ภัยแล้งคุกคามสุพรรณบุรีหนักในรอบ 20 ปี ภาคเกษตร ประมงปั่นป่วนทั้งระบบ สวนมะม่วง-ผลไม้กว่า 3 พันไร่ นาข้าวกว่า 5 แสนไร่ขาดน้ำอย่างหนัก เกษตรกรกุมขมับหนี้นอกระบบท่วม เกษตรกรแห่ขายที่นาให้ทุนใหญ่พุ่ง 80% หวั่นน้ำไม่พอทำนาปีครั้งที่ 1/2558 ด้านภาคประมงปรับแผนลดเลี้ยงกุ้งขาว-ปลาบ่อดิน คาดผลผลิตลดลง 40%
จังหวัดสุพรรณบุรีถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ด้วยพื้นที่เพาะปลูกมากถึง 1.3 ล้านไร่ รวมทั้งยังมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีเยี่ยม มีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานถึง 80% แต่ด้วยภัยแล้งคุกคามหนักในขณะนี้ ทำให้ภาคการเกษตรที่ถือเป็นหัวใจของสุพรรณบุรีกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก
นายไพสิฐ เกตุสถิตย์ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากที่สุดในไทยถึง 1.3 ล้านไร่ ซึ่งอาศัยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขณะนี้สำนักชลประทานได้งดส่งน้ำมาแล้ว 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมอย่างหนักทำให้ชาวนางดทำนาปรังตามประกาศเตือนของกรมชลประทานที่งดส่งน้ำให้การเกษตรแต่ก็ยังมีชาวนาลักลอบทำนาปรังกว่า5.6แสนไร่
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี โดยเฉพาะตำบลสนามคลี หมู่ 4, 5, 6 ภัยแล้งปีนี้มาเร็ว และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง คาดว่าจะส่งผลกระทบถึงการทำนาปีครั้งที่ 1/2558 ขณะนี้ชาวนาเริ่มกังวลว่านาปีจะขาดน้ำ ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและไม้ผลอื่น ๆ ในอำเภอเมือง สามชุก เดิมบางนางบวช เสียหายไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งผลไม้กำลังอยู่ในช่วงออกผล และกำลังจะขาดน้ำตาย
นายสมพงษ์ ชุ่มสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีกล่าวว่า สวนมะม่วงกว่า 1,200 ไร่ ท้ายคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ในตำบลสนามคลี ขาดน้ำกว่า 3 เดือน ลูกหล่นและไม่สมบูรณ์ รสชาติไม่ดี ผลผลิตลดลง เช่น มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเบอร์ 4 จะให้ผลผลิต 2 ตัน/ไร่ ปัจจุบันผลผลิตหายไปเกือบ 100% บางส่วนก็เริ่มตายแล้ว เกษตรกรต้องรีบเก็บมะม่วงขายก่อนเพื่อรักษาต้นไว้ เพราะต้องใช้เวลาปลูกนาน 5 ปีขายราคา 4-5 บาท/กก. จากปกติ 40-50 บาท/กก.
ทั้งนี้ จากปัญหาภัยแล้งที่คุกคามอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรเริ่มกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ จากการสำรวจพบว่าหนี้สินภาคครัวเรือนเฉลี่ยครอบครัวละ 1 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ อีกทั้งเกษตรกรยังกังวลว่าจะไม่มีทุนในการทำนาปีครั้งต่อไปในช่วงเดือนพฤษภาคม ประกอบกับต้องนำเงินมาใช้หนี้เก่า และส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ จึงทำให้ขณะนี้เกษตรกรกำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ขณะที่ ชาวนาหลายรายเริ่มทยอยขายที่นาให้กับนายทุนจากจังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันมีชาวนากว่า 80% ขายที่นาแล้วกลับมาเช่านาปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 10,000 บาท แนวโน้มจะมีการขายที่ดินสูงต่อเนื่อง จากการที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง และราคาข้าวที่ตกต่ำเหลือเพียง 5,000-6,000 บาท/เกวียน
นอกจากนั้น ยังพบว่าน้ำที่จะใช้อุปโภคบริโภคยังขาดแคลน น้ำประปาหยุดไหลเป็นบางช่วงเวลา ชาวบ้านต้องสั่งซื้อน้ำจากเอกชนราคาเที่ยวละ 1,800 บาท ปริมาณน้ำ 12,000 ลิตร แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะรถขนส่งน้ำมีน้อย และสามารถส่งได้วันละ 3-4 เที่ยวเท่านั้น
นายอนันต์ บุญอิน นักวิชาการปฏิบัติการสำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรีกล่าวว่า มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสุพรรณบุรีที่ขึ้นทะเบียนไว้ 5,000-6,000 ราย ส่วนใหญ่เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ปลาน้ำจืดในบ่อดิน ในเขตอำเภอเมือง บางปลาม้า สองพี่น้อง อู่ทอง ดอนเจดีย์ ซึ่งเกษตรกรกว่า 60% อยู่ในพื้นที่ชลประทาน แต่ก็มีบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงกุ้งขาวต้องปรับลดปริมาณลูกกุ้งลงบ่อ 30-40% จากเดิม 80,000-100,000 ตัว/ไร่ เพื่อลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำลงสู่บ่อ ทำให้ผลผลิตภาพรวมลดลง10% ส่วนปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาช่อนปลาดุก ที่ต้องใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน เกษตรกรต้องสต๊อกน้ำไว้ล่วงหน้า ส่วนรายย่อย 40% ต้องชะลอการเลี้ยง
นอกจากนั้น ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำท่าจีน เลี้ยงปลาลดลงเพราะปัญหาภัยแล้งและน้ำปนเปื้อนมลพิษมากขึ้น คาดว่าหากปัญหาภัยแล้งยังยาวนานจะทำให้กุ้งและปลาในจังหวัดสุพรรณบุรีออกสู่ตลาดลดลง 40%
ด้านนายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาทกล่าวว่า ปัจจุบันยังปล่อยน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และอุปโภคบริโภค โดยเมื่อวันที่ 4-14 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ปล่อยน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปริมาณวันละ 5-8 ลูกบาศก์เมตร/นาที เพื่อให้ประชาชนผลัดเปลี่ยนกันสูบน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคพื้นที่ละ2 วัน
"คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง มีความยาวถึง 104 กิโลเมตร และประชาชนที่อยู่ตลอด 2 ฟากลำคลองก็มีความจำเป็นต้องใช้น้ำทั้งสิ้น แต่พื้นที่ปลายคลองมักจะถูกทางต้นคลองดูดไปใช้เสียก่อน จึงต้องขอหน่วยงานรัฐมาดูแลเรื่องจัดสรรน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดศึกแย่งน้ำ"
นายฎรงศ์กรกล่าวอีกว่า ได้จัดสรรน้ำสำรองไว้จำนวน 3,500 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนการทำนาปีช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 คาดว่าจะมีน้ำเพียงพอแน่นอนสำหรับ 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา โดยจะเริ่มจ่ายน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป
นายมนัสทพงษ์ ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าว และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า หากปัญหาภัยแล้งลากยาวจะส่งผลกระทบต่อข้าวเปลือกที่จะป้อนสู่โรงสี คุณภาพต่ำลง และทำให้ภาวะการบริโภคลดลง เห็นได้จากขณะนี้ในห้างสรรพสินค้าตลาดสดซบเซา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.