สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ร่วมโต๊ะหารือคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดขอนแก่น รุกแผนขับเคลื่อนโครงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าข้าวแบบแปลงใหญ่ หวังดันรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นโดยลดต้นทุนการผลิต และเกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า
นางราตรีพูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4ขอนแก่น (สศก.4)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องที่อำเภอซำสูงสำหรับดำเนินโครงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าข้าวแบบแปลงใหญ่ (พื้นที่ 5,000 ไร่) เป้าหมายเกษตรกร 1,000 ราย โดยคัดเลือกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักมีความสำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบัน ขอนแก่นมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 161,312 ครัวเรือน และมีพื้นที่ทำนา 2.7 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ทำการเกษตรในจังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวประมาณ 2 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวประมาณ 0.7 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 7.54 แสนตัน ผลผลิตเฉลี่ย 339กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรของจังหวัดขอนแก่นที่มุ่งให้อำเภอซำสูงเป็นต้นแบบของโครงการ “อำเภอเกษตรพัฒนา”
สำหรับศักยภาพของอำเภอซำสูง คือ อยู่ใกล้เมืองหลัก คมนาคมขนส่งสะดวก ผู้บริโภค/ตลาดมีความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรปลอดภัยของอำเภอซำสูง ภายใต้ชื่อ “ซำสูง” และ sum sung มีแหล่งน้ำใต้ดินอยู่จำนวนมากกว่าแหล่งอื่น เป็นอำเภอตัวอย่างการทำงานแบบบูรณาการเกษตรกรและผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ยังประสบปัญหา ขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ขาดความรู้การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการปลูกข้าว ขาดความรู้ด้านการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตมีค่อนข้างน้อย ขาดตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ข้าวปลอดภัย เกษตรกรขาดอำนาจในการต่อรอง ข้าวราคาตกต่ำ แต่ในทางตรงกันข้ามข้าวต้นทุนการผลิตข้าวมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับการบูรณาการกิจกรรมแต่ละหน่วยงานนั้น สถานีพัฒนาที่ดิน/สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ดำเนินการจัดทำแผนที่รายแปลงร่วมกับแผนที่ตามเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช Zoning ข้าว ตรวจวิเคราะห์คุณภาพดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์สูตรพระราชทาน รณรงค์ไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสด จัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นา ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น ดำเนินการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรมครบวงจรในพื้นที่ขนาดใหญ่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอซำสูง พัฒนาและส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิด้วยระบบGAP ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวนาให้ผลิต คัดคุณภาพ พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนปี 2558 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดส่งเสริมการรวมกลุ่มโดยการเอาวิธีการสหกรณ์ไปใช้ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ สอนแนะการจัดทำบัญชีครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP พืชผักและไม้ผล สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการควบคุมและป้องกันโรคในไก่ ส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงกระบือเพื่อการอนุรักษ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจัดทำโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานประมงจังหวัดจัดการเพิ่มผลผลิตทางด้านการประมง การทำประมงโรงเรียน การเลี้ยงปลากินพืชในสระเก็บน้ำขนาดเล็กในไร่นา โดยสศก.4 ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการ
ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดข้าว เกษตรกรรายย่อยมีการรวมพื้นที่และรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการตามระบบห่วงโซ่คุณค่า Value Chain ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐาน กลุ่มเกษตรกรสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้า โดยใช้กระบวนการสหกรณ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลผลิตด้านการเกษตรทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นางราตรีกล่าว
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร วันที่ 10 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.