รัฐบาลสั่งการบ้านคลัง-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทาง "ปฏิรูปโครงสร้างภาษี" คาดจะได้ข้อสรุปใน 4 เดือน ขณะที่รมว.คลัง "สมหมาย" มอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สถาบันการศึกษา คณะกรรมการปฏิรูปภาษีและแต่งตั้ง "สมชัย ฤชุพันธ์" ประธานกมธ.เศรษฐกิจ การเงินและการคลังสปช.ร่วมพิจารณาด้วย
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากหารือที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษี (1 เม.ย.) ว่า ในช่วง 4 เดือนจากนี้ไป นายกรัฐมนตรีสั่งไม่ให้แสดงความเห็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีที่ดินจนกว่ากฎหมายจะมีความชัดเจน โดยระยะเวลาดังกล่าวจะหารือและรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ เอกชน และประชาชน โดยคาดว่าในการประชุมครั้งหน้าประมาณปลายเดือนเมษายนจะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างภาษีประเภทอื่นๆ ด้วย เนื่องจากภายหลังการหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้รับฟังทั้งข้อชี้แนะและข้อท้วงติงที่มีประโยชน์เพื่อจะนำมาใช้ปรับปรุงในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
"ขณะนี้กระทรวงการคลังได้นำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มอบให้สถาบันการศึกษารวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปภาษีไปพิจารณาหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่อแล้ว ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้"
นายลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปภาษี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้แต่งตั้งนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าร่วมพิจารณาเกี่ยวกับรายละเอียดแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีของสปช. และกระทรวงการคลัง ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และมีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับเข้าหากันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางภาษี และเพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการหารือถึงแนวทางในการเชิญผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบมากขึ้น โดยต้องมีการหารือในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง หรือมาตรการจูงใจแบบใด เช่น การนิรโทษกรรมภาษี รวมถึงยังมีการพิจารณาแนวทางการดึงประชาชนที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ฐานภาษีให้มากขึ้น ในส่วนนี้สศค. กรมสรรพากร และภาคเอกชน จะต้องไปหารือว่าจะมีแนวทางดำเนินการได้อย่างไรบ้าง
"รายละเอียดภาษีที่ดินรัฐบาลไม่ให้พูด การประชุมครั้งนี้ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการสั่งการบ้านให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปศึกษาแนวทางต่างๆ ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป หรือภายใน 1 เดือนนับจากนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งหมด โดยในช่วง 4 เดือนขอทำการบ้านก่อน"
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง กล่าวว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีรายละเอียดที่ต้องกลับไปดูอีกมาก เพราะยังมีข้อบกพร่องที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องอัตราที่ยังไม่นิ่ง และเรื่องความชัดเจนของค่าลดหย่อนต่างๆ ซึ่งต้องไปหารือในรายละเอียดทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่ในหลักการทั้งหมดยังยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล มองว่าในช่วงเริ่มต้นต้องเก็บภาษีในอัตราต่ำก่อน ส่วนภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นจำเป็นต้องให้แรงจูงใจในเรื่องนิรโทษกรรมภาษีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนวคิดปฏิรูปภาษีของรัฐบาล ต้องทำให้การเสียภาษีเป็นระบบมากขึ้น ต้องช่วยกันออกแบบกันว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นการพิจารณาปฏิรูปภาษีของคณะกรรมาธิการปฏิรูปฯ ต้องนำไปเชื่อมโยงกับคณะกรรมปฏิรูปภาษีสปช.ด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,041 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.