รัฐบาลประยุทธ์ โปรยยาหอมอีกแล้ว เตรียมล้างหนี้สินเกษตรกรอีกก้อนใหญ่ราว 1 แสนล้านบาท สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ/กองทุนหมุนเวียนฯ 2 แสนรายเตรียมเฮ “อำนวย” ยันครม.เศรษฐกิจเห็นชอบในหลักการแล้ว เร่งขั้นตอนปฏิบัติเสนอครม.อนุมัติต้นเมษาฯนี้ ด้านผอ.กองทุนหมุนเวียนฯ แนะออกกฎหมายพิเศษ แฮร์คัตหนี้ ป้องที่ดินเกษตรถูกแบงก์ยึด สะพัดเกษตรกรทั่วประเทศบุกก.เกษตรฯ สัปดาห์หน้า
นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคสช.และในฐานะนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ถือเป็นปีทองของเกษตรกรไทยที่ได้รับการคืนความสุข ไม่ต่างจากรัฐบาลปกติ แม้รัฐบาลจะประกาศตลอดเวลาว่า "ไม่ใช่ประชานิยม" ล่าสุดรัฐบาลเตรียมคืนความสุขอีกครั้งโดยเตรียมสะสางหนี้สินของเกษตรกรครั้งใหญ่ที่มีมูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีเกษตรกรได้รับอานิสงส์ครั้งนี้กว่า 2 แสนราย
++เตรียมเสนอครม.ต้น เม.ย.
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุด มติประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้รับหลักการเห็นชอบที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกกองทุนสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ(กฟก.) มีมูลหนี้สูงถึง 1 แสนล้านบาท และมูลหนี้อีกก้อนของสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีมูลหนี้รวมกันกว่า 4 พันล้านบาท โดยคาดว่าเกษตรกรจะได้รับอานิสงส์ครั้งนี้กว่า 2 แสนราย ส่วนวิธีการดำเนินการจะมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับปรุงหนี้ (แฮร์คัต) เป็นต้น ซึ่งหลังจากได้วิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนแล้วจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ราวต้นเดือนเมษายน 2558นี้
++ออกกฎหมายพิเศษป้องที่ดิน
ต่อเรื่องนี้ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำขั้นตอนปฏิบัติงานแก้ไขหนี้สินให้กับเกษตรกรที่จะมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสองส่วน แต่ที่สำคัญก็คือการออกกฎหมายพิเศษเพื่อปกป้องที่ดินให้เกษตรกรไม่ให้ถูกยึด และจะยืดเวลาใช้หนี้ให้เกษตรกรนานถึง 20 ปี โดยบางส่วนรัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยหากเป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ
"โดยเริ่มแรกหากรัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขอย่างจริง ก็จะเริ่มในส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ของธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร มีมูลหนี้ราว 1 แสนล้านบาท โดยกำหนดสถานะหนี้เป็น 6 ประเภทคือ 1) หนี้ปกติ 2)หนี้ผิดนัดค้างชำระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงและค่าปรับ 3)หนี้ถูกส่งฟ้องดำเนินคดี 4)หนี้ถูกบังคับคดีขายที่ดินทอดตลาด 5)หนี้รอการขายที่ดินทอดตลาด และ 6)หนี้ที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย มีสัดส่วนหนี้ปกติต่อหนี้ที่มีปัญหา และอนาคตจะลดบทบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ทำภารกิจเพียงแค่ฟื้นฟูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น"
ว่าที่ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนที่ 2 เป็นหน่วยงานที่สกร.รับผิดชอบโดยตรง เป็น กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งอยู่ใน สกร.มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อไถ่หรือไถ่ถอนที่ดินคืนจากการขายฝากหรือจำนองเมื่อมีพฤติการณ์ว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะหลุดเป็นของเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นในที่สุด 2.เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งผู้กู้ยืมได้นำที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนหรือขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อมีพฤติการณ์ว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะหลุดเป็นของเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นในที่สุด (นับแต่วันที่สูญเสียสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปไม่เกิน 5 ปี กรณีเกินกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กู้ยืมยังทำกินในที่ดินแปลงดังกล่าว)
ทั้งนี้ในกรณีข้างต้นหากเป็นรัฐบาลปกติ ไม่สามารถกระทำได้ ต้องเป็นรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตพยายามแก้ไขหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้เกษตรกร หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายสุดเกษตรกรก็กลับมาเป็นหนี้อีก โดนฟ้อง โดนยึดที่ดินไป
ดังนั้นเพื่อตัดวงจรอุบาทว์การเป็นหนี้ถาวรให้เกษตรกรต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อให้ธนาคารต่างๆ ปฏิบัติตาม เพราะเชื่อว่าธนาคารเองก็ลำบากใจ หากไม่ปฏิบัติตามจะกลายเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะเริ่มนำร่องที่ ธ.ก.ส.ก่อน มีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.03 แสนราย และในส่วนของสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5.64 หมื่นราย รวมมูลหนี้ประมาณแสนล้าน ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาการชำระหนี้
