กรรมาธิการเสนอลดอัตราภาษีมรดกเหลือ 5% ขยับเกณฑ์ 100 ล้านแรกไม่ต้องจ่าย
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก เปิดเผยว่า จากการประชุมกรรมาธิการฯ พบว่า เสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการต้องการให้เพิ่มมูลค่าการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินจากมรดกที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีจากที่กำหนดไว้เดิม 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี กรรมาธิการเสียงข้างน้อยซึ่งมีประธานกรรมาธิการรวมอยู่ด้วยเห็นว่าการยกเว้นไม่เก็บภาษีมรดกสำหรับผู้ได้รับมรดก 50 ล้านบาท มีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว จึงได้ขอสงวนสิทธิอภิปราย ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 ได้พิจารณาตัดสินใจ หากเสียงข้างมากว่าอย่างไรก็ต้องถือเป็นที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ เสียงข้างมากของกรรมาธิการยังต้องการให้ลดอัตราจัดเก็บภาษีมรดกจากเดิมที่เก็บเป็นอัตราเดียว 10% โดยปรับอัตราให้ผู้รับมรดกที่เป็น ชั้นสืบสันดานโดยตรง คือ ลูก หลาน เสียภาษีในอัตรา 5% และหากไม่ใช่ผู้สืบสันดานให้เก็บใน อัตรา 10%
ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีลงมีส่วนดีทำให้ผู้ที่เคยคิดจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมรดกก็จะไม่ได้หลีกเลี่ยง เพราะมีภาระภาษีที่ลดลง
นายสมหมาย ระบุว่า จากการประเมินของกรมสรรพากรพบว่า หากปรับขึ้นเพดานขั้นตํ่าผู้เสียภาษีมรดกขึ้น ก็จะเก็บภาษีจากผู้รับมรดกปีละ 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะจัดเก็บได้มากกว่านี้ ซึ่งอัตราภาษีมรดกที่เก็บ 5% ถือว่าตํ่า เพราะมีอยู่ 1-2 ประเทศในโลกที่เก็บภาษีมรดกที่เก็บอัตราตํ่ากว่า 5%
"มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐ จะเก็บภาษีมรดกได้น้อย หากเก็บได้น้อยเกินไปก็อย่าไปเก็บเลย จะดีกว่า แต่ภาษีมรดกนี้รัฐบาลไม่ได้คิดว่าจะเก็บได้มากหรือน้อย แต่เป็นสัญลักษณ์ของการลดความเหลื่อมลํ้า คนที่มีทรัพย์สินมากก็ต้องเสียภาษีมากกว่าคนจน" รมว.คลัง กล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า การปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะไปในทิศทางเดียวกันและการประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ขณะนี้มีปัญหาทั้งการค้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกลดลง ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการคลังอย่างเดียวเท่านั้น นายกรัฐมนตรีได้เร่งมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีในทุกๆ ด้าน
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 มี.ค. 2558