• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การดูแลสุขภาพ

“ฟ้าทะลายโจร” ทิศทางการผลิตและการตลาดของเกษตรกร

Fahtalaijon

“ฟ้าทะลายโจร” พืชสมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในขณะนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้ โดยมีสารสำคัญ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สามารถลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักได้ ทำให้ปัจจุบันความต้องการฟ้าทะลายโจรในตลาดมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเพิ่มโอกาสและช่องทางในการผลิต การแปรรูป การตลาด และการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

           เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท ได้จัดอบรมออนไลน์ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ในหัวข้อเรื่อง “การปลูกฟ้าทะลายโจรและการพึ่งตนเองด้วยสมุนไพร” เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องกระบวนการปลูกฟ้าทะลายโจรจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ  ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรที่สนใจปลูกฟ้าทะลายโจร มีความรู้ในการพัฒนาการผลิตอย่างรอบด้านและมีทิศทาง สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หัวใจสำคัญ คือ การผลิตที่มีคุณภาพและมีตลาดรองรับ

           คุณรัตนา จันทะหนู วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 จ.สระแก้ว กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปฟ้าทะลายโจร ตลอดจนพืชสมุนไพรชนิดอื่นสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา อาหารเสริมดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เวชสำอางภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทางกลุ่มได้วางแผนการผลิต โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ผลผลิตพืชสมุนไพรส่วนใหญ่ของกลุ่มจะมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น ตลาดคู่สัญญากับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลวังน้ำเย็น คุณรัตนาได้แนะนำขั้นตอนการปลูกฟ้าทะลายโจร ตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ การผสมดิน วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การเก็บเมล็ดพันธุ์ ภายใต้การบริหารจัดการและดูแลมาตรฐานระดับกลุ่ม ดังนี้

           การเพาะเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดฟ้าทะลายโจรขัดกับพื้นปูนโดยใช้มือกดและถูเมล็ดไปมากับพื้นปูนประมาณ 5-10 วินาที วิธีนี้จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น ต่อมาผสมดินเพาะกล้าใส่กะบะเพาะ ใช้ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน ดิน 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน โรยวัสดุเพาะที่ผสมแล้วลงในกะบะเพาะ รดน้ำให้เปียกแล้วนำเมล็ดที่ผ่านการขัดแล้วโรยบนกะบะเพาะบางๆ ระวังอย่าให้เมล็ดทับซ้อนกัน จากนั้นนำวัสดุเพาะโรยปิดบางๆ และรดน้ำอีก 1 ครั้ง และรดน้ำวันละครั้ง รอประมาณ 3-5 วัน เมล็ดจะงอกออกจากเมล็ดหลังจากงอกประมาณ 3 วัน ทำการย้ายต้นกล้าจากกะบะเพาะใส่ถาดเพาะกล้าหลุมละ 1 ต้น เลือกต้นที่มีลักษณะต้นเท่าๆ กัน เลี้ยงต้นกล้าในกะบะเพาะ อีกประมาณ 20 วัน รดน้ำวันละ 1 ครั้ง สังเกตต้นกล้าจะมีใบ 4-6 ใบ

           วิธีการปลูก 1. นำต้นกล้าฟ้าทะลายโจรย้ายลงแปลงปลูกโดยปลูกระยะห่าง 10 ซม. 2. รดน้ำทุกวัน ในอาทิตย์ที่ 1 หากไม่มีฝนตก หลังจาก 1 อาทิตย์ไปแล้ว 2-3 วันรดน้ำ 1 ครั้ง (ฟ้าทะลายโจรชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะ) ดูแลแบบพืชอื่นทั่วไป กำจัดวัชพืชใส่ปุ๋ยหมักอย่างน้อย 1 ครั้ง อาจคลุมฟางหลังการปลูกในแปลง การเก็บเกี่ยว 1. เมื่อฟ้าทะลายโจรอายุ 90-120 วัน สามารถเก็บส่วนใบและลำต้นโดยการตัดลำต้นเหนือดินขึ้นมา 4 ข้อ ใบของลำต้นช่วงอายุ 90-120 วันหรือก่อนต้นฟ้าทะลายโจรจะออกดอกจะมี สารแอนโดรกราโฟไลด์สูง เป็นช่วงที่เหมาะแก่การนำไปใช้ทำยา การแปรรูป 1.นำฟ้าทะลายโจรล้างน้ำทำความสะอาด 2. นำไปตากให้น้ำแห้ง (ห้ามตากหนา) 3. เมื่อฟ้าทะลายโจรแห้งแล้ว นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 5 ซม. 4. เมื่อสับเสร็จแล้ว นำฟ้าทะลายโจรไปตากในโรงอบ (ห้ามตากหนา) 5.เมื่อฟ้าทะลายโจรแห้งจนกรอบ ให้เก็บใส่ตระกร้าและเช็คแยกดูอีกทีว่ามีสิ่งเจือปนหรือไม่ 6. นำฟ้าทะลายโจรบรรจุใส่ถุงและปิดปากให้สนิท 7.หลังจากบรรจุเสร็จแล้วให้นำไปเก็บในห้องที่ไม่มีความชื้นเข้าได้

