• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - บัญชีครัวเรือน

‘สุริยะ ชูวงศ์’ พึ่งพาคัมภีร์บัญชีครัวเรือนนำทางสู่ความสำเร็จ

HouseholdExpenses

นายสุริยะ ชูวงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มประจำปี 2559  เป็นผู้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาตลอดระยะเวลา 37 ปี ควบคู่ไปกับการจดบัญชีครัวเรือน บัญชีฟาร์ม และบันทึกข้อมูลการทำการเกษตร เพื่อวิเคราะห์วางแผนการผลิต ภายใต้การส่งเสริมแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาด และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดหนี้สิน

นายสุริยะ ชูวงศ์  เปิดเผยว่า ตนเองสืบสานพระราชปณิธานด้านเกษตรและยึดมั่นปฏิบัติมาตลอดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 หลังจากได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.9 ณ สวนจิตรลดา ซึ่งทรงอธิบายและสอนการทำเกษตรผสมผสานแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสอนให้เป็นคนรอบรู้ รอบคอบ ช่างสังเกต เมื่อได้รับพระราชดำรัสก็น้อมนำทฤษฎีไร่นาสวนผสมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางพัฒนาสวนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปแบบของการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งทำนา ปลูกผลไม้ปลอดสารพิษ เช่น ชมพู่ ละมุด มะนาว มะละกอ มะยงชิด กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ตาลโตนด เป็นต้น

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการจดบันทึกทางบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ และมีการวางแผนการผลิต การตลาด และหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต รวมถึงวางแผนการใช้จ่ายในครอบครัวอย่างเป็นระบบ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกมาคิดวิเคราะห์ ภายใต้การแนะนำจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปวางแผนในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับกลไกการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพราะในอดีตเคยประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากการวางแผนการผลิตกล้วยหอมทองที่ผิดพลาด จนผลผลิตออกมามากในช่วงสินค้าล้นตลาด ทำให้ขายได้ราคาตกต่ำ แต่เมื่อนำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาวิเคราะห์ จึงทำให้รู้ว่า ในช่วงเทศกาล กล้วยหอมทองจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในท้องตลาดมีผลผลิตจำหน่ายน้อยมาก สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ จึงปรับเปลี่ยนวางแผนการเพาะปลูกกล้วยหอมทองเพื่อให้ได้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และจำหน่ายได้ราคาดี

“จากประสบการณ์ที่เรียนรู้และปฏิบัติมาตลอดชีวิต ปัจจุบันจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้สนใจ ที่เข้ามาเยี่ยมชมสวน และยังรับเชิญเป็นวิทยากรทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชไร่ พืชสวนแบบผสมผสาน รวมถึงเทคนิคและวิธีการทำการเกษตรต่างๆ ที่ตนทำมาแล้วประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้ที่มารับความรู้นำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และในฐานะที่เป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเน้นย้ำกับผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ทุกครั้งว่า จะต้องทำบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ แล้วนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้มาวิเคราะห์วางแผนการผลิต จึงจะทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ เพราะองค์ความรู้ทางบัญชีจะเป็นอาวุธทางปัญญาที่ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตร”นายสุริยะ กล่าว

ด้าน นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกร ให้ทำบัญชีได้ใช้บัญชีเป็นในภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร มาแล้วตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการประกอบการเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคง โดยเกษตรกรผู้มีองค์ความรู้ทางบัญชีนอกจากจะรู้รายรับ รายจ่าย รู้ตัวตนแล้ว ข้อมูล ที่ได้บันทึกจากการประกอบการทำเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการตลาด รวมถึงต่อยอดพัฒนาพืชผลทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ สำหรับนายสุริยะ ถือว่าเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่กรมฯ เข้ามาแนะนำ และจากการจดบันทึกทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นายสุริยะรู้แต่ละรายการว่าจะมีรายได้ในช่วงไหนเท่าไหร่ ผลผลิตจะออกเดือนไหน ได้เรียนรู้และนำไปพัฒนาทางความคิดในวิชาชีพเกษตรกรของเขา โดยใช้หลักบัญชี การจดการรับจ่ายในครัวเรือน ตลอดจนบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพได้ ซึ่งนายสุริยะ นับว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบคนหนึ่งที่กรมฯ ภูมิใจ เพราะนอกจากนำระบบการบันทึกทางบัญชีมาใช้ด้วยเองจนประสบความสำเร็จแล้ว ยังทำหน้าที่ครูบัญชีอาสา นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้เกษตรกรคนอื่นๆ

รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บอกอีกว่า ก่อนที่ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเข้ามาสอนแนะ นายสุริยะก็มีหลักคิด มีวิธีการที่ดีในการทำการเกษตรและมีวินัยทางการเงินที่ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับองค์ความรู้ด้านบัญชีเพิ่มเติม ก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการจดบันทึกทางบัญชีที่เป็นระบบมากขึ้น เมื่อจดบันทึกแล้วความคิดก็เป็นระบบมากขึ้น เกิดการวางแผนที่ดี ออกแบบการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเห็นว่านายสุริยะเป็นผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมที่ไม่มีหนี้สิน เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรและเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ มาให้ความสำคัญกับการทำบัญชี

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สนับสนุนและพัฒนาให้อาสาสมัครเกษตรกรด้านบัญชี หรือครูบัญชีอาสา เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายสุริยะ ชูวงศ์ นับเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ยอมรับและทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรและการตลาดที่มีผลกระทบต่อการเกษตรที่ทำอยู่ ส่งผลให้มีความพร้อมในการปรับตัวฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและการดำเนินชีวิตในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำระบบบัญชีมาเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองจากเกษตรกรทั่วไป ขึ้นเป็นนักเกษตรยุคใหม่ที่คิดเป็นระบบสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเกษตรของตนเองด้วยระบบบัญชี”รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย  

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 17 ส.ค. 2563

 

"รจนา สีวันทา"เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ปี 64

RojanaSriwanta

ยึดหลักนำบัญชีวางแผนชีวิต ใช้วิเคราะห์และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน

"รจนา  สีวันทา" เกษตรกรจากจังหวัดสุรินทร์ คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่น  สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค  ปี พ.ศ. 2564 เผยเคล็ดลับความสำเร็จ ยึด "บัญชี" เป็นภูมิคุ้มกันความจน  ใช้วิเคราะห์ และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน 

นางรจนา สีวันทา เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564  ชาวตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ วัย 46 ปี กล่าวว่า เริ่มต้นอาชีพทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ปี 2539 ในระหว่างนั้นมีหนี้สิ้นนอกระบบอยู่หลายหมื่นบาทจนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุรินทร์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเริ่มหันมาจดบันทึกบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนและจดบันทึกต้นทุนในการทำนาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้รายรับ รายจ่ายในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนา จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง แต่ได้กำไรต่ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและเป็นไปตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนปัญหาหนี้สิ้นที่เคยมี จากต้นทุนที่ลดลงทำให้มีกำไรมากขึ้น ทำให้สามารถเก็บเงินที่ขายข้าวได้ทยอยนำไปชำระหนี้จนหมดหนี้สินในที่สุด 

ในปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 24 ไร่ แบ่งเป็นแปลงนาปลูกข้าวและพื้นที่ทำเกษตรอื่น ๆ  และยังคิดหาวิธีเพิ่มรายได้โดยการรวมกลุ่มแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศรวมถึงต่างประเทศ โดยผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และในยุโรปส่วนพื้นที่ที่เหลือได้แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกผัก ปลูกมันเทศญี่ปุ่น เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงโค และไก่ไข่เป็นการเพิ่มรายได้หลังฤดูทำนา นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชผักอินทรีย์ ส่งขายในTops Supermarket ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย 

จากการจดบันทึกบัญชีเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยในปี 2548 ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาซื้อรถไถนา โดยมีการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการจัดเกรดเป็นลูกค้าเกรด A + ทั้งนี้ ยังมีเงินเหลือเก็บออม จนสามารถซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน รถเกี่ยวนวดข้าว 1 คันรถกระบะอีก 1คัน รวมถึงซื้อที่นาเพิ่มอีก 8 ไร่ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการมีวินัยในการทำบัญชี โดยยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรรายอื่น ๆ หันมาทำบัญชี เพื่อบริหารจัดการการเงินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ  

