไฟ ,มะยงชิด พื้นที่ทำนา ,ปลูกพืชผักสวนครัว ,เลี้ยงสัตว์เป็ดไว้กินไข่ ,เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ พร้อมทำการแปรรูปผลผลิต มีโรงสีข้าวเองขนาดเล็ก , เครื่องผสมปุ๋ยหมัก ,เผาถ่านเป็นเชื้อเพลิงใช้ในครอบครัว และที่หน้าบ้านมีร้านค้าไว้ในการวางสินค้าเกษตรอินทรีย์ขาย

นายวัชรพงษ์ กล่าวว่า “ก่อนทำเกษตรพอเพียง มีแนวคิดตรงกันในครอบครัวแล้ว จึงลงมือทำ ยึดแนวเกษตรพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 เริ่มจากการจัดสรรพื้นที่ ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ในพื้นที่ 16 ไร่ ปลูกข้าว , ผลไม้ ไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ใช้สอย พืชสวนครัว มีแหล่งน้ำทำการผลิต โดยขุดสระ หรือ คูน้ำ เป็นทั้งแหล่งน้ำสำหรับผลผลิต เป็นแนวเขต – ป้องกันไฟ เนื่องจากอยู่ใกล้พื้นที่นาของคนอื่น ๆ ที่หลังเก็บเกี่ยวแล้วมักเผาทุ่งฟางข้าว

ในนาข้าว ทำการไถ – หว่านปลูกข้าวหอมมะลิแดง ,ข้าวเหนียวงู ,ข้าวเหนียวลืมผัว หลังการเก็บเกี่ยวทำการแปรรูปสีข้าวเก็บไว้กิน ที่เหลือส่งขาย ถังละ 150 บาท และส่วนหนึ่งส่งตลาดต่างประเทศ ซึ่งไม่พอจำหน่าย รายได้ อื่น ๆ เหลือจากกินในครอบครัว แล้วนำมาขาย อาทิ ตะไคร้ ส่งออกตลาดต่างประเทศอียู. พริก ,กระเพรา พอลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยทำตามกำลัง ทำให้อยู่อยู่รอดพึ่งตนเองได้
โดย ปี2558 ผลิตส่งขาย ทั้งตลาดภายใน – ภายนอก พร้อม ๆ ทำให้มาตรฐานผลผลิตให้มีคุณภาพและเกิดการยอมรับ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ) IFORM E-U CONADA และมีการจดวิสาหกิจชุมชน, จดทะเบียนพาณิชย์ พร้อม ๆ เผยแพร่ให้กับชุมชน หรือ ผู้สนใจในการเรียนรู้

ในการขายส่งจำหน่ายหลังผลิตได้ ส่งขายในชุมชน – ตลาดนัดทั่วไป , ส่งขายตลาดสีเขียว รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ส่งเครือข่ายเกษตรอินทรี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา และ ส่งขายตลาดสีเขียว รพ.กบินทร์บุรี

ต่อไป จะทำตลาดออนไลน์ เริ่มมีแพจเก็ต เสนอเมนูชุดอาหารต่อผู้บริโภคให้ครอบครัวไหนที่ต้องการสินค้าเกษตรอินทรี จะส่งขายให้โดยตรง ปัจจุบันรายได้ในการพึ่งตนเองของครอบครัว มีรายได้ ระหว่าง 500 – 1,000 บาท / วัน”นายวัชรพงษ์กล่าว

และกล่าวต่อไปว่า “ ยุคสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จึงเป็นการอธิบาย คำตอบว่า การทำเกษตรแบบพอเพียง สามารถเลี้ยงคนในครอบครัว ให้มีอาหารการกินอยู่ให้สามารถอยู่รอดพึงพาตนเองได้อย่างแท้จริงสำหรับคนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ นายวัชรพงษ์ ทูคำมี หมายเลขโทรศัพท์ 081 – 5787947 หรือในเฟซบุ๊ก”