           การเก็บเมล็ดพันธุ์และการเก็บรักษา 1. หลังจากฟ้าทะลายโจรมีอายุประมาณ 120 วันขึ้นไปจะเริ่มมีดอกและติดเมล็ด เราควรเหลือฟ้าทะลายโจรบางส่วนไว้เก็บเมล็ดพันธุ์ 2. หลังจากที่ฟ้าทะลายโจรติดฝักแล้ว เราควรสังเกตสีของเมล็ด เมล็ดที่แก่จะเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล 3. เก็บเมล็ดพันธุ์โดยการเก็บเมล็ดจากต้น หรือการตัดต้นแล้วนำมาเคาะเพื่อให้เมล็ดร่วง 4. เมื่อได้เมล็ดแล้ว หลังจากนั้นให้นำไปตากแดด (ควรปิดฝา เพื่อไม่ให้เมล็ดกระเด็นออก) 5. คัดแยกเมล็ดฟ้าทะลายโจรออกจากฝักที่แตกแล้ว (เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรักษา) 6. นำเมล็ดฟ้าทะลายโจรไปแช่ตู้เย็น เพื่อที่จะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีอายุนานขึ้น (ถ้าเก็บในอุณภูมิห้องเกิน 6 เดือน อัตราการงอกจะลดลง)

Fahtalaijon02

ทิศทางการตลาดฟ้าทะลายโจร ควรมองความสัมพันธ์ระยะยาว

           ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่มีรากแก้ว ปลูกง่าย ดูแลง่าย หากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้ คุณรัตนา กล่าวสรุปถึงทิศทางการผลิตและการตลาดฟ้าทะลายโจรจากประสบการณ์ของกลุ่มว่า “การปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อความยั่งยืน หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก และควรรักษาช่องทางตลาดกับคู่สัญญาในระยะยาว ไม่ควรอิงตามกระแสราคาตลาดมากเกินไป เพื่อให้ผู้บริโภคและประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรม ผู้บริโภคซื้อไหว เกษตรกรอยู่ได้ เพื่อสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน” 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 ก.ย. 2564 

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ทางเลือกการปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ของเกษตรกรยุคโควิด

HerbalPlant

ที่ผ่านมาเกษตรกรสนใจทำการเกษตรโดยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก เพราะช่องทางตลาดและความต้องการพืชสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  สมุนไพรไทยหลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสรรพคุณการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เริ่มเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ความต้องการสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว   

และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรให้กับเกษตรกร 37 จังหวัด จัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ข้อมูลด้านการตลาดพืชสมุนไพรไทยปี 2564 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดพืชสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกพืชสมุนไพรไทยอยู่ที่แสนล้านบาท ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “พืชสมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้พืชสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ทางมูลนิธิชีวิตไทเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสของการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกด้านรายได้และการดูแลสุขภาพในยุคโควิด จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เครือข่ายในการทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก สระบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะแว้ง อัญชัน  ดีปลี ชุมเห็ดเทศ เพชรสังฆาต ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ มาให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพร การหาตลาดรับซื้อสมุนไพรในประเทศ

รวมทั้งส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทย นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง นำสมุนไพรใกล้ตัว เช่น ขมิ้น ข่า ตระไคร้ มะกรูด ไพร ใบมะขาม ส้มป่อย มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย เช่น ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง  ยาสระผม สบู่ ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่านำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรได้อีกด้วย

สำหรับบทเรียนแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตพืชสมุนไพรสร้างรายได้ที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ พบว่า 1) ก่อนเริ่มต้องคุยกติกาและเงื่อนไขกับเกษตรกรให้เข้าใจชัดเจนก่อน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรที่ทำมาก่อน มองทั้งโอกาสและข้อควรคำนึงให้รอบด้าน 2)  มาตรฐานรูปแบบการปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น  PGS ,Organic Thailand ,IFOAM และรูปแบบผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่เป็นแบบแห้ง กระบวนการทำให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งตากแดด โรงอบ และเตาอบ  

