กระทรวงเกษตรฯ ชี้หากไม่ทำอะไรอนาคตของภาคเกษตรไทยจะไปไม่รอด พบเกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีรายได้ปีละแค่ 12,000 บาท แถมมีหนี้สิน 60,000 บาท ด้านทีดีอาร์ไอปลอบใจราคาสินค้าเกษตรไม่ตกต่ำสุดเหมือนในอดีต เพราะภูมิภาคเอเชียมีคนชั้นกลางมากขึ้น เพียงแต่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน
นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการสัมมนาเรื่อง “อนาคตเกษตรไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก” ว่า เกษตรกรไทยยังมีฐานะยากจน โดยกว่า 1.3 ล้านครัวเรือนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยมีรายได้ประมาณ 12,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และครัวเรือนภาคการเกษตรมีภาระหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 60,000 บาท/ครัวเรือน และมีความชัดเจนว่าเกษตรกรที่ทำการเกษตรอย่างเดียวไม่พออยู่พอกิน จะเห็นได้จากรายได้ภาพรวมของเกษตรกรไทยปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 183,662 บาท/ครัวเรือน/ปี รวมรายได้ภาคการเกษตรเพียง 62,705 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรไทยยังมีปัญหาอายุมาก โดย 32% อายุเกิน 60 ปี และมีอายุเฉลี่ย 55 ปี ขณะที่มีการศึกษาน้อย โดยหัวหน้าครัวเรือน 80% จบประถมศึกษา และ 1% จบระดับอุดมศึกษา ขณะที่รายได้เงินสดสุทธิภาคการเกษตร เฉลี่ย 56,944 บาท/ครัวเรือน รายได้สุทธิครัวเรือนเฉลี่ย 159,030 บาท/ครัวเรือน
นอกจากนั้น เกษตรกรกว่า 70% มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยกว่า 30 ไร่ ซึ่งทำให้รายได้จากภาคการเกษตรอยู่ที่เส้นความยากจน โดยมีเนื้อที่ทำกินเฉลี่ย 25 ไร่เท่านั้น อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนกว่า 80% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ โดยสามารถผลิตข้าวได้เพียง 500 กก.ต่อไร่ เทียบกับเวียดนาม 900 กก.ต่อไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 700 กก.ต่อไร่ เทียบกับสหรัฐอเมริกา 1,700 กก.ต่อไร่ และผลิตปาล์มน้ำมันได้ 3.3 ตันต่อไร่ เทียบกับมาเลเซียที่ 3.5 ตันต่อไร่
นายอภิชาติกล่าวว่า ภาคเกษตรของไทยยังต้องผจญกับปัญหาของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยน แปลง ประกอบด้วยภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เกิดภาวะแล้ง น้ำท่วม การค้าการลงทุน การติดต่อสื่อสาร คมนาคม ที่เปลี่ยนแปลงไป และคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ดังนั้น หากภาคการเกษตรไม่ทำอะไรอนาคตของภาคเกษตรไทยจะไปไม่รอด
ดังนั้น ภาครัฐต้องดำเนินการวิจัยและค้นคว้าพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับภูมิอากาศให้มากขึ้น พร้อมกับดำเนินการเจรจากับต่างประเทศเพื่อให้บริการข้อมูลที่ถูกต้อง และเชื่อมโยงข้อมูลให้มีความสะดวกในการสืบค้น ขณะที่เกษตรกรไทยจะต้องปรับตัวเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของทั้งเทคโนโลยีและนำผลการวิจัยค้นคว้าไปปฏิบัติ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่มีใครที่จะช่วยได้เท่ากับการช่วยเหลือตนเอง รวมทั้งต้องร่วมกับภาคเอกชนในการใช้กระบวนการที่ยั่งยืนและวางแผนการผลิตร่วมกัน
ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สินค้าเกษตรในปัจจุบันเป็นช่วงขาลง เป็นผลมาจากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวตามราคาน้ำมันและจากปัญหาค่าเงิน รวมทั้งถูกซ้ำเติมด้วยภาวะฝนแล้ง แต่ราคาที่ลดลงจะไม่ต่ำสุดเหมือนในอดีต เพราะรายได้เฉลี่ยต่อหัวของแต่ละประเทศเปลี่ยนไปและกำลังซื้อมีมากขึ้น ในขณะที่แถบเอเชียมีคนชั้นกลางมากขึ้น และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน
ดังนั้น เกษตรกรไทยจะต้องปรับตัวผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ใช้ความรู้มากขึ้น ปรับจากฟาร์มครัวเรือนเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ต่อหัวภาคเกษตรสูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ คนหนุ่มสาวที่มีความรู้จะกลับเข้าสู่ภาคการเกษตร แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการสร้างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางราคาของตลาดได้ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถใช้วิธีการอุดหนุนราคาหรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรได้อีกแล้ว
นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ บริษัท เจริญ-โภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลการประชุม 13 บริษัทของผู้ผลิตอาหารโลก ในกรณีที่ประชากรในโลกนี้จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน ในปี 2563 ขณะที่สภาวะอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทำให้ทั่วโลกวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร และการผลิตสินค้าเกษตรต้องอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมตัวทุกอย่างต้องดีหมด ในฐานะที่ไทยมีที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ดี ตั้งอยู่ในใจกลางของผู้บริโภคถึง 4,000 ล้านคน ทั้งรัสเซีย จีน เกาหลี ตะวันออกกลาง ที่เชื่อมโยงการขนส่งได้ทั้งทางบกและน้ำ เป็นสะดือของเออีซี
“ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยขาดการพัฒนาในทิศทางที่ควรจะเป็น การทำงานด้านการเกษตรเป็นไปแบบงูๆปลาๆ แต่ยังเลี้ยงโลกได้ สามารถส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิดได้เป็นอันดับ 1 ของโลกแสดงให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพมาก ดังนั้น โอกาสของไทยมีแน่ในการจะเป็นครัวของโลก และเป็นฮับของภาคการเกษตรในโลกนี้ แต่เกษตรกรต้องปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ใส่ใจด้านคุณภาพ ชื่อว่าทำได้เพราะคนไทยไม่ได้โง่ไปกว่ายิว อย่างไร ก็ตาม ภาครัฐต้องสนับสนุนภาคการเกษตรมีวิสัย-ทัศน์กว้างไกลใช้ภาคการตลาดนำแผนการผลิต จะทำให้เกษตรกรไทยไปถึงเป้าหมายได้”
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 15 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.