ที่มา : มติชน วันที่ 20 พ.ค. 2563

อยากให้เป็นอย่างนี้ทุกวัน

FarmerLife

ฝนที่ตกโปรยปรายมาทั้งคืนเพิ่งซาเม็ดลงเมื่อตอนเช้ามืด แสงแรกของวันดูขมุกขมัวเพราะท้องฟ้ายังมีเมฆดำปกคลุมอยู่ทั่ว  สรรพสัตว์ในท้องนาต่างพากันร้องดังระงมต้อนรับความชุ่มฉ่ำของสายฝน ประสานกับเสียงไก่ขันที่ดังแว่วมาเป็นระยะ

          เด็กหญิง-เด็กชายสองพี่น้องตื่นแต่เช้าตรู่มาอาบน้ำแต่งตัว เตรียมพร้อมไปโรงเรียนวันแรกหลังจากที่ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนไปหลายเดือน เพราะสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

          เมื่อแม่ส่งเสียงเรียกให้มากินข้าว พ่อจึงหยุดกวาดเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่นจากลมฝนเมื่อคืนนี้ ขณะที่เด็ก ๆ สะพายเป้หนังสือเดินตามกันออกมาจากห้องนอน สำรับอาหารเช้านี้มีแกงจืดหมูบะช่อกับใบตำลึง ที่เก็บมาจากสวนผักข้างบ้าน ปลาช่อนแดดเดียวทอดกลิ่นหอมฟุ้ง ซึ่งพ่อไปทงเบ็ดได้มาจากทุ่งนาข้าวอินทรีย์ของพ่อเอง และผัดยอดผักอ่อมแซบ(ตำลึงหวาน) รับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ  

          วันนี้แม่เก็บผักได้หลายอย่าง มีผักที่เป็นเครื่องต้มยำ คือ ตะไคร้ หัวข่า ใบมะกรูด มะนาว ผักที่เป็นเครื่องยำและลาบ คือ สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนูสวน ต้นหอม และยังมียอดชะอม กะเพรา โหระพา บวบ  มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว มะระจีน และดอกแคขาว อีกด้วย ส่วนถั่วฝักยาว น้ำเต้า และแตงกวา ยังต้องรอให้ถึงวันพรุ่งนี้จึงจะเก็บได้

          กว่าพ่อจะกลับถึงบ้านก็เวลาบ่ายคล้อยไปแล้ว หลังจากจิบน้ำใบเตยอุ่น ๆ หอมชื่นใจที่แม่เตรียมไว้ให้จนหายเหนื่อย ก็รีบกุลีกุจอมาช่วยแม่จัดผักเป็นกำ ๆ เตรียมไว้ส่งให้น้าข้างบ้านซึ่งจะรับไปขายที่ตลาดเย็น หลังจากเสร็จธุระเรื่องขายผักแล้ว พ่อก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปที่แปลงนา ปีนี้พ่อวางแผนจะปลูกข้าวปลอดภัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากที่ทำนาแบบใช้สารเคมีมาเกือบทั้งชีวิต แต่ก็ไม่เคยขายข้าวได้ราคาดี ถูกกดราคาจนไม่มีเงินเหลือเก็บ และยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี

          ตอนนั้น พ่อกับแม่หันหน้ามาปรึกษากันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น และลงมือปฏิบัติจริงไปตามขั้นตอน เริ่มด้วยการลดความเสี่ยงจากการทำนาเพียงอย่างเดียว มาทำเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการทำนา ปลูกผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม ลดต้นทุนด้วยการปรับระบบการผลิตให้ปลอดภัย ใช้สารชีวภาพที่ผลิตได้เอง พัฒนาศักยภาพและความรู้เรื่องการแปรรูป หาช่องทางตลาดและเข้าถึงคนซื้อโดยตรง และยกระดับตัวเองให้เป็นชาวนามืออาชีพ ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ตัวเองด้วยการวางแผนชีวิต แผนการผลิต และจัดระบบการเงินของครอบครัว

          พ่อมีความเชื่อว่าระบบชุมชนที่เปิดใจรับฟังปัญหากัน จะช่วยสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อทำอะไรร่วมกันได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกันแก้ไข เยียวยา และดูแลให้ชาวนาที่มีปัญหาหนี้สินได้ผ่านวิกฤติไปได้ พ่อจึงชวนเพื่อนชาวนาที่สนใจได้ 5 ราย ทดลองปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวในระบบอินทรีย์ ซึ่งแม้จะไม่ค่อยมั่นใจ แต่ก็มีหัวใจที่มุ่งมั่นและพร้อมลงมือปฏิบัติจริง

