เว็บไซต์สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินจากทุกภูมิภาค ร่วมเวทีสัมมนา “การระดมความเห็นและข้อเสนอ ต่อแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้,การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคประชาชน” เพื่อเตรียมยื่นต่อ คสช.
นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวถึงการจัดเวทีดังกล่าว เป็นการที่ประชาชนจากทั่วประเทศมาร่วมกันทำงาน เพื่อเรียกร้องและรักษาสิทธิในเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยมีเรื่องหลักๆ คือสิทธิในขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับความคุ้มครอง เพราะทรัพยากรเป็นสิทธิที่ชุมชนสามารถร่วมใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ ซึ่งสิทธิชุมชนนี้มีมาแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 ขณะเดียวกันต่างประเทศได้ให้ความสนใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำในสิทธิเป็นอย่างมาก ฉะนั้นรัฐควรกระจายอำนาจสู่ชุมชนให้ท้องถิ่นมีสิทธิส่วนร่วม รัฐต้องร่วมสนับสนุนแผนการจัดการทรัพยากรตามสิทธิชุมชน
อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการกำหนดแผนแม่บทป่าไม้ฯ และคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ได้ก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบกับประชาชนไปทั่วภูมิภาค โดยมี 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้ดูบริบทของคำสั่ง ฉบับที่ 66/2557 ที่ระบุว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ
นิรันดร์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากมีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี หรือประมาณ 6-7 เดือน ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนถึงผลกระทบส่งมามากกว่า 44 คำร้อง 20 จังหวัดจากทั่วประเทศ และแน่นอนว่ายังมีการร้องเรียนตามมาอีกเช่นกัน จึงเป็นความประสงค์หลักของการจัดเวทีสัมมนาขึ้นมาร่วมกันอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิได้กระจายจัดขึ้นไปตามแต่ละภาคในช่วงที่ผ่านมา ฉะนั้นครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อนำข้อมูลผลกระทบของแต่พื้นที่ แต่ละภาคมารวมกัน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและเตรียมเสนอแผนแม่บทป่าไม้ภาคประชาชน ต่อ คสช.เป็นการต่อไป
“หากความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างรัฐบาลกับคนจนและนายทุนที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด ยังไม่มีการกระจายการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ถูกต้อง เป็นธรรม จึงจำเป็นยิ่งที่รัฐบาลควรต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม คำนึงถึงความมั่นคงของมนุษย์ และควรยุติการยึดคืนผืนป่า การจับกุม ไล่รื้อ และตัดฟันพืชผลอาสินจากประชาชน เพราะหากรัฐยังมองในบริบทของแผนการจัดการป่าไม้โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม แน่นอนว่าความปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง “ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าว
ที่มา : ประชาไท วันที่ 22 พ.ค. 2558