สปช.เล็งผ่าตัดใหญ่ภาคการเกษตรไทยสู่การปฏิรูปเกษตรแนวใหม่เลิกเป็นทาสประชานิยมนักการเมือง เสนอตั้งกองทุนบำนาญเกษตรกร จูงใจคนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพ จวกรัฐบาลในอดีตส่งเสริมปลูกยางทั่วประเทศ ทำราคาตกต่ำยาว ระบุต้องโซนนิ่ง ด้าน "อลงกรณ์" ชูยุทธศาสตร์ "ประเทศสีเขียว" พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดบน เพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยในเวทีโลก ฝันอีก 20 ปีเกษตรกร มั่งคั่ง
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ คนที่ 2 และประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปภาคเกษตรฯสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปภาคเกษตรฯ ได้รายงานชี้แจงต่อที่ประชุมสภาถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนปฏิรูปภาคการเกษตรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการใช้ปุ๋ยสั่งตัด การปฏิรูปสหกรณ์เพื่อการเกษตร เป็นต้น รวมถึงการพิจารณาผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพืชตามฤดูกาลที่ให้ผลผลิตออกมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน สินค้าเกษตรส่วนใหญ่พึ่งพิงตลาดส่งออก นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมราคาได้
นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรยังสูงทั้งจากการขาดข้อมูล หรือการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ การถูกผูกขาดจากบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งครอบงำตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างของเกษตรกรซึ่งมีความอ่อนแอเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงราคาและประชานิยม มีผลเกษตรกรไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกัน เพราะสามารถพึ่งพิงนักการเมืองท้องถิ่นและให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคา ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องมีการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้านนายเดชฤทธิ์ ปัญจมูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่าจะต้องมีการจัดทำข้อมูลสำมะโนเกษตรกร โดยระบุข้อมูลที่ดิน ที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ พืช สัตว์ การประมง เพื่อนำไปวิเคราะห์วิจัยเรื่องแหล่งน้ำ และเรื่องพัฒนาระบบการเกษตรของไทยในอนาคต นอกจากนี้เสนอให้มีกองทุนบำนาญเกษตรโดยมีรูปแบบโครงสร้างคล้ายกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อเป็นการจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับมาสืบทอดและอยู่ในภาคเกษตรมากขึ้น
รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่ผ่านมาถือว่าไม่ได้รับความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างยางพารา ได้ส่งเสริมกันปลูกทั่วประเทศ ขาดการบริหารจัดการที่ดีของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ราคายางตกต่ำจนถึงทุกวันนี้ เป็นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาควรแยกส่งเสริมว่าภาคใดเหมาะกับพืชชนิดใดมากกว่าเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
สอดคล้องกับนายจำลอง โพธิ์สุข สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า คนไทยมีอาชีพเกษตรกรรม 5-6 ล้านครัวเรือน คิดเป็นประชากรกว่า 3 ล้านคน พื้นที่เพาะปลูกกว่า 150 ล้านไร่ แต่ให้ผลผลิตและรายได้ต่ำ อาทิ ข้าว ผลผลิตของไทยถือว่าต่ำมาก เฉลี่ย 400 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านผลผลิตเฉลี่ยที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้นควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่ารัฐบาลใดควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตรโดยสามารถพึ่งพาตนเองได้
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน กล่าวว่า ไทยมีความเหมาะสมในการที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าของอาเซียน หากสภาปฏิรูปแห่งชาติมีการวางเป้าหมายให้เป็นประเทศสีเขียว (Green Nation)ในอนาคต จะต้องวางแนวคิดใหม่จากการขายผลผลิตด้านการเกษตร เช่นการขายข้าวเป็นกิโลกรัม การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปสินค้า เป็นต้น ภาคการเกษตรของไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกด้านอาหารไปยังตลาดโลกน้อยมาก เพราะปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.9% ของตลาดโลกเท่านั้น แสดงว่าประเทศไทยยังสามารถขยายด้านการส่งออกได้อีกมาก
ทั้งนี้เกษตรกรยังขาดความเชื่อมโยงทางด้านต่างๆ ในการสร้างโมเดลเพื่อให้เกษตรกรของไทยมีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตด้านอาหารและด้านพลังงาน จะต้องมีการกำหนดนโยบายในการผลิตเพื่อเป็นอาหาร การผลิตเพื่ออุตสาหกรรมและการผลิตพลังงาน เช่น การผลิตข้าวเพื่อเป็นอาหารและสามารถแปรรูปข้าวเพื่อเป็นยา หรือเครื่องสำอาง หรือการแปรรูปพืชเป็นพลังงานทดแทน จะต้องมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,052 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 13 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.