          ในระหว่างทางย่อมมีปัญหาอุปสรรคอยู่เสมอ หากแต่การแสวงหาความรู้และไม่ยอมหยุดพัฒนาตัวเองคือปัจจัยสำคัญที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา มีความรู้อยู่มากมายที่จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวแม้จะได้ข้าวในปริมาณที่น้อยลงกว่าเดิม ได้เงินน้อยกว่าที่เคยได้ แต่กลับพบว่าเงินจำนวนนั้นคือกำไรสุทธิที่แทบไม่เคยมีมาก่อนจากการทำนาที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะต้นทุนด้านสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชที่ลดลง กลายเป็นเงินส่วนต่างที่นำไปบรรเทาปัญหาหนี้สินได้ คือข้อพิสูจน์ที่ตอกย้ำให้มีกำลังใจสู้เพื่อพัฒนาอาชีพชาวนาที่ปรับการผลิตไปสู่ระบบอินทรีย์ซึ่งอยู่รอดได้จริง แถมยังภูมิใจที่ได้ช่วยดูแลดิน ถนอมน้ำ รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างผลผลิตคุณภาพดีที่ปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน อีกทั้งยังคืนความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของท้องทุ่ง ให้มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ข้าว และพืชอาหารที่หลากหลายของคนเรา

          หลังเลิกเรียน เด็กหญิงผู้พี่หิ้วมะละกอลูกใหญ่กลับมาบ้าน พร้อมบอกเล่าอย่างตื่นเต้นว่า ต้นมะละกอที่เธอกับเพื่อน ๆ ช่วยกันปลูกไว้ที่โรงเรียน ตอนนี้ออกลูกดกมากจนกินไม่ทัน คุณครูเลยให้เอากลับมาฝากที่บ้าน ขณะที่เด็กชายผู้น้องก็ส่งเสียงดังเจื้อยแจ้วไม่แพ้กันว่า ต้นมะเขือกับพริกที่เขาปลูกไว้ ก็ยังอยู่รอดและออกผลดกเหมือนกัน

          แม่จัดการกับมะละกอลูกนั้นเป็นเมนูมะละกอผัดไข่ อาหารมื้อเย็นทานกับน้ำพริกถั่วลิสง ผักสด แกงเลียงผักรวม และข้าวสวยร้อน ๆ ที่หุงจากข้าวอินทรีย์ที่พ่อปลูกเอง ผสมน้ำคั้นดอกอัญชันที่ปลูกไว้รอบบ้าน แต่งสีให้เป็นข้าวสีน้ำเงินหอมกรุ่นน่ารับประทาน

          ค่ำแล้ว แสงไฟในบ้านเปิดสว่าง แมลงกลางคืนส่งเสียงร้องระงมเป็นดนตรีธรรมชาติจากกลางทุ่ง สายลมเย็นพัดโชยมาเป็นระยะพร้อมเห็นแสงฟ้าแล่บอยู่ไกล ๆ เป็นสัญญาณว่าคืนนี้คงมีฝนกระหน่ำมาอีกระลอก พ่อหยิบถุงเมล็ดพันธุ์ข้าวออกมานั่งคัด เพื่อเตรียมไว้ปลูกในเวลาอีกไม่นานนี้ ส่วนแม่ก็กำลังส่งเสียงกระซิบระคนหัวเราะ ขณะที่สอนให้เด็กน้อยทั้งสองได้รู้จักเมล็ดพันธุ์ผักชนิดต่าง ๆ ก่อนช่วยกันแยกประเภทบรรจุลงถุง

          พ่อเงยหน้าขึ้นมองฝ่าความมืดไปที่ทุ่งนากว้าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปนเปื้อนอาบทาด้วยสารพิษ หากแต่ขณะนี้ได้พลิกฟื้นกลายเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่ผลิตอาหารปลอดภัยหล่อเลี้ยงผู้คน สร้างระบบนิเวศให้สรรพสัตว์และพืชมากมายได้อิงอาศัยร่วมกัน รวมถึงสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่มั่นคงให้กับครอบครัวอีกด้วย

          พ่อยิ้มให้ภาพตรงหน้าอย่างมีความสุข พร้อมพูดกับตัวเองเบา ๆ ว่า....อยากให้เป็นอย่างนี้ทุกวันจังเลย....    

