กระแสการปลุกคนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านยักษ์ใหญ่ค้าปลีกที่กระหึ่มในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก กลายเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างถึงการทำธุรกิจในลักษณะปลาใหญ่บีบปลาเล็ก ไม่รับผิดชอบต่อคู่ค้า สังคม และการรักษาห่วงโซ่ธุรกิจ จนชวนให้ช่วยกันขบคิดว่า การทำธุรกิจที่เกี่ยวพันกับคู่ค้าและมีการทำตลาดตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้าควรเป็นอย่างไร
อนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจในยุคนี้ ผู้ประกอบการต้องมีธรรมาภิบาล มีการจัดการการควบคุมดูแลกิจการต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองคลองธรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องทำ เพื่อให้ทุกระบบในกลไกของตลาดสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่รับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ หรือกระทั่งซัพพลายเออร์ ต้องอยู่ร่วมกันได้
ยิ่งในปัจจุบันพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป กลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชั่น วายได้ยกระดับเป็นกลุ่มมีอุดมการณ์สูง รักความถูกต้อง หากสินค้าหรือองค์กรทำให้เกิดการกระทบกระเทือนจิตใจหรือทำลายสังคม จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นมาทันที
ดังนั้น องค์กรที่ดีมีธรรมาภิบาลต้องประกอบด้วย 4 ด้าน 1.สร้างการปกครองที่ดี 2.มีความโปร่งใส 3.สร้างความเชื่อถือในสายตาผู้อื่น 4.สร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน จะช่วยสร้างเกราะกำบังและทำให้ผู้บริโภคมีความรักในแบรนด์
ปัจจุบันมีหลายบริษัทดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้าจำนวนมาก แต่เลือกที่จะไม่บีบรายย่อยให้ตายไปจากระบบ แถมยังช่วยยกระดับธุรกิจ หรือกระทั่งซัพพลายเออร์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดอีกด้วย
นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องดำเนินการ มิใช่มุ่งหวังแต่กำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว สำหรับรายเล็กก็ต้องปรับตัวให้เร็ว พัฒนาให้พร้อมทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะสุดท้ายการแข่งขันผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือไม่ซื้อนั่นเอง
“หลักปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นเรื่องของการแข่งขันอย่างเสรีที่ผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่รายใหญ่ที่กุมอำนาจทั้งช่องทางร้านค้าปลีกค้าส่ง กระบวนการผลิต ก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง สร้างการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การค้าขายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดไม่ใช่คำตอบการทำตลาดในยุคนี้ ต้องคำนึงถึงกระแสสังคม สิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ส่วนรายเล็กหากไม่สามารถปรับตัวอยู่ได้ สุดท้ายก็จะสูญหายจากตลาดไป”
ชลิต ลิมปนะเวช นักการตลาด กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้า หรือทฤษฎีปลาใหญ่กินปลาเล็ก ต้องทำอย่างมีธรรมาภิบาล อยู่บนพื้นฐานรายย่อยหรือรายเล็ก สามารถอยู่ร่วมในตลาดได้ ไม่ใช่บีบให้ตายจนหมด และทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ต้องซื้อสินค้าขององค์กรตัวเองเท่านั้น หากองค์กรใหญ่ทำในลักษณะดังกล่าว ทำให้ห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ถูกบิดเบือน
ในยุคนี้ผู้ประกอบการต้องไม่มุ่งการค้าการขายได้กำไรสูงสุด แต่ต้องทำให้โลกอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรคู่ค้า ซัพพลายเออร์ พนักงานในองค์กร และผู้บริโภค กำไร ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้
คนทำธุรกิจต้องยึดหลักการตลาดยุค 3.0 ประกอบด้วย 3P คือ People ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จึงเกิดกระแสการทำตลาดเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ ช่วยเหลือสังคมหรือชุมชน Planet ทำเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม และ Profit เพื่อผลประโยชน์และสร้างกำไร
“ผู้ผูกขาดทางธุรกิจตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้าที่ดี ต้องส่งไม้ต่อให้ซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตสินค้าให้อยู่ได้ ข้อดีของการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้า ส่วนหนึ่งป้องกันวัตถุดิบขาดแคลน และสามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ในกรณีสินค้ามีปัญหาจะรับรู้ทันทีว่าเกิดขึ้นจากขั้นตอนใด นอกจากนี้ยังเป็นการบริหารต้นทุนการผลิตได้ทั้งกระบวนการ” ชลิต แสดงทัศนะ
ย้อนไปเมื่อในอดีต เบียร์ช้างแทบจะครอบครองตลาดเบียร์อย่างเบ็ดเสร็จ โดยใช้กลยุทธ์ขายพ่วง แต่ก็ไม่ได้บีบให้ค่ายคู่แข่งต้องตายไป และหลังจากมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์ ไทยเบฟเวอเรจก็ตัดสินใจเลิกระบบขายพ่วงเบียร์กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเครือ เพื่อสร้างธรรมาภิบาลให้กับธุรกิจ แม้กระทั่งบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจต้นนํ้ายันปลายนํ้า แต่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กลไกตลาดบิดเบือนธุรกิจรายใหญ่ที่ผูกขาดการค้าการขายมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดกลุ่มธุรกิจอาหาร เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารพร้อมทาน ค้าปลีกส่งและร้านค้าปลีก หรือกระทั่งธุรกิจอาหารสัตว์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด การกุมอำนาจค้าปลีก และลดพื้นที่วางสินค้าลง การโคลนนิ่งสินค้าและแข่งขันกับซัพพลายเออร์ด้วยกันเอง ผิดหลักธรรมาภิบาล เพราะหากสินค้าดีจริง มีคุณภาพ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจซื้อเอง
ขณะที่ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กระแสการแบนไม่เข้าร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่นนั้น ต้องแยกก่อนว่าธุรกิจร้านเซเว่นฯ ไม่ใช่การผูกขาด เพราะหากผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าไม่ซื้อสินค้าจากเซเว่นฯ ผู้ซื้อก็สามารถซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ได้ เช่น ท็อปส์ บิ๊กซี แฟมิลี่มาร์ท และคอนวีเนี่ยนสโตร์ต่างๆ จึงไม่ใช่การผูกขาดธุรกิจขายสินค้าปลีก
แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ธุรกิจร้านเซเว่นฯ ที่กลุ่มซีพีเป็นเจ้าของนั้น อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายเอาเปรียบธุรกิจที่เป็นคู่ค้าตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ อันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่นหรือเพื่อมิให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจ หรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ”
เดือนเด่น ระบุว่า การทำธุรกิจของเซเว่นฯ มีหลายประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะต้องเข้าไปพิสูจน์ว่ามีการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ระหว่างเซเว่นฯ และกลุ่มซีพีที่อำนาจต่อรองสูงกับซัพพลายเออร์รายย่อยที่นำสินค้าไปขายในเซเว่นฯ เพราะรูปแบบการทำงานที่มีการขอตรวจสอบกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนในการผลิตสินค้า รวมทั้งสูตรการผลิตสินค้าของซัพพลายเออร์บางราย และต่อมาเซเว่นฯ ก็ผลิตสินค้านั้นๆ มาขายเอง และยกเลิกไม่ให้นำสินค้าจากซัพพลายเออร์รายนั้นๆ เข้ามาวางขาย โดยอ้างว่าเป็นสินค้าที่เซเว่นฯ พัฒนาขึ้นมาเอง ไม่ได้ลอกสูตรจากใคร ประเด็นตรงนี้จะต้องมีคนที่เข้าไปพิสูจน์ และผู้ที่ต้องทำหน้าที่นี้ก็คือกระทรวงพาณิชย์
“การจัดการปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรม กระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายให้อำนาจไว้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ ในมาตรา 29 โดยมีอำนาจเข้าไปพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่างๆ ว่าเข้าข่ายเป็นการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ถ้ากระทรวงพาณิชย์ยังเฉยไม่ทำอะไร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ที่เป็นซัพพลายเออร์ผลิตสินค้าต่างๆ ส่งไปขายในเซเว่นฯ จะอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘อยู่ยาก’ และการที่เซเว่นฯ ชี้แจงว่าไม่ได้ผูกขาดธุรกิจโดยให้ดูจากมาร์เก็ตแชร์และยอดขายรวมนั้น ก็น่าจะเป็นการเบี่ยงประเด็น เพราะประเด็นในเรื่องนี้คือการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม มีธุรกิจรายใหญ่ที่เอาเปรียบธุรกิจรายย่อย และหน่วยงานของรัฐก็ไม่ลงมากำกับดูแล ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอยู่ในมือ”เดือนเด่น ชี้ปมปัญหา
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 พ.ค. 2558