3) เป้าหมายการตลาด หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก ทั้งนี้เป้าหมายเชิงปริมาณตลาด สถานการณ์จะเป็นกำหนดและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติโควตารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรมีการเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อ  4) กลไกการส่งเสริมผ่านระบบกลุ่ม การส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรต้องทำผ่านระบบกลุ่ม อย่างน้อย 5-10 ราย และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ไม่มากนักเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และรู้จักวิธีการจัดการผลผลิตพืชสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจจะปลูกสร้างรายได้ต้องแน่ใจว่ามีช่องทางตลาดรองรับ 5) เน้นกระบวนการทำงานพัฒนาทางความคิด พัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการไปพร้อมกัน ในช่วงเริ่มต้นการทำงานอาจจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงในกระบวนการส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร

แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย ทางเลือกที่พาไทยรอดวิกฤตโควิด-19

HealthVolunteer

สภาแพทย์แผนไทย ร่วมกับ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)​ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)​ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)​  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) รวม​ 33 เครือข่าย​ สู่​ Herb Bank และ​ เชื่อมกับโครงการ​ รพ.การแพทย์แผนไทยระดับ World Class & Wisdom World อยุธยา เพื่อร่วมกันผนึกกำลังให้สมุนไพรไทยเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และขอให้รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งเสริมและสนับสนุนสมุนไพรพื้นบ้านเป็นทางเลือกในการรักษาโควิด-19 อย่างจริงจัง

จากเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ “สภาการแพทย์แผนไทย คู่พระพุทธศาสนา  ผ่านวิกฤตโควิด บวรเข้มแข็งเสริม 5 ทัพธรรม” วันเสาร์ที่​ 28​ สิงหาคม 2546  ณ​ วัดชลประทานฯ​ อาคาร​ปัญญานันทานุสรณ์ ชั้น 1  เวลา 9.00-11.00 น.​ มีวิทยากรร่วมเสวนา ดังนี้ พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง พลเรือเอก ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย คุณธาดา เศวตศิลา ผู้อำนวยการกลุ่มลูกค้าสถาบันการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม อ.​มานพ​ สมุทรปราการ​  ปราชญ์ชุมชน  แพทย์แผนไทย บุญโชค​ ไทยทัตกุล​  ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและการเพาะเห็ด   และ ดร.​แสน​ ชฎารัมย์​  ที่ปรึกษามูลนิธิน้ำแห่งความชื่นใจ​ ดำเนินรายการโดย อ.จวน คงแก้ว และ อ.​พุทธพร​ โตถาวร

จากการทำงานช่วยเหลือผู้คนในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาโดยตลอด ทางท่านพระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง เห็นว่า “ บวร หรือ วัด จะสามารถช่วยสนับสนุนและจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้แพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ไม่อยากให้หวังพึ่งแต่แพทย์ตะวันตกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเห็นแล้วว่ามันไม่สำเร็จ รพ.สร้างกันมาไม่ใช่น้อย แต่ที่สุดก็ไม่สามารถรองรับการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนได้ตามที่ทุกคนเห็น  จนเกิด รพ.สนาม เกิด รพ.ที่ยังต้องขยายไปสู่คำว่า “พักรักษาตัวอยู่ตามบ้าน” แล้วใครจะไปดูแล ผู้ป่วยที่อยู่ รพ. หมดก็ดูไปไม่ทั่วถึงแล้ว พยาบาลก็ไม่พอ น่าสงสารหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ภูมิปัญญาของชาวไทยที่เรียกว่า “ยาแผนโบราณ หรือ แผนไทย” มันกลายเป็นว่าทุกคนเป็นหมอตัวเองได้เลย ทุกคนจะดูแลตัวเอง และเราจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “กินอาหารเป็นยา” เมื่อพวกเราทุกคนเข้าถึงภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายจะเบามือ มันจะเกิดเป็น “สุขภาพถ้วนหน้า” เพราะเราได้เอาอาหารเป็นยา ถ้าปัจจุบันที่คอยคัดกรองคนที่ติดเชื้อแล้วดึงพวกเขาออกไปนอกสังคม ซึ่งเป็นการทำตามแบบที่ยอมรับกันว่าทำแบบถูกต้อง แต่เมื่อคัดไปแล้วมันล่น พอล่นแล้วก็ไม่มีพื้นที่รองรับจนที่สุดใครจะไปตรวจ ไปรักษา ก็ไม่มีที่ไหนรับได้ วิธีนี้มันโหดร้ายเกินไป แต่การใช้แพทย์แผนไทย ใครกี่คน ใครเป็นที่ไหน คนที่รู้วิธีรักษาโรคลุกขึ้นขยับเข้าไปถึงคนเจ็บไข้ได้ป่วย และไม่ต้องเป็น รพ.สนาม ไม่ต้องเป็น รพ. เป็นที่เป็นทาง กลายเป็นว่าทุกบ้านเป็นที่สำหรับดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้เป็นอย่างดี เมื่อเห็นภาพในครั้งนี้แล้วรู้ทันทีเลยว่าแพทย์แผนไทยจะช่วยให้ไทยรอดได้”

