กรมป่าไม้ขู่ประกาศยึดที่ดินจากนายทุนบุกรุกมาปลูกสวนยางทั่วประเทศปีนี้ 4 แสนไร่
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมป่าไม้อยู่ระหว่างจัดทำแผนตรวจยึดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกกลุ่มนายทุนบุกรุกเพื่อปลูกสวนยางพาราทั่วประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะตรวจยึดและดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่ามาปลูกสวนยางให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนไร่ โดยในวันที่ 20 เม.ย.นี้ จะแถลงข่าวถึงแผนงานดังกล่าว ซึ่งป่าสงวนทั่วประเทศมีอยู่จำนวน 1,221 แห่ง คาดว่าถูกบุกรุกไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง
สำหรับการดำเนินการกับกลุ่มผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.นครราชสีมา นั้นขณะนี้กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมปฏิบัติการตรวจสอบพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จากการสำรวจล่าสุดที่มีการสำรวจพบว่ามีการบุกรุกที่ดินของรัฐมาปลูกสร้างสวนยางพารา รวมทั้งสิ้น 5.1 ล้านไร่แบ่งเป็นบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 ล้านไร่ บุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติกว่า 1 ล้านไร่ บุกรุกป่าชายเลน 1 หมื่นไร่โดยผู้เข้ายึดครองที่ดินมีทั้งประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ นายทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามการจัดชั้นลุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2525 พบว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ และลุ่มน้ำชั้น 2 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญรองลงมาจากลุ่มน้ำชั้น 1 รวม 1 ล้านไร่ นอกนั้นเป็นการบุกรุกปลูกสร้างสวนยางในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3-4 และ 5 ที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ 2.9 ล้านไร่ อุทยานแห่งชาติ 3 แสนไร่
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหากรณีบุกรุกปลูกยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-2 จะโค่นทิ้งทั้งหมด จากนั้นปลูกป่าทดแทนเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นน้ำ นั่นเท่ากับว่าจะต้องตัดโค่นยางในพื้นที่ป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ รวม 1.7 ล้านไร่
ขณะที่สวนยางที่บุกรุกปลูกพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3-4 และ 5 หากอยู่ในพื้นที่ป่าไม้อายุไม่เกิน 7 ปี ซึ่งยังไม่สามารถเปิดกรีดได้ จะตัดทิ้ง 50% ยางอายุเกิน 7 ปี จะอนุญาตให้สหกรณ์ชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้ประโยชน์ แต่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์บริหาร แต่ถ้าบุกรุกปลูกในอุทยานแห่งชาติจะโค่นทิ้งทั้งหมด โดยนับตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาประกาศสนับสนุนการปลูกยาง มีการบุกรุกพื้นที่ป่ามาปลูกยางจากนายทุนและชาวบ้านปีละกว่า 1.4 ล้านไร่
สำหรับการดำเนินการนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจ โดยใช้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) และข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินปี 2557 มาประกอบการจัดทำแผนในภาคปฏิบัติเป็นรายป่าและรายจังหวัดก่อนโค่นหรือรื้อถอน
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของคีรีมายา รีสอร์ท ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำการสำรวจพื้นที่ว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากน้อยแค่ไหน และถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ แต่ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 เม.ย. 2558