เผยข้อมูลลูกหนี้ ธ.ก.ส. ล่าสุด ณ 31 ม.ค.58 ก่อนชง "ครม.ประยุทธ์" ไฟเขียว 3 โครงการย่อยช่วยเกษตรกรรายย่อย ยอดพุ่ง 3.5 ล้านราย หนี้สินรวม 7 แสนล้าน เฉลี่ย 2 แสนบาท/ราย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด 3.2 แสนราย วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. 3 โครงการย่อย ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ได้แก่
1. โครงการปลดเปลื้องหนี้ กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพหรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ประมาณ 28,000 ราย หนี้สินประมาณ 4,000 ล้านบาท
2. โครงการปรับโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำที่ผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพแต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก ประมาณ 340,000 ราย หนี้สินประมาณ 48,000 ล้านบาท
3. โครงการขยายเวลาชำระหนี้ กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ ประมาณ 450,000 ราย หนี้สินประมาณ 64,000 ล้านบาท
กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558-31 มีนาคม 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ธ.ก.ส. ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูล ธ.ก.ส. พบว่า ณ วันที่ 31 ม.ค.58 เกษตรกรลูกค้าของธนาคาร จำนวน 3,522,766 ราย มีหนี้สินรวม 766,433 ล้านบาท หนี้สินเฉลี่ยต่อราย 217,577 บาท และเป็นลูกค้าที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จำนวน 325,654 ราย (ร้อยละ 9.24 ของเกษตรกรลูกค้าทั้งหมด ) หนี้สินรวมจำนวน 79,206 ล้านบาท (ร้อยละ 10.33 ของหนี้สินทั้งหมด)
ภาระหนี้สินดังกล่าวเกิดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ตลาดจนการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้า
ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้ทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส.ภายใต้มาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมของ คสช. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินและบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรรายย่อย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน
เบื้องต้น ที่ประชุม ครม. รับทราบตามข้อเสนอ และให้ ธ.ก.ส. รับผิดชอบงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 10 พ.ค. 2558