ไทยก้าวไม่พ้นประเทศรายได้ปานกลาง ประธานสปช.ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้เป็นเหตุ ย้ำรัฐบาลต้องใช้มาตรการปรับโครงสร้างภาษีช่วย รับสังคมอ่อนไหวแต่จะหยุดเดินหน้าไม่ได้
2 เมษายน 2558 มูลนิธิศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้มีปาฐกถา 106 ปี ศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน รำลึก เรื่อง “มหาวิทยาลัยกับโอกาสแห่งการสร้างสรรค์เพื่อการปฏิรูปประเทศโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี
ดร.เทียนฉาย กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยเกี่ยวกับกับดักรายได้ปานกลางว่า ไทยพยายามที่จะถีบตัวเองให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่ถีบอย่างไรก็ถีบไม่ขึ้นบางครั้งขึ้นแล้วก็ลงแล้วตกมาอยู่ชายขอบเสมอ ซึ่งปัญหาที่ทำให้ถีบตัวเองไม่ได้นั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเวลาเติบโต ผลผลิตมักตกไปอยู่กับคนที่มีรายได้สูงเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก และคนส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ในภาวะรายได้ต่ำ
"ถามว่าการจะแก้ปัญหาตรงนี้คืออย่างไร จะปล่อยให้การแก้ไขเป็นไปตามธรรมชาติก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นจะต้องช่วยด้วยมาตรการบางอย่างเพื่อให้ช่องว่างของรายได้แคบลง"
ประธานสปช. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ใช้มาตรการหลายตัวเสนอให้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดแต่มาตรการเหล่านี้ก็ไปกระทบกับหลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดกที่จะต้องออกอย่างแน่นอน เนื่องจากภาษีสองตัวนี้มีฐานที่ชัดเจน เรียกเก็บได้ และมีข้อดีกว่าภาษีทางอ้อมหรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผลักภาระให้คนจน ซึ่งมาตรการในการปฏิรูปครั้งนี้ก็เกิดมติแทรกซ้อน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่หลายคนพูดถึงที่จะก่อให้เกิดรายได้ทางตรงนั้นมีผล 2 นัยยะ อย่างแรกคือจะต้องยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่และต่อมาคือภาษีที่ส่วนกลางเก็บได้จะส่งกลับไปให้ท้องถิ่นนั่นหมายความว่าท้องถิ่นจะต้องเปลี่ยนจากการปกครองมาเป็นการบริหาร ซึ่งรายได้ในส่วนนี้มากพอที่จะส่งต่อไปในเรื่องการกระจายอำนาจ
“กระบวนการทั้งหมดต่อไปท้องถิ่นจะบริหารตนเอง ซึ่งมาตรการในการปฏิรูปภาษีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งจะเกิดแน่นอนแต่ก็ต้องใช้เวลา"ประธานสปช.กล่าว และว่า แต่สถานการณ์ในวันนี้พอพูดเรื่องภาษีคนที่เสียเปรียบจะรีบโวยวาย ทำให้เกิดความอ่อนไหว ผู้นำจึงบอกให้รอก่อน ในขณะที่คนข้างหลังบอกรอไม่ได้ต้องเดินหน้าแล้วอธิบายให้เข้าใจ
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 2 เม.ย. 2558