ในปี 2557 นางรจนา ได้สมัครเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนในชุมชน นักเรียน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายในการสอนบัญชีให้แก่คนในชุมชน และยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายด้านการทำบัญชีแก่คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการจดบันทึกบัญชีรายรับ - รายจ่าย และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ พร้อมทั้งมีการนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบัญชีมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผน สามารถคิดกำไร ขาดทุนจากการประกอบอาชีพได้และสร้างวินัยในครัวเรือนให้มีความเข้มแข็งขึ้นอีกทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ 

"ฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรทุกคนว่า อย่าดูถูกตัวเองว่าทำบัญชีไม่เป็น ทำไม่ได้ แล้วไม่ยอมทำทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำการทำบัญชีไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่เราเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ หรือหากคิดว่าไม่มีความรู้ในการจดบันทึก  ลงบัญชีไม่เป็นสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ประจำจังหวัด อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพเพราะเป็นภูมิคุ้มกันความจนได้ดีที่สุดทำให้เรารู้รับ-รู้จ่าย รู้ต้นทุนและรู้อนาคตจากการนำบัญชีมาบริหารจัดการอาชีพและรายได้ในครอบครัว" นางรจนา กล่าว       

ปัจจุบันนางรจนา สีวันทา ได้นำองค์ความรู้ด้านบัญชีให้คำปรึกษาในการประกอบอาชีพให้แก่คนในชุมชน และช่วยเหลืองานในชุมชนทั้งในด้านครูบัญชีอาสาและอาสาด้านอื่นๆ ทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ประธานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ระดับอำเภอจอมพระประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท รองประธานนาแปลงใหญ่ระดับอำเภอ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ฯลฯ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2563เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี พ.ศ.2563และอีกรางวัลความสำเร็จในปัจจุบันที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 พ.ค. 2564

ทำบัญชี...แก้หนี้ชาวนาได้อย่างไร

ChaleawNoisang

ชาวนาส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการพึ่งพิงการเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชตามกระแส ปลูกพืชตามความเคยชิน และปลูกพืชด้วยการใช้สารเคมี นี่คือคำกล่าวสรุปถึงสาเหตุปัญหาหนี้สินของชาวนาโดยเฉลียว น้อยแสง ชาวนาตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และครูบัญชีอาสาดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2561

           “วันนี้ข้าว กข.41 ข้าวหอมปทุม ราคาดี ราคาพุ่ง เนื่องจากปริมาณข้าวน้อย ตลาดต้องการ ชาวนาก็จะพยายามปลูก แต่พอปลูกกันมากราคาข้าวก็จะตกต่ำ ขาดทุนกันอีก ชาวนาไม่รู้เลยว่ารับเงินไปเท่าไหร่ แล้วจ่ายไปเท่าไหร่ ไม่เห็นกำไรหรือต้นทุน ขาดการวางแผน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้สินและต้นทุนชีวิตของชาวนาก็สูงขึ้นทุกด้าน...” 

          ในอดีตเฉลียวเป็นชาวนาคนหนึ่งที่มีปัญหาหนี้สินกว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถปลดเปลื้องหนี้สินของตนเองได้จนหมด จากการคิดค้นวิธีการทำนาแบบลดต้นทุน ใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี บริหารจัดการแปลงนาให้มีรายได้มากกว่าทางเดียว พร้อมกับการจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพและบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินจนประสบผลสำเร็จ

บัญชีชาวนา เครื่องมือสู่ความเข้าใจตัวเอง

           การที่ชาวนาต้องเรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือนนั้นมีความจำเป็นเพราะการทำบัญชีครัวเรือน จะทำให้เห็นรายละเอียดและภาพรวมของรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน และรายจ่ายต้นทุนอาชีพ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ได้ว่าอะไรที่สมควรและไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อเป็นการลดและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสมจะส่งผลทำให้เกิดการออม การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และนำไปสู่แนวทางการลดและปลดหนี้สินลงได้

          เฉลียวกล่าวถึงวิธีการทำบัญชีแบบฉบับของชาวนาไว้ว่า ชาวนาจะต้องเป็นคนทำบัญชีด้วยตนเอง ไม่ใช่เอาไปให้ลูกหลานทำ มันไม่ได้ผล สังเกตไหมว่าคนโบราณเขาทำบัญชีมาตลอด โดยการเขียนไว้ข้างฝา เช่น หว่านข้าวเท่าไหร่ ไปลงแขกใคร ขายข้าวไปเท่าไหร่ นี่คือการทำบัญชีแบบคนโบราณที่เขาไม่รู้ตัว การทำบัญชีเกิดคู่มากับเศรษฐกิจพอเพียง

