สปช.รับทราบรายงานกมธ.ปฏิรูปการเกษตร ฯ ชงปรับโครงสร้างคกก.แข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระเหมือนกสทช. อ้างปลอดการเมือง-กลุ่มปย.ธุรกิจครอบงำ ขณะที่ปฏิรูปด้านเกษตรแนะ4 ทางแก้
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมรับทราบรายงานการของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ วาระ การผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม ปฏิรูปภาคเกษตร และการสร้างสังคมผู้ประกอบการ ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว โดยว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมาธิการ รายงานว่า การปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้านั้น ต้องมีการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระทั้งบุคลากรงบประมาณและการดำเนินงาน เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สำหรับรูปแบบขององค์กรอิสระอาจพิจารณารูปแบบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)หรือรูปแบบของสำนักงานคณะกรรการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับโครงสร้างคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่ปลอดจากการถูกครอบงำทางการเมืองและกลุ่มประโยชน์ทางธุรกิจ เพิ่มภารกิจด้านส่งเสริมการแข่งขัน กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและระเบียบปฏิบัติของสำนักงานฯและคณะกรรมการฯที่ชัดเจนโปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณชน
ว่าที่ร.อ.จิตร์ กล่าวต่อว่า ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจทางการค้าปกติแข่งขันกับเอกชนภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมนโยบาย หรือมาตรการของรัฐที่ลดหรือจำกัดการแข่งขัน และพฤติกรรมไม่เป็นธรรมที่ส่งผลต่อผู้บริโภค และให้มีอำนาจการบังคับใช้นอกราชอาณาจักรหรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ นอกจากนั้นยังปรับปรุงให้มีโทษทางแพ่งและโทษทางปกครอง เพื่อระงับยับยั้งพฤติกรรมให้มีผลบังคับใช้อย่างทันท่วงที ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายและการแข่งขันทางการค้าต้องทำให้เสร็จภายในปี 58 ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการปฏิรูปกฎหมายได้แก่พ.ร.บ.กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปฏิรูปผู้บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและพนักงานเจ้าหน้าที่
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานอนุกมธ. ปฏิรูปการเกษตร รายงานการปฏิรูปเกษตรกรใน 4 ประการ คือ 1. ช่วยเหลือด้านรายได้และทักษะแก่เกษตรกรที่ยากจน และพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี การบริหารการประกอบการ และการเงิน วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดสินค้า 2. ปฏิรูประบบ เริ่มจากการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน สร้างคลองส่งน้ำทั้งบนดินใต้ดิน และลอยฟ้า เพื่อใช้เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์นำน้ำจากแม่น้ำสายหลักเข้าสู่พื้นที่การเกษตร สร้างระบบความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้าทางการเกษตร กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่จะดูแลและออกใบรับรองมาตรฐาน 3. ปฏิรูปการบริหารจัดการและกลไก ปฏิรูปกฎหมาย กำหนดแผนยุทธศาสตร์เป็นวาระชาติ เช่น ข้าว ยาง อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง กลุ่มสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ และประมงเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์เป็นการรวมกลุ่มรากฐาน เพื่อบริหารการลงทุน การผลิต และจำหน่าย รวมถึงส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร
นายอุทัย กล่าวว่า และ 4. กองทุนและการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกร จัดสร้างสวัสดิการเกษตรกรแห่งชาติโดยร่าง พ.ร.บ. รายได้และสวัสดิการเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อให้มีการประกันรายได้และสวัสดิการพื้นฐานของเกษตรกร สร้างกองทุนประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากความไม่แน่นอนของธรรมชาติ หากได้รับความเสียหายจะได้ความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องช่วยค่าเบี้ยประกัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเร่งดำเนินการ เพื่อให้รัฐบาลออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 1 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.