การตรวจสอบการถือครองที่ดินส.ป.ก. 4-01 เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ควบคู่ไปกับการตรวจตราพื้นที่รุกป่าและอุทยานแห่งชาติ "ประชาชาติธุรกิจ" จึงถือโอกาสสัมภาษณ์ "นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส"เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 30 ล้านไร่ กฎหมายใหม่ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) และการจัดซื้อที่ดินเอกชนเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรเพิ่มในอนาคต
- การตรวจสอบการถือครองที่ดิน 30 ล้านไร่
ที่ดินที่เราจัดสรรไปแล้วประมาณ 36 ล้านไร่ แบ่งแผนงานตรวจสอบการถือครองปีละ 12 ล้านไร่ ผ่านมากว่า 6 เดือน ณ วันที่ 8 เม.ย. 58 ตรวจไปได้ 5 ล้านไร่คิดเป็น 42% พบความผิดปกติ 6,240 แปลง 113,943 ไร่ แบ่งเป็นลักษณะบุคคลภายนอกบุกรุกพื้นที่ถือครองแปลงใหญ่ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ขุดบ่อ ทำรีสอร์ต 3,306 แปลง 75,306 ไร่ และเป็นลักษณะเกษตรกรซื้อขายกันเองผิดหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก.หรือขาดคุณสมบัติ 2,934 แปลง 38,637 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งสำนวนฟ้องให้อัยการแล้ว 18 แปลง และเตรียมสรุปสำนวนฟ้องอีก 61 แปลง
ผมได้เรียกจังหวัดมาคุยแล้วว่าทำไมถึงทำค่อนข้างช้า ปรากฏว่าเกิดจากนโยบายทำงานยังไม่ชัดเจนเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร ในคู่มือที่เราส่งไปให้จังหวัดทีแรกเราไม่มีตัวชี้วัดในการตรวจสอบการเปลี่ยนมือ เราไม่มีหลักเกณฑ์พิจารณาชี้ขาดในการตัดสินใจ ความเร็วช้าในการตรวจเลยไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงทำตัวชี้วัดไปใหม่ว่าต้องตรวจดูอะไรบ้าง จะได้ตอบสังคมได้ว่าเราตรวจกันอย่างไร
เรื่องการส่งคดี เจ้าหน้าที่ก็สงสัยว่าจะให้เขาเริ่มส่งฟ้องใครก่อน และมันเยอะมาก ถ้าส่งไป 400-500 คดี เจ้าหน้าที่ก็มีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงบอกให้เขาส่งฟ้องนายทุนเป็นอันดับแรก ส่งให้หมดก่อนแล้วค่อยฟ้องเกษตรกร ตรงนี้นโยบายถึงค่อยชัดเจนขึ้น แต่ว่าก็ต้องหาทางผ่อนคลายให้เกษตรกรที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งต้องมาหารือเชิงนโยบายอีกทีว่าจะทำอย่างไร แต่ส่วนนายทุนก็ไม่ได้อยู่แล้วเพราะที่ ส.ป.ก.ต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น
ผมคิดว่าถ้าตรวจครบหมดก็น่าจะมีประมาณ 2 หมื่นราย จะส่งฟ้องหมด 2 หมื่นรายก็ไม่ไหว อาจจะออกระเบียบธรรมเนียมโอน อย่างในกฎหมายใหม่ก็เสนอให้มีการเปลี่ยนมือระหว่างเกษตรกรกันเองได้ คือเขาซื้อขายกันได้แต่ผ่านคนกลางคือ ส.ป.ก.เก็บค่าธรรมเนียมโอน อาจจะประมาณ 5-10% คล้ายกับระเบียบของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าออกระเบียบแบบนี้เขาก็จะหวงแหนที่ดินและอยากจะเช่าซื้อมากขึ้นด้วย
- กฎหมายใหม่ที่จะแก้มีประเด็นอะไรบ้าง
เรื่องหลัก ๆ มีอยู่ประมาณ 5 ประเด็น คือ 1)แก้วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุน ส.ป.ก. เราอยากนำเงินมาชดเชยให้กับเกษตรกรรายเดิมที่เขาได้ปรับสภาพที่ดินเพื่อให้เหมาะกับการทำการเกษตร เช่น ขุดสระเก็บน้ำ สร้างโรงเรือน เมื่อเขาไม่อยากจะทำเกษตรกรรมแล้ว ถ้ารัฐกำหนดราคากลางที่มากพอสมควร เขาก็จะยินดีคืนรัฐ
