ถอดรหัสคดีหนี้ชาวนา
เมื่อชาวนาต้องเผชิญกับคดีหนี้สิน พวกเขารับมืออย่างไร
พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2564
บรรณาธิการ พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
กองบรรณาธิการ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์
เพ็ญนภา หงษ์ทอง ดร.ปิยาพร อรุณพงษ์ เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร ปกรณ์สิทธิ ฐานา นิชาภัทร ไม้งาม
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
สนับสนุนการจัดพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
"หลายครั้งพบว่า เกษตรกรเริ่มต้นกู้จำนองด้วยยอดเงินที่ต่ำกว่าราคาประเมินของที่ดินที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ภายหลังไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะเสนอให้กู้เงินเพิ่มนำเงินกู้ยอดใหม่มาชำระหนี้ยอดเก่าที่มีดอกเบี้ยและเงินค่าปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเข้าไปด้วย การเพิ่มวงเงินกู้นี้อาจเกิดขึ้นหลายครั้งจนสุดท้ายยอดเงินกู้เท่ากับราคาประเมินของที่ดินหรือบางรายพบว่าสูงกว่าราคาประเมินที่ดินด้วย จนเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้และไม่สามารถเพิ่มวงเงินกู้ด้วยหลักทรัพย์ที่ดินแปลงเดิมอีก สุดท้ายจึงถูกเจ้าหนี้ฟ้อง ซึ่งในลักษณะนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางศาล ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูญเสียที่ดินสูงมาก เพราะลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และต้องถูกบังคับคดียึดที่ดิน"
-เพ็ญนภา หงษ์ทอง-
"หากกฎกติกาในการกู้ยืมเงินของเกษตรกรมีความเป็นธรรมมากขึ้น การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้มีแรงจูงใจและมีทรัพยากรที่เพียงพอ เกษตรกรมีทางเลือกและมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีสถาบันที่เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่มากขึ้น สังคมไทยก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่เริ่มตั้งเป้าหมายในการลดหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 12 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2575)”
-ดร.เดชรัต สุขกำเนิด-
"หากเกษตรกรเดินทางมาถึงขั้นที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ถือเป็นความจำเป็นที่เกษตรกรต้องเจรจากับสถาบันแหล่งเงินกู้ โดยรูปแบบของการเจรจามีได้หลายรูปแบบ เช่น ขอขยายเวลาชำระหนี้ ขอลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละงวด ขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ไม่ผิดนัดชำระ ขอหยุดดอกเบี้ย ขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับ ขอโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือแม้กระทั่งการขอลดยอดหนี้ลงบางส่วนเพื่อให้สามารถชำระหนี้คืนได้"
-ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์-
"ในภาพรวม ชาวนาและเกษตรกรที่มีหนี้สินต้องจัดปรับกระบวนทัศน์และวิถีการผลิตใหม่หลายประการ โดยต้องทำกิจกรรมการผลิตในหลายด้าน หรือสร้างเศรษฐกิจหลายขาเพื่อให้มีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น งานศึกษาหลายชิ้นพบตรงกันว่า การผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ดี และลดผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้"
-ดร.ปิยาพร อรุณพงษ์-
ราคาเล่มละ 160 บาท (รายได้สมทบเข้ากองทุนสนับสนุนการแก้หนี้และปรับตัวของชาวนา)
สามารถสั่งซื้อหนังสือโดยวิธีการ inbox มาที่ : www.facebook.com/LocalAct