ชื่อของ "พ.อ.สมหมาย บุษบา" คณะทำงานด้านกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 เป็นที่รู้จักและคุ้นหูคนในสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ หลังภารกิจทวงคืนผืนป่า ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มขึ้นด้วยปฏิบัติการตรวจค้น สนามแข่งรถโบนันซ่า สปีดเวย์ เขาใหญ่นครราชสีมา ฐานกำลังของฝ่ายการเมืองสังกัดสี
พ.อ.สมหมาย ได้รับมอบหมายภารกิจพิเศษจาก คสช.เพื่อติดตามที่ดินของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติ ไปในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีกลไกค่อนข้างซับซ้อน มีอิทธิพลและผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้องมากมายหลายมิติ จึงต้องใช้ความมุ่งมั่น และความแม่นยำในข้อกฎหมายเป็นอย่างดี ที่เขาจะเข้าต่อกรกับพฤติกรรมที่เป็นขบวนการ
"จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บุกรุกนั้น จะเป็นผู้ที่ได้ครอบครองสิทธิ และเมื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดก็จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนสนิทของบุคคลทางการเมือง แต่บางราย เมื่อตรวจเอกสารก็พบว่า หน่วยงานราชการเป็นผู้นำสิทธิและสาธารณูปโภคไปให้ถึงบ้าน ซึ่งที่ดินส่วนกลางที่ประชาชนเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันก็นำไปให้คนที่บุกรุกและเมื่อได้สิทธิครอบครองก็จะนำสิทธินั้นไปเปลี่ยนมือเป็นนายทุน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นนักการเมือง ซึ่งทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบนี้" พ.อ.สมหมายเปิดภาพขบวนการเบียดบังทรัพยากรชาติระหว่างเปิดใจต่อ "คม ชัด ลึก"
ปัญหาใหญ่ที่ พ.อ.สมหมาย วิเคราะห์ไว้ก็คือ การบุกรุกเพื่อการครอบครองเป็นของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในอนาคต เพราะนโยบายรัฐจัดสรรให้ในเวลาต่อมา จนการบุกรุกเป็นความเคยชิน
"ผมคิดว่า ควรบังคับใช้กฎหมายตามหลักรัฐศาสตร์นำตั้งแต่ต้น โดยการชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบว่า บ้านเมืองจำเป็นต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นปอด ซึ่งต้องรักษาระบบนิเวศ เช่น ป่าเขา ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบนิเวศเอาไว้ หากไม่ดูแลป้องกันก็จะถูกแผ้วถางป่ากันเพิ่มมากขึ้น" เสนาธิการใหญ่แห่งขบวนทัพทวงคืนผืนป่ายกตัวอย่างให้เห็นสภาพการบุกรุกแผ้วถางที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันว่า สัตว์ป่าเริ่มออกมาสู่ชุมชนกันมากขึ้นและบ่อยครั้ง นั่นคือ สัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่า มนุษย์ได้ล้ำเขตแดนไปสู่ป่า ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อไม่มีป่า สัตว์ต่างๆ ก็ต้องออกหาแหล่งที่อยู่ใหม่
การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้จากภาครัฐ นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องขบให้แตกเพื่อนำไปสู่การรักษาสมบัติชาติอย่างยั่งยืน มือกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 วิเคราะห์ว่า การบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อยังชีพมีมานานแล้วจะว่าอยู่คู่กับสังคมไทยเลยก็ได้ เมื่อรัฐในอดีต (ประมาณ พ.ศ.2500 หรือนานกว่านั้น) จัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อการจัดที่ดิน โดยกำหนดพื้นที่ไว้เป็นโซนๆ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้จัดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นอุทยาน เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ขณะเดียวกันก็กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับส่วนกลาง เพราะในช่วงที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยง ซึ่งหากบริหารจัดการได้ดี ประชากรก็ไม่จำเป็นต้องบุกรุกเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ที่ดินภาคอีสานบางพื้นที่ สามารถใช้เพาะปลูกได้เพียงปีละ 3-4 เดือนเท่านั้น เวลาที่เหลืออีกหลายเดือนก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร
“หากมีการบริหารจัดการให้สามารถใช้ได้ทั้งปี มั่นใจว่าจะไม่มีผู้บุกรุกป่าเพิ่มขึ้นจากเดิม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะให้ความรู้แก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชชนิดอะไร เนื่องจากในทุกวันนี้ เกษตรกรมักจะเพาะปลูกตามกระแส หรือตามราคาของพืชผลการผลิต เช่น หากพื้นที่นี้มีการปลูกยางที่ได้ราคา เกษตรกรก็จะพากันปลูกยางกันเต็มพื้นที่ ก็จะทำให้เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ออกมาล้นตลาด และก็ไม่ได้ราคา เมื่อไม่ได้ราคาก็จะทำให้เกษตรกรต้องไปหาหยิบยืมเงินจากที่ต่างๆ ทำให้เข้าสู่วงจรหนี้สินที่ไม่มีทางแก้” นั่นจึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดการบุกรุกกันใหม่อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
"ผมจึงคิดว่า นโยบายต่างๆ ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาจะต้องช่วยเหลือเกษตรกรได้ครอบคลุมในทุกๆ เรื่อง และเมื่อกำหนดนโยบายออกมาแล้วก็จะต้องติดตามดูว่า จะเกิดผลกระทบตามมาหรือไม่ ถ้าหากจะมีก็ต้องเตรียมการแก้ไขเอาไว้ด้วยเช่นกัน" พ.อ.สมหมาย บอกด้วยว่า การบริหารจัดการตามนโยบายจะต้องทำให้ต่อเนื่องด้วย เพราะไม่เช่นนั้่นแล้วจะเกิดความเสียหายอย่างมากต่อความสมดุลของการใช้พื้นที่
ในมุมมองของ พ.อ.สมหมาย เขาเห็นว่า การบุกรุกที่ดินหรือผืนป่านอกจากมาจากนโยบายรัฐแล้ว การหาเสียงด้วยนโยบาย "จัดสรรที่ดินทำกิน" ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อได้รับเลือกตั้งไปแล้วไม่มีที่ดินมาจัดสรรให้ได้ตามสัญญา จึงเกิดการอนุโลมให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ อย่างเช่น ป่าสงวน
"แต่ในเชิงของประชาชนรายเล็กรายน้อย และคนยากจนจริงๆ ผมคิดว่า เขาไม่กล้าที่จะไปละเมิดในที่ดินของรัฐ แม้แต่รายเดียว โดยตามความเป็นจริงคนที่ยากจนจริงๆ ก็หาเช้ากินค่ำที่หลับนอนก็แทบจะไม่มี บางรายต้องไปอาศัยนอนตามใต้สะพานลอย คนพวกนี้ไม่มีทางไปบุกรุกที่ดินของรัฐแน่นอน"
ดังนั้น พ.อ.สมหมายมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลจะต้องทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเสียใหม่ ตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรี ที่จะต้องชะลอการบังคับใช้ไปก่อน อย่างเช่น มติให้แจกที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้ ที่อาจจะไม่ใช่คนยากจนจริง
"เป็นพวกที่อยากจน ขอย้ำว่า อยากจน เพราะทุกครั้งที่ตรวจพบก็จะเป็นผู้ที่อยากจน ดังนั้นเมื่อไม่สามารถที่จะลงรายละเอียดในสิ่งเหล่านี้ได้ก็เหมือนเป็นการไปส่งเสริมคนทำผิดต่อรัฐ ที่ไปบุกรุกและกลับได้สิทธิ ดังนั้นก็เหมือนกับแก้ปัญหาโดยกลับไปส่งเสริมให้คนทำผิด และในปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ว่า ในหมู่บ้านแต่ละแห่ง มีใครบ้างที่เป็นผู้ยากไร้ หรือยากจนและลำบากจริง"