บัญชีชาวนา ควรทำให้ง่าย ไม่ต้องใช้สมุดแบบฟอร์มอะไรก็ได้ ใช้สมุดเปล่าธรรมดาก็สามารถจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ยอดรวมแต่ละวัน เพียงเดือนเดียวก็เห็นผล นำข้อมูลมาพิจารณาถึงความจำเป็นของการใช้จ่าย แล้วก็ค่อยๆ ลด เดือนต่อไปเมื่อเห็นผลเราก็จะกลายเป็นความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัย การลงบัญชีละเอียดจะทำให้เราเห็นภาพรวมว่าอะไรที่สมควรไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อจะได้เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถที่จะเพิ่มรายรับของเราได้ รายรับเพิ่มก็สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการลงทุนเพื่อการผลิตครั้งถัดไปได้

 

แนวทางการแก้หนี้ด้วยบัญชีครัวเรือน

จากประสบการณ์ของเฉลียวพบว่า ธ.ก.ส. ให้ชาวนากู้ในลักษณะร่วมกลุ่มกัน ไม่เกินรายละห้าหมื่นบาท ซึ่งสะดวกสบายมากและดอกเบี้ยก็ต่ำ ร้อยละ 0.5 โดยปกติชาวนาส่วนใหญ่จะส่งแค่ดอกเบี้ยไม่ได้ส่งเงินต้นด้วย การวางแผนทางการเงินเพื่อลดและปลดหนี้ที่ถูกต้อง คือ ชาวนาจะต้องวางแผนเพื่อส่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย จึงจะสามารถลดและปลดเปลื้องหนี้ได้หมด

ชาวนาคนไหนที่บอกว่าไม่สามารถออมเงินได้ สามารถปรับวิธีการออมเงิน ด้วยการใช้หนี้เก่าไปก่อน แล้วค่อยมาออมเป็นเงินสด ลักษณะนี้คือการออมเงินทางอ้อม แล้วก็สามารถใช้หนี้ได้หมดและไม่มีหนี้ผูกพัน

แนวทางแก้ปัญหาหนี้และสภาพคล่องทางการเงินของชาวนา  คือ การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ทั้งต้นทุนอาชีพและต้นทุนการใช้ชีวิต เพื่อลดภาระการจ่ายเงินของครอบครัว การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่าและเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น การปลูกผักและผลไม้ไว้รับประทานเอง เพื่อลดรายจ่ายค่าอาหาร และค่าเดินทางไปตลาด อีกทั้งทำให้สุขภาพดีอีกด้วย การเพิ่มรายรับ หารายได้เสริมนอกจากการทำนา เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย เป็นต้น การทำความเข้าใจกันภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันประหยัด รู้จักอด ลด ละ เลิก รายจ่ายหรือสิ่งที่ไม่จำเป็น และช่วยกันสร้างรายรับให้เพียงพอและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าประโยชน์จากการทำบัญชีชาวนาไม่เพียงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้และแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน นั่นคือ ทำให้ชาวนาเข้าใจตนเอง ทราบรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และเงินคงเหลือในแต่ละวัน นำข้อมูลการใช้จ่ายเงินภายในครอบครัวมาจัดเรียงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และวางแผนการใช้จ่ายเงิน  แต่ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนาได้อีกด้วย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 18 ธ.ค. 2563

 

เกษตรกรดีเด่น บัญชีฟาร์ม 60 แนะทำบัญชีครัวเรือน เพิ่มรายได้ ลดหนี้สิน

HouseholdAccount

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2560 ผู้นำบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร และการสร้างเครือข่ายในชุมชนให้รู้จักการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ จนทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.63 นางสุดใจ ชมภูมี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ปี 2560 จากชุมชนบ้านผารังหมี ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีอาชีพทำนาและทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กันไป เช่น การทำนาข้าวปลอดภัย การผลิตปุ๋ย การผลิตฮอร์โมนพืช การทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน โดยมีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพในทุกกิจกรรมที่ทำ ซึ่งปกติมีความสนใจทำบัญชีเพื่อจดบันทึกรายรับรายจ่ายในการทำนาเป็นประจำอยู่แล้ว แต่มาจริงจังเมื่อปี 2543 เนื่องจากหมู่บ้านได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านมั่งมีศรีสุขจากกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งให้มีการทำบัญชีเพื่อเป็นตัวชี้วัด จำนวน 33 ครัวเรือน ซึ่งตนก็ได้สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนั้นด้วย ทำให้เริ่มเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา พร้อมกับทำหน้าที่ช่วยสอนแนะให้คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านรู้จักการทำบัญชีด้วย 

