เลขาธิการ ส.ป.ก. งัดข้อกฎหมายสู้ เมินสตง.สั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ผ่อนชำระเช่าซื้อครบตามสัญญากว่า 5 พันรายใน 28 จังหวัด พื้นที่กว่า 7.1 หมื่นไร่ เผยเดินหน้าแก้กฎหมายใหม่ ยันผลประโยชน์เกษตรกร ไม่มีวาระซ่อนเร้น ด้าน "อุบลศักดิ์" ชี้ที่ดิน ส.ป.ก. เกษตรกรได้ฟรี เลิกประกอบอาชีพแล้วควรคืนหลวง
นายสรรเสริญ อัจจุตมนัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการทักท้วงกรณีที่ดินกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือส.ป.ก. ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินของกองทุนที่ให้เกษตรกรเช่าซื้อที่ดิน โดยเกษตรกรได้จัดทำสัญญาเช่าซื้อที่ดิน พร้อมทั้งจ่ายเงินเพื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อโดยการผ่อนชำระให้กับกองทุนเป็นรายงวด พบว่ามีเกษตรกร 28 จังหวัด กว่า 5 พันราย เนื้อที่ประมาณ 7.16 หมื่นไร่ มูลค่าที่ดินกว่า 235 ล้านบาท ได้จัดทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพร้อมทั้งได้จ่ายเงินเพื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่กองทุนยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับเกษตรกรนั้นเป็นการทักท้วงที่ถูกแล้วแต่ทางส.ป.ก.ไม่โอนให้ ทั้งนี้เป็นเพราะตามพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ในมาตรา 39 ระบุ ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า กฎหมายเดิมมีช่องโหว่ คือ ไม่ได้ห้ามให้ผู้ที่เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เมื่อซื้อที่ดินไปในราคาถูก และรับโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว บางรายก็นำไปสร้างตึกแถว สร้างโรงแรมขนาดใหญ่ บางรายก็ขุดดินไปขายให้กับหมู่บ้านจัดสรร จะไปเพิกถอนก็ไม่ได้ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ส.ป.ก.ไม่โอน และเมื่อยังคงเป็นที่ดินของส.ป.ก. อาจพิจารณาใช้อำนาจจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินตามมาตรา 29 นอกจากนี้สาเหตุที่จะต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เพราะพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ที่มีผลบังคับใช้มีปัญหาอุปสรรคทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์การจ่ายเงิน และทรัพย์สินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและขอบเขตการจัดที่ดินยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ รวมถึงการโอนและตกทอดทางมรดกกับทายาทที่เป็นเกษตรกรเท่านั้น ทำให้ทายาทที่รับข้าราชการหรือประกอบอาชีพอื่นไม่ได้มรดก แต่กฎหมายฉบับนี้จะทำให้สมดุล อาจจะจ่ายเป็นเงินให้ชดเชย หรือถ้าไม่มีเงินเพียงพอก็สามารถกู้ไปจ่ายได้ เป็นต้น ด้านนางเปรมจิต สังขพงษ์ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เผยผลการจัดที่ดินให้สิทธิแก่เกษตรกรในที่ดิน 1.การจัดซื้อที่ดินเอกชนมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 5.33 แสนไร่ ให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ (เช่าและเช่าซื้อจำนวน 2.83 หมื่นราย 3.32 หมื่นแปลง เนื้อที่ 4.57 แสนไร่ โอนกรรมสิทธิ์ให้เกษตรกรแล้ว 3.12 พันราย 3.37 พันแปลง เนื้อที่ 9.35 หมื่นไร่ และอยู่ในระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์ 4.45 พันราย 5.018 พันแปลง เนื้อที่ 3.88 หมื่นไร่ 2.จัดที่ดินให้เกษตรกรในที่ดินของรัฐที่มีผู้บุกรุกถือครองทำประโยชน์มาอย่างถาวร จำนวน 42.87 ล้านไร่ ผลการจัดที่ดิน พื้นที่ประกอบเกษตรกรรม จำนวน 2.14 ล้านราย 2.85 ล้านแปลง เนื้อที่ 34.5 ล้านไร่ ที่ดินชุมชุน (ที่อยู่อาศัย) 5.3 แสนราย 5.63 แสนแปลง เนื้อที่ 3.31 แสนไร่ ขณะที่นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ให้ความคิดเห็นว่า ที่ดินของ ส.ป.ก. เกษตรกรได้ไปฟรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อเลิกแล้วก็ควรจะคืนกลับให้หลวงเพื่อให้คนอื่นที่อยากประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำแทน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,037 วันที่ 22- 25 มีนาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 21 มี.ค. 2558