ไทยควรเน้นการพัฒนาการเกษตรแนวเพื่อระบบนิเวศ

FarmerAdaptation

โลกยุคหลังการระบาดโควิด-19 ภาคเกษตรโดยเฉพาะการผลิตอาหารจะกลับมามีความสำคัญ ไทยนั้นมีพื้นที่เพาะปลูกมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก

และน่าจะเน้นการพัฒนาด้านนี้

ไทยควรปฏิรูปการบริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งการปลูกพืช การใช้น้ำ การกําจัดศัตรูพืช ป่าไม้ และการประมง ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ/มีอำนาจและความรู้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการประมงในท้องถิ่นของตนแบบยั่งยืน (อยู่ได้ถึงรุ่นลูกหลาน) เพิ่มขึ้น

หลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นพิษ ปกป้องคุณภาพของดิน แหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยใช้วิธีธรรมชาติปลูกพืชแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ การทําการเกษตรแนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ จะต้องการแรงงานในการดูแลเอาใจใส่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการช่วยให้คนมีงานทําเพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นแต่ก็คุ้มค่า และถ้าเราจัดระบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรมขึ้นคนจะมีเงินซื้อหาได้

การปลูกพืชหลากหลายชนิดสามารถใช้เป็นอาหารในท้องถิ่นได้ โดยคนในชุมชนไม่ต้องไปซื้อหาจากภายนอก การทําการเกษตรแบบผสมผสาน สร้างความหลากหลายเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการโจมตีของศัตรูพืช ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้เกษตรเป็นงานที่น่าสนใจ เกษตรกรมีความภูมิใจและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

คิวบา เปลี่ยนจากการปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาลส่งไปขาย ไปทําการเกษตรแบบอินทรีย์ที่เน้นการพึ่งตนเอง ปลูกพืชที่เป็นอาหารแม้ในเขตเมือง ชาวนาในอินเดียรวมกลุ่มกันต่อต้านบริษัทผลิตน้ำอัดลมที่มาสร้างเขื่อนและแย่งน้ำไปจากพวกเขา ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหลายประเทศ กลุ่มผู้บริโภคจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าอาหาร และร่วมมือกับเกษตรกรขนาดย่อมผลิตและบริโภคอาหารแนวอินทรีย์

เกษตรกรขนาดย่อมและขนาดกลางร่วมมือกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรแบบสหกรณ์ เครดิตยูเนียน วิสาหกิจชุมชน ฟาร์มรวม และประสานงานในรูปเครือข่ายร่วมมือกับผู้บริโภค สหภาพแรงงาน และองค์กรประชาชน เพื่อที่จะแข่งขันสู้บรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ได้

รัฐและภาคธุรกิจเอกชนควรทุ่มเทวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ขยะ ความร้อนใต้โลก กระแสคลื่นในทะเลและพลังงานน้ำขนาดเล็ก พาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน มาใช้เพิ่มขึ้น รวมทั้งซื้อ/เช่าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น

ลดการผลิตสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยเกินความจําเป็นโดยรวมลง เพื่อลดปัญหาผลกระทบการทําลายระบบนิเวศให้เหลือน้อยที่สุด เปลี่ยนแนวคิดจากการมุ่งเติบโตเชิงปริมาณ เป็นการเจริญเติบโตทางคุณภาพชีวิตแทนด้วยมาตรการ เช่น

1.จัดระบบการผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้าและบริการใหม่ โดยเน้นความใกล้ทางภูมิศาสตร์มากขึ้น เพื่อจะได้ขนส่งและใช้พลังงานลดลง ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตอาหารและสินค้าและบริการ รวมทั้งพลังงานได้เองเป็นส่วนใหญ่ แทนการสั่งเข้า จะประหยัดทั้งเรื่องการเก็บรักษา การหีบห่อ การขนส่งและการตลาด ได้เพิ่มขึ้น

