กรมอุทยานฯเล็งให้สิทธิ์เอกชนบริหารรีสอร์ต-บ้านพักในเขตอุทยานแห่งชาติ ชงทางเลือก 2 สูตร ดันแก้ไขมติ ครม.ปี"41 ปลดล็อกปัญหาการพิสูจน์สิทธิ์อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่อุทยานให้ชัดเจน พร้อมแก้ พ.ร.บ.อุทยาน-พ.ร.บ.สัตว์ป่าฯ รับนโยบายรัฐ
นาย อดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมอุทยานฯอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนที่มีประสบการณ์และมี ศักยภาพเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมทั้งปรับปรุงบ้านพักในอุทยาน โดยอาจทดลองเป็นโครงการนำร่องก่อน (Pilot Project) ข้อดีคือทำให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานสามารถไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลและป้องกัน รักษาพื้นที่ป่าไม้ ส่วนการให้บริการนักท่องเที่ยวให้เอกชนดูแล ขณะที่รัฐบาลก็จะได้รับประโยชน์หลังจากปรับระบบบริหาร จะทำให้รายได้เป็นระบบและมีผลตอบแทนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังต้องมีการหารือให้ตกผลึกในเรื่องหลักการและวิธีการ ซึ่งปัจจุบันมีความเห็น 2 ด้าน คือ กลุ่มแรกเห็นว่าควรให้เอกชนบริหารพื้นที่อุทยานที่มีศักยภาพระดับเกรด A เช่น เขาใหญ่ ควบคู่กับการบริหารพื้นที่อุทยานระดับเกรด C เพื่อให้เกิดการยกระดับการพัฒนาอุทยานระดับเกรด B และเกรด C มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเห็นว่า กรมอุทยานฯควรดูแลบริหารพื้นที่อุทยานเกรด A และให้เอกชนบริหารเฉพาะอุทยานระดับเกรด B และเกรด C
ส่วนปัญหาที่ เกิดจากการจัดการพื้นที่อุทยานนั้น นายอดิศรกล่าวว่า ต้องกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่าหากเอกชนรับไปบริหารแล้วเกิดความเสียหายต่อ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินการเอาผิดทั้งทางแพ่ง และทางอาญาเพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
ขณะเดียวกันกรมอยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขระเบียบข้อกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... และยกร่างแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของ พ.ร.บ.สัตว์ป่า และจะเปิดรับฟังระหว่างความเห็นรอบที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม
"สาเหตุ ที่แก้ไข เพราะปัญหาหลัก คือ การอยู่อาศัยทำกินในอุทยานหรือป่าอนุรักษ์ จึงต้องมีภาพชัดเจนว่าจะเดินต่อไปอย่างไรในระดับนโยบาย แต่พอแตะเรื่องที่ดินก็อ่อนไหว ทำยาก และหนักใจ เราพยายามเอาโจทย์นโยบายรัฐบาลเรื่องสิทธิชุมชนตั้งว่า เราเป็นพื้นที่อนุรักษ์จะทำอย่างไร หากเอาคนออกไม่ได้ เพิกถอนไม่ได้ แล้วถ้าแก้กฎหมายให้คนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้หรือไม่ ถ้าแก้สำเร็จในรัฐบาลนี้ยิ่งดี แต่ต้องทำความเข้าใจกับภาคประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมคนที่อยู่ในป่าได้"
สาระสำคัญในการ แก้ไขปัญหานี้คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯ โดยกำหนดให้มีเขตผ่อนปรน หรือพื้นที่ผ่อนปรน ให้คนอยู่ในป่าอนุรักษ์ได้ แต่ยังต้องหาข้อสรุปว่ามีหลักเกณฑ์/วิธีการอย่างไร เช่น จะใช้แบบสิทธิชุมชนเหมือนในเขตป่าสงวนได้หรือไม่ และเรื่องความเสมอภาคระหว่างคนที่อยู่ก่อนอยู่หลัง ควรให้สิทธิเท่าเทียมกันอย่างไร โดยกำหนดกรอบกว้าง ๆ หลังจากผ่านร่าง พ.ร.บ.แล้ว จึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นกฎหมายลูกอีกครั้ง อีกส่วนหนึ่งคือจะปรับเพื่ออนุญาตชั่วคราวให้มาเก็บหรือหาของป่าได้ชั่วคราว บางช่วงเวลา ซึ่งที่ผ่านมาจะเก็บของป่าในพื้นที่อนุรักษ์ไม่ได้เลย
นายอดิศรกล่าวถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ผ่านมาว่า กรมจะเสนอให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เพราะที่ผ่านมาพยายามบังคับใช้กฎหมาย แต่ยังมีปัญหาการใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2541 ที่กำหนดให้พิสูจน์สิทธิการอยู่ก่อนหรือหลังปี 2541 ทำให้ผู้บุกรุกอุทยานก่อนปี 2541 ยังสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิ์เสร็จสิ้น และมีปัญหาอีกว่าเมื่อพิสูจน์แล้วควรดำเนินการอย่างไร เช่น การเยียวยา หรือการชดเชยความเสียหายในกรณีที่ต้องออกจากพื้นที่ ให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้รูปแบบของสหกรณ์ชุมชนของรัฐบาล
ด้านแหล่งข่าวจากกรมอุทยานฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแม้ยังไม่มีการจัดแบ่งเกรดอุทยานแห่งชาติ เป็นเกรด A-B-C ตามขนาดพื้นที่ใหญ่ กลาง เล็ก หรือแบ่งตามความสำคัญของพื้นที่ ตลอดจนลักษณะความโดดเด่น หรือความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ดูจากรายได้ที่จัดเก็บจากการเข้าเยี่ยมชมอุทยาน โดยอุทยานแห่งชาติที่จัดเก็บรายได้ได้มาก 10 อันดับแรก ดังนี้อุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานฯเอราวัณ อุทยานฯอินทนนท์ อุทยานฯอ่าวพังงา อุทยานฯน้ำตกพลิ้ว อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานฯหมู่เกาะอ่างทอง อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา อุทยานฯเขาสกและอุทยานฯเขาแหลมหญ้า
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอแนะป้องกันการทุจริตจากการอนุญาตราษฎรครอบครองที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน และเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ รัฐบาลต้องต่้องยุติโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ เร่งรัดการพิสูจน์สิทธิครอบครองในที่ดินป่าไม้ตามมติ ครม.30 มิถุนายน 2541 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ดำเนินการพิสูจน์สิทธิครอบครองให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และการดำเนินการกับผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ โดยการยึดพื้นที่คืน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.