จนกระทั่งในปี 2550 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เข้ามาให้คำแนะนำในการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อจดบันทึกแล้วทำให้รู้มากกว่ากำไรขาดทุน แต่สามารถแยกกิจกรรมที่เราทำได้อย่างละเอียด รู้ถึงกิจกรรมที่เราทำมากขึ้น ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ วางแผนการผลิตได้เป็นอย่างดี จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการศูนย์เรียนรู้โครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหลักการทรงงานมาปรับใช้กับหลักสูตรกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีการทำบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ และส่งเสริมกลุ่มอาชีพเพิ่มรายได้ เช่น กลุ่มทำปุ๋ยหมัก กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า กลุ่มนาข้าวปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจาก ธกส. ให้เป็นวิทยากรหมอหนี้สอนการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพให้กับเกษตรกรผู้พักชำระหนี้ และติดตามการจัดทำบัญชี พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาด้านอาชีพและการทำบัญชีให้กับชาวบ้านในชุมชน รวมถึงทำหน้าที่ช่วยตรวจบัญชีให้กับชาวบ้านและเกษตรกรที่เข้าประชุมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละเดือน 

"การชักชวนให้ชาวบ้านมาสนใจจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในเบื้องต้น มีแนวทางว่าหากใครทำบัญชีต่อเนื่องและนำมาให้คณะกรรมการกลุ่มตรวจบัญชีทุกเดือนก็จะมีรางวัลมอบให้ เช่น มอบเมล็ดพันธุ์ผักให้ไปปลูก ต่อมาได้พัฒนาเป็นธนาคารความดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านนำสมุดบัญชีมาให้คณะกรรมการกลุ่มตรวจสม่ำเสมอ หากคนไหนนำสมุดบัญชีมาตรวจ 1 ครั้ง จะมีคะแนนให้ 50 คะแนน และหากมีการร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ ในชุนชน จะได้ 20 คะแนน เป็นต้น เมื่อครบ 1 ปีก็จะนำคะแนนมารวมกัน และมีรางวัลมอบให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับผู้ที่มีคะแนนสะสมสูงสุดและคะแนนในลำดับรองลงมาตามลำดับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี" นางสุดใจ กล่าว  

นางสุดใจ กล่าวต่ออีกว่า จากการช่วยสอนแนะให้กับคนในชุมชนได้รู้จักการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถลดภาระหนี้สินจากสิ่งที่ไม่จำเป็น รู้จักการวิเคราะห์ในการลดต้นทุนในการทำนาและการประกอบอาชีพเสริมอื่น ๆ รู้จักการนำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่มาทำสิ่งทดแทนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งทำให้ได้คุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รู้จักประมาณตน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลพวงจากการที่คนในชุมชนจดบันทึกบัญชีอย่างสม่ำเสมอ และเป็นชุมชนหนึ่งซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ของ ธ.ก.ส. จึงทำให้ทาง ธ.ก.ส. พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้กับชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้ จากเดิมอัตราร้อยละ 7% เหลือเพียงร้อยละ 4% เพียงลูกหนี้นำสมุดจดบันทึกทางบัญชีไปแสดงและสามารถอธิบายข้อมูลต่าง ๆ ที่จดบันทึกได้ รวมถึงโครงการเงินกู้ของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของชุมชนเอง ก็มีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้กับผู้ที่นำสมุดจดบัญชีมาแสดงต่อคณะกรรมการกลุ่มอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน.

ทั้งนี้ ในปี 2560 นางสุดใจ ชมภูมี ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต โดยนางสุดใจยังคงทำหน้าที่ในการสอนบัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีครัวเรือนให้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ และร่วมเป็นวิทยากรให้กับศูนย์ฯ อื่น ๆ

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.ค. 2563

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

9068323
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
7405
6968
46732
239910
9068323

Your IP: 3.144.199.9
2025-04-24 12:50