ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรชนิดที่เป็นนวัตกรรมทางนโยบาย แต่ถูกเสนอมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ข้อเสนอบางประการ เกษตรกรด้วยกันเองสามารถลงมือทำได้ทันที องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ หรือสถาบันการเงินสามารถผลักดันได้ด้วยตนเองหรือผ่านการร่วมมือกัน
แต่หลายข้อเสนอต้องอาศัยรัฐเป็นผู้ดำเนินการแบบบูรณาการ ไม่แยกส่วนเช่นที่เป็นอยู่ เพราะปัญหาหนี้สินเกษตรกรเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้จัดการตลาดและขายผลผลิตทางการเกษตร กระทรวงการคลังในฐานะผู้ออกมาตรการด้านสินเชื่อ การจัดการหนี้ และกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการออกนโยบายสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หรือการจัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ที่เป็นระบบ ครบถ้วน ครอบคลุม เนื่องจากลูกหนี้แต่ละคนมีศักยภาพในการชำระหนี้แตกต่างกันอันเกิดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การศึกษา ครอบครัว ฯลฯ ไม่สามารถใช้มาตรการสำเร็จรูปลักษณะ one size fit all กับทุกคนได้ ข้อมูลจึงมีความสำคัญต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สินเชื่อ หรือรูปแบบการชำระหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้ ซึ่งมีแต่รัฐเท่านั้นที่มีอำนาจและศักยภาพจะทำได้
ต้องไม่ลืมด้วยว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกรฉีกไม่ขาดจากปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่ต่างก็เป็นประเด็นใหญ่โตโดยตัวมันเอง เช่น ความเหลื่อมล้ำ การกระจุกตัวของที่ดินในมือกลุ่มทุนใหญ่ การเข้าถึงทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทุน การศึกษาที่มีคุณภาพ หรือกระบวนการยุติธรรม
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องทำให้เสียงของเกษตรกร (และประชาชน) แปรเป็น ‘เจตจำนงทางการเมือง’ ที่รัฐบาลต้องฟัง
ต้องอาศัยการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อส่งผ่านเสียงจากประชาชนไปยังรัฐบาล แปรเจตจำนงเป็นกฎหมายและนโยบายที่จับต้องได้ ปฏิบัติจริง ต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
มูลนิธิชีวิตไท
มีนาคม 2566