นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ เกษตรกรรายย่อย ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โดยจะช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน 8.18 แสนราย รวมหนี้สินประมาณ 1.16 แสนล้านบาท
โครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58 ถึง 31 มี.ค.59 ผ่าน 3 โครงการย่อยทั้งปลดหนี้ ,ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และ ขยายเวลาชำระหนี้
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ ธ.ก.ส. ดูแล จะเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน 8.18 แสนราย รวมหนี้สิน 1.16 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ได้รับการปลดหนี้ เพราะไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ 2.8 หมื่นราย มูลหนี้ 4,000 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพต่ำ แต่ยังมีความสามารถประกอบอาชีพ 3-4 แสนราย มูลหนี้ 4.8 หมื่นล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะปรับโครงสร้างให้ ใน 3 ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น แต่ให้ชำระดอกเบี้ยตามปกติ หลังจากนั้นให้เริ่มชำระเงินต้นให้หมดภายใน 10 ปี หรือต่อให้กรณีที่จำเป็น และ ธ.ก.ส.จะจัดวงเงินปล่อยสินเชื่อให้กู้เพิ่มไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท รวมให้อีก 1.5 หมื่นล้านบาท
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องเข้ามากระทบ เช่น งดทำนาปรัง ราคายางลดลง จำนวน 4.5 แสนราย มูลหนี้ 6.4 หมื่นล้านบาท ธ.ก.ส.จะขยายการชำระหนี้ออกไปตามศักยภาพของแต่ละรายแต่งดคิดเบี้ยปรับ และจัดเงินสินเชื่อเพิ่มให้อีกไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย รวม 3.5 หมื่นล้านบาท
"ขอย้ำว่าการปลดหนี้ การขยายเวลาชำระหนี้ครั้งนี้ รัฐบาลไม่มีเจตนา ที่จะสร้างหรือบ่มเพาะนิสัยให้เกษตรกรเป็นหนี้แล้วถึงเวลารัฐบาลก็ยกหนี้ให้ จึงให้ ธ.ก.ส. มีมาตรการดูแลฟื้นฟูไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ใหม่อีก" นายวิสุทธิ์ กล่าว
ขณะที่หนี้ที่อยู่ในการดูแลของ กระทรวงเกษตรฯ 9 กองทุน จะมีการตัดเป็นหนี้สูญทั้งสิ้น 4,556 ล้านบาท โดยเฉพาะหนี้สะสมซึ่งจะทำให้เกิดวงจรปัญหาของทั้งครอบครัว จึงได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ศึกษาว่าจะแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้อย่างไรและต้องไม่ใช่นโยบายประชานิยม
ที่มา : มติชน วันที่ 1 เม.ย. 2558