พ.อ.สมหมาย ย้ำหลายครั้งว่า "ในปัจจุบันไม่มีที่ดินมาแจกกันแล้ว มีแต่การถือครองของกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ อย่างเช่น การปฏิรูปที่ดินที่ได้มอบให้ราษฎรเพื่อนำไปทำเป็นพื้นที่ทำกิน ก็จะต้องตรวจสอบว่ายังคงอยู่ในมือของราษฎรจริงหรือไม่ และได้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ที่ทาง ส.ป.ก.ให้ไปหรือเปล่า แต่สิ่งที่ได้จากการตรวจสอบและการร้องเรียนพบว่า ไม่ได้อยู่ในมือของราษฎร แต่กลับไปอยู่ในการครอบครองของนายทุน เป็นที่ดินขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป โดยบางจุดถูกนายทุนเพียงรายเดียวครอบครองเป็นเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่"
การได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นเสมือนหลักประกันความถูกต้องตามกฎหมายของที่ดินแปลงนั้นๆ บางครั้งอาจมีขบวนการ "ทำผิดให้เป็นถูก" เกิดขึ้นได้ ซึ่ง พ.อ.สมหมาย แม้จะยืนยันว่าไม่ได้หนักใจอะไรกับการเข้าดำเนินการกับทางคืนที่ดิน "คนดัง" แต่ก็ยอมรับว่า นี่คือปัญหาใหญ่และเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง
"ผมไม่หนักใจอะไรกับการทำงานในครั้งนี้ เพราะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจได้ ก็เข้าใจว่าทุกคนที่อยากมีที่ดินก็อาจจะไปซื้อมาโดยที่ไม่รู้ว่าที่ดินนั้นได้มาโดยถูกต้อง เพียงเมื่อเห็นว่ามีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องก็ต่างพากันจับจองด้วยความสุจริตเพื่ออนาคตไว้เป็นที่พักผ่อนเมื่อยามแก่เฒ่า แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินที่ได้มานั้น ได้มาโดยมิชอบ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการ" กระนั้นก็ตาม ถ้าหากรายใดไม่สามารถทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไม่ถูกต้องได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่ยอมคืนที่ดิน พ.อ.สมหมายประกาศว่า จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยว่า เมื่อหมดยุค คสช.แล้วนโยบายทวงผืนป่าก็จะเงียบตามไปด้วยนั้น เขาเห็นว่า ถ้าสังคมส่วนร่วมเห็นตรงกันว่าที่ดินของรัฐเป็นของส่วนรวม ไม่ควรมีใครผู้ใดมีสิทธิเขาไปครอบครองแม้ คสช.จะหมดอำนาจไปแล้ว การทวงคืนผืนป่าก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาดำเนินการต่อ พร้อมๆ กับแนวทางการจัดการที่ดินในแต่ละชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
"จะต้องมีความร่วมมือกันภายในชุมชน ที่จะช่วยป้องกันรักษาพื้นที่สาธารณะหรือทำเลเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากคนในชุมชนจะรู้อยู่แล้วว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะมีการใช้ร่วมกันตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่ในปัจจุบันผู้ที่เข้าไปครอบครองส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางด้านการเงิน ทางการเมือง ทำให้คนไม่กล้าพูดหรือออกมาปกป้องพื้นที่ของตนเอง ดังนั้นผมจึงคิดว่า ในปัจจุบันกองทัพได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น ดังนั้นถ้าประชาชนได้รับรู้แล้วว่ากองทัพกำลังทำอะไรและทำเพื่อใคร ก็ต้องพิจารณาว่า สังคมยังต้องการที่จะให้ป่าไม้กลับไปเป็นของนายทุนอยู่หรือไม่"
ในตอนท้าย พ.อ.สมหมาย ฝากถึงผู้ที่คิดจะบุกรุกพื้นที่รัฐเอาไว้ว่า
"อายุขัยของคนเรานั้น ส่วนใหญ่อยู่ไม่ถึง 100 ปี จะอยู่เชยชมอะไรต่างๆ ไม่ได้มากมาย จึงอยากให้คิดว่า ไม่ต้องเอาไว้เผื่อลูกเผื่อหลาน เพราะอนาคตลูกหลานเราก็จะหามาได้ด้วยปัญญาของพวกเขา ณ วันนี้เท่าที่มีก็น่าจะเพียงพอ และให้ดำรงชีวิตภายใต้แนวความคิดอยู่อย่างพอเพียง อยากให้หันไปถามตัวเองว่า เราต้องการที่ฌาปนกิจเท่าไรถึงจะพอ เพราะสุดท้ายแห่งชีวิตแล้ว คนเราทุกคนต้องใช้พื้นที่ให้พอเพียงกับขนาดกว้างศอก ยาววา หนาคืบ หรือก็แค่เผา ไม่มีใครเอาอะไรติดตัวไปด้วยได้"
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 4 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.