เมื่อก่อนเราทำลักษณะจับคู่ คือการนำเกษตรกรรายใหม่ไปดูที่ดิน ตีราคาให้ ถ้าพอใจกันก็ทำสัญญากู้ยืมเงินจาก ส.ป.ก.และเข้าทำเกษตรได้เลย แต่ถ้าเราไม่ยื่นมือไปเป็นคนกลางเขาก็จะแอบขายให้คนอื่น การตรวจสอบก็ยากและหมักหมม แต่ถ้าแก้กฎหมายนี้ก็จะมีทางออกให้เกษตรกรและจัดการได้เป็นระเบียบขึ้น
2)การซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดินการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้านไม่ให้ขายที่ดินได้โดยที่กำลังซื้อเราเองก็ไม่มาก และกว่าจะซื้อได้อาจใช้เวลา 2-3 ปี ถือเป็นการเอาเปรียบชาวบ้าน ดังนั้นถ้า ส.ป.ก.ซื้อที่ดินเอกชนนอกเขตปฏิรูปที่ดินได้ การซื้อและการจัดสรรให้เกษตรกรก็เร็วขึ้น
3)กิจการเกี่ยวเนื่อง ต้องเข้าใจว่าที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้มาไม่ได้เหมาะสมกับการเกษตรทั้งหมด บางพื้นที่ยังเป็นป่าที่เราต้องกันคืนให้กับกรมป่าไม้อีกนับแสนไร่ ดังนั้นในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตร เช่น เขาหิน หินนั้นยังมีคุณค่าทางอุตสาหกรรม เมื่อมีคนมาขอใช้พื้นที่เราก็เก็บรายได้เข้ากองทุน ส.ป.ก. กระทรวงอุตสาหกรรมก็เก็บไปเป็นรายได้รัฐ แต่ถ้ากฎหมายเรายังไม่ชัดเจนเราจะทำงานลำบาก อย่างที่ตอนนี้ถูกฟ้องร้องมีคดีอยู่ในชั้นศาลปกครอง
4)การโอนที่ดินที่มีการบุกรุกให้กรมธนารักษ์บริหารที่ดินตรงนี้เราอาจปล่อยปละดูแลไม่ทั่วถึง ดังนั้นการยกให้กรมธนารักษ์ดูแลจัดเก็บค่าเช่าที่ตามกฎหมายก็อาจเป็นทางออกหนึ่ง กฎหมายตรงนี้จะเขียนไว้ 2 ขั้น คือ ให้ ส.ป.ก.ดูแลก่อนในขั้นแรก แต่กรณีจำเป็นสามารถโอนให้กรมธนารักษ์ดูแลพื้นที่แทนได้
5)การโอนสิทธิในที่ดิน ก่อนนี้เรายึดตามกฎหมายแพ่งเรื่องการแบ่งมรดก เมื่อผู้ตายมีที่ดิน ส.ป.ก.ก็ต้องแบ่งซอยออกให้ลูกหลานครบคนทำให้แต่ละรายได้ที่ดินขนาดเล็กจนไม่พอสำหรับทำกินได้ ดังนั้นเราจะแก้กฎหมายให้ ส.ป.ก.มีอำนาจจัดการ อาจจะต้องมีเงื่อนไขบังคับให้ทายาทที่เป็นเกษตรกรรับมรดกได้เท่านั้น ที่เหลือให้จ่ายเงินชดเชยกันเอง ถ้าทายาทรายนั้นไม่มีเงินก็มากู้ยืมกองทุน ส.ป.ก.
- การจัดซื้อที่ดินเอกชนเพิ่มเติม
ก่อนนี้เรามีนโยบายเร่งรัดให้ทางจังหวัดซื้อเรามีมติมอบอำนาจให้จังหวัดซื้อเองได้โดยราคาไม่เกินจากราคาประเมินของกรมธนารักษ์1.5เท่า แต่ปรากฏว่ามีคำขอพิเศษเข้ามาเพราะราคาเกิน 1.5 เท่าให้ส่วนกลางพิจารณาค่อนข้างเยอะ คือพอเราเร่งรัดราคาก็พุ่งสูงทันที เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวชี้วัดที่เราบอกกระทรวงการคลังไว้ลงมา ปีนี้จะซื้อเพียง 1.5 หมื่นไร่งบประมาณ 1,950 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มี.ค. 58 จัดซื้อไปแล้ว 278 ไร่ มูลค่า 25.39 ล้านบาท
ถ้าซื้อมาแล้วแพงกว่าราคาประเมิน 2-3 เท่า ตกไร่ละ 1 แสนบาท แล้วเกษตรกรจะมาเช่าซื้อได้อย่างไร ดังนั้นแผนงานจึงต้องลดลง คราวก่อนมีจังหวัดมาเสนอจัดซื้อที่ดินราคาสูงกว่าราคาประเมิน 7 เท่าถ้าผมอนุญาตให้ซื้อผมจะตอบสังคมได้อย่างไร
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.