คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกันภัยข้าวนาปี ปี 58 ครอบคลุม 1.5 ล้านไร่ ใช้งบ 4.76 แสนล้าน คุ้มครองภัย 7 ประเภท วงเงิน 1,111 บาท/ไร่ สำหรับ 6 ภัยธรรมชาติ และ 555 บาท/ไร่ สำหรับภัยศัตรูพืช-โรคระบาด และอนุมัติกรอบงบ 59 ประมาณแบบขาดดุล 3.9 แสนล้าน ตั้งเป้าใช้จ่าย 2.72 ล้านบาท รายได้ 2.33 ล้านล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 28 เมษายน 2558 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
29 เม.ย. 2558 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น หนึ่งในวาระที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบคือ โครงการประกันภัยข้าวนาปี โดยเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2557 เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปดำเนินการได้ทันฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2558 วงเงินงบประมาณจำนวน 476,483,250 บาท โดยเป็นเงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ ธ.ก.ส. ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2557 จำนวน 208,471,024.74 บาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 268,012,225.26 บาท
2. ให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 268,012,225.26 บาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (FDR) + 1% ในปีงบประมาณถัดไป
3. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมส่งเสริมการเกษตรประสานงานกับสมาคมประกันภัยวินาศภัยไทย โดยผู้รับประกันภัยเอกชน (สมาคมฯ) ธ.ก.ส. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) แบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) และแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกรผู้เอาประกันภัยข้าว เพื่อรับค่าสินไหมทดแทน (แบบ กษ 02 เพื่อการรับประกันภัย) ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการรับประกันภัยและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามการประกาศภัยของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า 1. กค. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ตั้งแต่ปีการผลิต 2554 – 2557 ได้พบว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินโครงการต่ำกว่าเป้าหมายในทุกปีการผลิตมาจากโครงการฯ ในปีการผลิตที่ผ่าน ๆ มาเริ่มรับประกันภัยหลังฤดูกาลเพาะปลูกข้าวของเกษตรกร โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 27 กรกฎาคม 13 กันยายน และ 24 มิถุนายน สำหรับโครงการฯ ปีการผลิต 2554 2555 2556 และ 2557 ตามลำดับ ในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ (ยกเว้นเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง) ได้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ส่งผลให้เกษตรกรกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ในปีการผลิต 2556 และ 2557 ได้ เนื่องจากได้เริ่มเพาะปลูกไปแล้วเกิน 45 วันหลังจากวันเพาะปลูกวันแรก ซึ่งไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ นอกจากนี้ เกษตรกรจะใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ค่อนข้างมาก ประกอบกับระยะเวลาการประชาสัมพันธ์มีจำนวนจำกัด ปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการฯ ดังนั้น หากการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2558มีความล่าช้าในการเริ่มดำเนินการเหมือนกับปีการผลิตผ่าน ๆ มา จะทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์จำกัดไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรทำความเข้าใจในการดูแลความเสี่ยงด้วยตนเองโดยการประกันภัย และไม่มีเวลาให้เกษตรกรเพียงพอในการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์
2. กค. โดย สศค. ธ.ก.ส. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้หารือร่วมกับ กษ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยผู้รับประกันภัยเอกชน เพื่อดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2558 โดยเห็นควรดำเนินการรับประกันภัยต่อเนื่องจากโครงการฯ ในปีการผลิต 2557 และเริ่มดำเนินการก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวของเกษตรกร ทั้งนี้ โครงการฯ ปีการผลิต 2558 มีหลักการแนวทางการรับประกันภัย และรายละเอียดการรับประกันภัย เช่นเดียวกับรูปแบบที่ได้ดำเนินการในปีการผลิต 2557
โดยการรับประกันในปี 2558 ผู้รับประกันภัย ได้แก่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยผู้รับประกันภัยเอกชน อัตราเบี้ยประกันภัยเบื้องต้น แบ่งพื้นที่รับประกันภัย 5 พื้นที่ตามระดับความเสี่ยง 115-450 บาทต่อไร่
โดยกระทรวงการคลังได้เจรจาขอปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยจากสมาคมฯ ได้ต่ำกว่าโครงการฯ ปีการผลิต 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การลดลงของอัตราเบี้ยประกันภัยไม่มากเท่าที่ควรมาจากสัดส่วนพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่อพื้นที่เพาะปลูกรวมยังอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนเบี้ยประกันภัยที่รัฐต้องอุดหนุนอยู่ที่ 64.12-383.64 บาทต่อไร่ วงเงิน 476,483,250 บาท โดยเป็นเงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2557 จำนวน 208,471,024.74 บาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 268,012,225.26 บาท ซึ่งน้อยกว่าโครงการฯ ปีการผลิต 2557 จำนวน 18,422,971.50 บาท หรือคิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 3.72
สำหรับความคุ้มครอง ภัย 7 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเก็บ และไฟไหม้ รวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด อัตราค่าสินไหมทดแทน 1,111 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติ 6 ภัย และวงเงินคุ้มครอง 555 บาท ต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาด โดยเป็นอัตราเดียวกับโครงการฯ ปีการผลิต 2557 โดยพื้นที่เพาะปลูกเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านไร่
มติ ครม. อนุมัติกรอบงบ 59 ประมาณแบบขาดดุล 3.9 แสนล้าน
ตั้งเป้าใช้จ่าย 2.72 ล้านบาท รายได้ 2.33 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ตามรายงานของ ไทยรัฐออนไลน์ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2559 ที่ 2.72 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณที่ 3.9 แสนล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2.33 ล้านล้านบาท โดยในงบประมาณรายจ่ายนี้เป็นงบรายจ่ายประจำมากสุดที่ 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 77.2% ของงบประมาณรายจ่ายรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงสุดที่ 5.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 3.8% รองลงมา คือ งบกลาง 4.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 7% พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา กลับไปตรวจสอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 59 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 พ.ค. 58
ที่มา : ประชาไท วันที่ 29 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.