HebalMenusetagaintCovid

คุณธาดา เศวตศิลา ผู้อำนวยการกลุ่มลูกค้าสถาบันการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม มาร่วมเป็นพลังหลักที่สำคัญในการช่วยเชื่อมประสานให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ “ฐานะที่ตนเองมีประสบการณ์ทำงานในด้านสื่อสาร การตลาด และการศึกษา จะนำเอาความรู้ที่มีมาบูรณาการให้แต่ละฝ่ายได้ผนึกกำลังกันให้ได้ทั้งหมอ พระ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มันจะครบเครื่อง และเป็นโอกาสที่ได้เข้ามาทำตรงนี้ จะเป็นที่ปรึกษาหรือตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ ตนไม่ได้สนใจ คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกคนมาผนึกกำลังกันให้ได้มากที่สุด และวันนี้ที่ได้มาคุยกับ อสม. ภาคประชาสังคม ที่ดูแลหมู่บ้าน จะทำยังไงถึงจะส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ลงไปถึงประชาชนให้ได้ โดยมีศิริราชพยาบาลที่มีแผนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ช่วยเรื่องแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้องค์ความรู้ การรายงานเชิงวิจัย เชิงวิทยาศาสตร์ของแพทย์แผนไทย ซึ่งตอนนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรู้และอยากที่จะมั่นใจ ไว้ใจ และสามารถที่จะเดินไปได้ด้วยกัน ถ้าเราต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมาที่มีเงินก็จะทำไปและก็โชว์เคสแบบนี้มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาคนตายกับคนป่วยได้เลย”

จากนี้จะมีแผนงานในการขับเคลื่อนงาน​ “สมุนไพร​ พารอด”​ ร่วมกับ​ อสม.​ จำนวน 10​ จังหวัด และจะแจกชุดตำหรับยาแห้ง จังหวัดละ​ 500 ชุด ได้แก่ 1.​น้ำกระชายและฟ้าทะลายโจรสกัด​พิเศษ​พ่นในลำคอหรือหยดโพรงจมูก ขวด 25 มล.​ 2.​น้ำสมุนไพรดื่มปรับสมดุลธาตุ​เสริมภูมิต้านทาน ขวด​ 200 มล.​ 3.​ ผงสมุนไพรสัตตะวิมาน​  ผสมน้ำอุ่นทานเสริมภูมิต้านทานและกระทุ้งพิษ กระปุก​ 30 กรัม​ 4.​ สเปรย์พ่นเสลดพังพอน​ ใช้ภายนอกลด​อาการผื่นแพ้และกันยุง ขวด 8 มล. 5.​ 9 สมุนไพรสดเพื่อต้ม​ รมไอ​และดื่มล้างพิษ​ แพค 3 ถุง​ (ชุดนี้ใช้เพื่อการบริจาค​ ฉุกเฉินเท่านั้น)

HebalSetDonate

หวังว่าการระดมกำลังกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเสริมภูมิคุ้มกันและรักษาสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย และทำให้เกิดความมั่นใจและไว้วางใจในสมุนไพรไทยและแผนแพทย์ไทยมากขึ้น เป็นการช่วยยกระดับให้แพทย์แผนไทยไปสู่ระดับโลก และสามารถรักษาชีวิตของคนทั้งโลกไว้ได้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สภาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 02-580 1157-8 มือถือ 081 296 4424 หรือ www.thaimed.or.th

 

 

 

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

9108660
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
5865
11623
24174
280247
9108660

Your IP: 3.16.70.193
2025-04-29 22:57