"ทีเอชเอ" ยันไม่เคยคัดค้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ชะลอไป หลัง"บิ๊กตู่"สั่งให้ศึกษาใหม่ ย้ำขอแค่ความชัดเจนวิธีการประเมินค่าที่ดินและค่าก่อสร้าง เหตุจากการประเมินภาษีทำได้หลายทาง ทั้งการใช้ราคาขณะก่อสร้างและราคาปัจจุบัน หักค่าเสื่อมหรือไม่ พร้อมทำโมเดลเปรียบเทียบราคาก่อสร้างมาคำนวณผล กระทบการลงทุนโรงแรมใหม่ ที่อาจต้องเสียภาษีสูงกว่าโรงแรมที่มีอยู่เดิม 4 เท่า
นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย หรือทีเอชเอ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ผู้ประกอบการโรงแรมไทยส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ.....ที่มีการชะลอออกไป เพราะเชื่อว่าจะทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นระบบมากขึ้นและสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ การขอความชัดเจนในเรื่องของการประเมิน
ทั้งนี้เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนหน้านี้ ที่ระบุการจัดเก็บภาษีที่ดินดังกล่าวที่ใช้กับโรงแรม จะเริ่มที่ 0.2% ไม่เกิน 1% โดยคิดจากพื้นที่ใช้สอยในโรงแรมสำหรับพื้นที่ไม่เกิน 2 พันตารางเมตร คิดอัตรา 0.2% ส่วนพื้นที่ไม่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร คิดอัตรา 0.4% และพื้นที่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร คิดอัตรา 1% ซึ่งทางผู้ประกอบการมองว่าในทางการคำนวณการประเมินภาษีฯสามารถทำได้หลายทาง เช่น ใช้ราคาที่ดินขณะที่ซื้อมา หรือใช้ราคาที่ซื้อขายกันปัจจุบัน หรือใช้ราคาที่มีคณะกรรมการประเมินโดยเฉลี่ยเป็นโซน
ขณะที่ในเรื่องของค่าก่อสร้างก็เช่นกัน จะใช้ราคาตอนก่อสร้างหรือใช้ราคาปัจจุบัน มีการหักค่าเสื่อมราคาหรือไม่ หากมีการหักค่าเสื่อมราคาได้จะใช้ระบบการหักค่าเสื่อมราคาของใคร ใช้ของรัฐเป็นระบบเดียวกันทั้งหมดหรือใช้ระบบที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ภายใต้การยืดหยุ่นของกฎหมาย
นายสัมพันธ์กล่าวอีกว่าเบื้องต้นทีเอชเอได้ลองคำนวณการเสียภาษีตามร่างภาษีใหม่นี้ โดยคำนวณจากโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ในระดับสี่ดาวห้องราว 500 ห้อง โดยคิดจากฐานการเสียภาษีอัตรา 1% สำหรับโรงแรมที่ตั้งอยู่ในย่านที่มีราคาที่ดินแพงที่สุด พบว่า หากเป็นโรงแรมที่สร้างอยู่แล้ว ราคาที่ดินปัจจุบัน 200 ล้านบาท ราคาค่าก่อสร้าง ณ วันก่อสร้าง 500 ล้านบาท รวมแล้วลงทุนราว 700 ล้านบาท ถ้าไม่ให้หักค่าเสื่อมราคา โรงแรมนี้ก็จะเสียภาษีโรงเรือนอยู่ที่ 7 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าสามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ โรงแรมก็จะเสียภาษีเพียง 3.6 ล้านบาทต่อปี (ราคาที่ดินปัจจุบัน 200 ล้านบาทรวมราคาค่าก่อสร้างหักค่าเสื่อมอยู่ที่ 160 ล้านบาท)
ขณะที่โรงแรมใหม่สร้างบริเวณใกล้เคียงกัน เทียบจำนวนห้องเท่ากัน ราคาที่ดิน 200 ล้านบาท แต่ราคาค่าก่อสร้างปัจจุบัน จะอยู่ที่ราว 2 พันล้าน (ค่าก่อสร้างโรงแรมสี่ดาวปัจจุบัน 4 ล้านต่อหนึ่งห้อง) ต้องเสียภาษี 22 ล้านบาทต่อปี
"ข้อที่น่าสนใจคือรัฐบาลจะคิดอย่างไรกับผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้ประกอบการที่เพิ่งจะเริ่มกิจการที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่ากว่า นอกนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่นการสร้างโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้พื้นที่มากขึ้นราคาค่าที่ดินก็เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งหากรัฐบาลต้องการความรอบคอบก็ต้องนั่งคุยกับสมาคมผู้ประกอบการแต่ละประเภทซึ่งมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน"
ด้านนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่านโยบายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกชะลอออกไปก่อนนั้น ทีเอชเอ ต้องการความชัดเจนในเรื่องของอัตราการจัดเก็บ และเมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนเดิมแล้วจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการมากน้อยเพียงใด และที่ผ่านมาทีเอชเอ ก็ไม่ได้ออกมาขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะจัดเก็บภาษีตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้
นายลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาษี ให้สมาชิกทีเอชเอได้ทราบว่า นโยบายของรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีแก่ผู้ครอบครองที่ดินที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์จากปัจจุบันจะมีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนในอัตรา 12.5% ของรายได้ แต่มักจะเกิดข้อปัญหาในส่วนของดุลพินิจจากเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาประเมินอัตราการจัดเก็บ ส่งผลให้กระทรวงการคลัง ต้องออกนโยบายในการจัดเก็บภาษีผู้ครอบครองที่ดินเชิงพาณิชย์ใหม่ภายใต้รูปแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ปัจจุบันนโยบายการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ได้ถูกชะลอการประกาศใช้จากเดิม โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กลับมาพิจารณาโครงสร้างการจัดเก็บพร้อมให้สอบถามความคิดเห็นจากภาคเอกชน และประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้จุดประสงค์หลักของการจัดใช้ภาษีดังกล่าวเพื่อทดแทนภาษีโรงเรือน เพื่อสร้างความเสมอภาคของผู้เสียภาษีอย่างเท่าเทียม เนื่องจากกรอบการจัดเก็บภาษีโรงเรือนเดิมถูกคำนวณด้วยอัตรารายได้ประจำปี ขณะที่อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะถูกจัดเก็บอย่างเท่าเทียมตามอัตราคำนวณที่กำหนดไว้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,041 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 3 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.