2.วิจัยและพัฒนาการออกแบบและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ใช้ทรัพยากรและพลังงานลดลง เน้นการใช้พลังงานทางเลือก ทําให้สินค้าคงทนมีอายุใช้งานนานขึ้น มีขยะเหลือน้อยและหรือนํากลับไปแปรรูปใช้ใหม่ได้

3.ส่งเสริมการบริโภครวมหมู่ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car pool) แทนการที่ต่างคนต่างใช้รถส่วนตัว การมีห้องสมุด ศูนย์พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ ร่วมกันในชุมชน

4.ส่งเสริมการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วและการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้จักรยานแทนรถยนต์เพิ่มขึ้น ทําทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ช่วยบังแดด มีสัญญาณไฟเพื่อความปลอดภัย ฯลฯ ส่งเสริมการซ่อมแซมปรับปรุงนำของเก่ามาใช้ การแยกขยะและการแปรรูปใช้ใหม่

5.ให้ชุมชนมีอำนาจ ทรัพยากร ความรู้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสังคมแบบยั่งยืน ที่นอกจากผลิตสินค้าบริการที่จำเป็นได้พอเพียงแล้ว ควรคิดถึงการให้สมาชิกชุมชนมีเวลาทํากิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวและชุมชน การอยู่ในธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี พัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

6.ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจสังคม ช่วยให้คนจนได้รับบริการพื้นฐานที่จําเป็น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยที่จําเป็น การศึกษาอย่างพอเพียง เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากในอัตราสูงขึ้น

7.ออกแบบกระบวนการผลิตใหม่หมด (Redesign) ปกป้องให้คนงานได้รับอุบัติเหตุ หรือผลกระทบทางสุขภาพจากการทํางานลดลง ส่งเสริมให้คนงานมีอํานาจในการควบคุมกระบวนการทํางานของตน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจ เรื่องเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คือให้พนักงานได้เป็นผู้ถือหุ้นและมิสิทธิมีเสียงในโรงงานหรือธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีอํานาจในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น และยั่งยืนขึ้นได้จริง

การที่โลกใช้และติดต่อกันผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะต้องหาทางแก้ไข คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องใช้วัสดุและพลังงานไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 15-19 ตัน การผลิตคอมพิวเตอร์ชิพสําหรับคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องก่อให้เกิดขยะคิดเป็นน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น 1,300 เท่า ขยะบางอย่างเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง กระบวนการผลิตคอมพิวเตอร์ยังก่อให้เกิดการปล่อยสารพิษไปบนชั้นบรรยากาศมากกว่าสินค้าทั่วไปราว 10 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากซากขยะคอมพิวเตอร์ที่เลิกใช้แล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมุ่งหากําไรสูงสุด บริษัทคอมพิวเตอร์จึงผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น และจูงใจให้ผู้บริโภคโยนทิ้งของเก่าไปซื้อของใหม่บ่อยขึ้น ทั้งที่ของเก่ายังมีอายุการใช้งานได้อยู่

เราอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ในการประหยัดเวลาและพลังงานในการทํากิจกรรมของเราได้ในหลายกรณี แต่การจะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาด้านการออกแบบและบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจสังคมด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่

นอกจากจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบและจัดการจราจรแล้ว ยังต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างบูรณาการ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car Pool) การเป็นเจ้าของรถร่วมกันแบบเป็นสมาชิกและจ่ายค่าใช้จ่ายเฉพาะวันเวลาที่ต้องใช้รถ การส่งเสริมการใช้จักรยานและเดินเท้า การทำเมืองให้เล็กลง กระจายให้คนไปอยู่ในเมืองอื่นๆ อย่างมีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 เม.ย. 2563

ผู้เขียน : รศ.วิทยากร เชียงกูล อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

9081971
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
3267
7927
60380
253558
9081971

Your IP: 3.17.71.93
2025-04-26 09:05