ขณะที่ในส่วนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปนั้นจะใช้วิธีการช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร/ปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับออกกฎหมายพิเศษ ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ไม่ให้ที่ดินของเกษตรกรถูกยึด และจะมีความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรมากกว่าในอดีต มั่นใจว่าหากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะช่วยเกษตรกรปลดเปลื้องหนี้สินได้ยั่งยืน++เผยความต่างแก้หนี้ 2 หน่วยงาน
นอกจากนี้ว่าที่ร.ต.สมพูนทรัพย์ ยังระบุด้วยว่า เกษตรกรจะต้องรวมตัวกันสมัครเป็นสมาชิกสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้เข้าไปดำเนินการใน 2 ส่วน คือการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพ และการซื้อหนี้เกษตรกรจากลูกหนี้ในระบบเท่านั้น อาทิ หนี้สหกรณ์การเกษตร หนี้ ธ.ก.ส. และหนี้ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น แต่ในส่วนของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนไม่ต้องเป็นสมาชิก หากมีปัญหาก็สามารถมายื่นความจำนงได้ทันที เพราะเป็นเกษตรกรที่ยากจน หรือผู้ยากจนหรือเป็นบิดามารดา หรือคู่สมรสหรือบุตรของเกษตรกรที่ยากจนหรือผู้ยากจน แต่ต้องมีหลักประกันเงินกู้ คือ ผู้กู้จะต้องนำอสังหาริมทรัพย์ มาจำนองเป็นประกันเงินกู้ และต้องมีราคาประเมินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ให้กู้ยืม หรือถ้าเป็นโฉนดที่ดินจะต้องมีเอกสารที่ถูกต้อง โดยทั่วไปให้กู้ไม่เกินรายละ 5 แสนบาท หรือหากเกินกว่า 5 แสนบาท ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆไป ทั้งนี้ให้กู้สูงสุดไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท
++กฟก.เผย 6 กรณีเข้าหลักเกณฑ์
แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ว่า มีจำนวนสมาชิกองค์กรเกษตรกร 5.27 หมื่นองค์กร มีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 6.62 ล้านราย จำแนกหนี้ตามสถานะหนี้ คาดว่าเกษตรกรที่จะเข้าข่ายในการปรับโครงสร้างนี้ในครั้งนี้ 6 ประเภท ได้แก่ 1.สถานะหนี้ล้มละลาย มีจำนวน 47 ราย มีมูลหนี้กว่า 254 ล้านบาท 2. หนี้เอ็นพีแอล จำนวน 2.376 พันราย มีมูลหนี้กว่า 1.171 พันล้านบาท 3.ถูกบังคับคดี มีเกษตรกร จำนวน 7.617 พันราย มูลหนี้กว่า 5 พันล้านบาท 4.หนี้พิพากษา มีจำนวน 70 ราย มูลหนี้ 26 ล้านบาท 5.หนี้ดำเนินคดี มีเกษตรกร จำนวน 1.32 หมื่นราย มูลหนี้กว่า 8.192 พันล้าน และ 6.หนี้ผิดนัดชำระ จำนวน 1.52 แสนราย มีมูลหนี้ 3.16 หมื่นล้านบาท รวมทั้งหมด เกษตรกร จะได้รับการชำระหนี้ 1.75 แสนราย มีมูลหนี้รวม 4.64 หมื่นล้านบาท
"ยังสับสนเรื่องตัวเลขทั้งจำนวนราย และมูลหนี้ของเกษตรกร ทาง กฟก.กำลังรอความชัดเจนจากนายอำนวยว่าจะสั่งการมาอย่างไรบ้าง และพร้อมจะปฏิบัติตาม เพราะหากแก้ปัญหาหนี้ได้ แล้วมีกฎหมายออกมารองรับ มั่นใจว่าจะช่วยเกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก เพราะที่ผ่านมามีแกนนำไปหลอกลวงชาวบ้านจำนวนมากให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ ผลสุดท้ายช่วยไม่ได้จริง ดังนั้นหากมาตรการนี้ออกมาจะเป็นการกำจัดเหลือบของเกษตรกรให้จบลงไปในคราวเดียวกัน"
++ม็อบทวงล้างหนี้ 2.6 หมื่นราย
ด้านแหล่งข่าวจากแกนนำเกษตรกร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีกองทัพจากเกษตรกร โดยแบ่งสายเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งเป็น 5 สาย โดยจะมุ่งหน้าสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากถูกทหารสกัด ทางสายภาคกลาง จะบุกเข้าทำเนียบ เพื่อทวงล้างหนี้เกษตรกรจำนวน 2.67 ราย แบ่งเป็นองค์กรเกษตรกรกว่า 1 พันแห่ง จำนวนเงิน 4.55 พันล้านบาท ให้กับลูกหนี้ที่เข้าข่ายพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งจาก 10 ข้อได้แก่ 1.เกษตรกรที่เป็นหนี้จากโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2.กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ 3.ผลจากปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ 4.หนี้ขาดอายุความ 5.หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป 6.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ 7.ผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ 8.เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพทุพพลภาพ วิกลจริต หรือ เจ็บป่วยเรื้อรัง 9. ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย หรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ 10.หนี้สินเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 1-3 หมื่นบาท
++ผงะ 88 โครงการรัฐเข้าข่ายล้างหนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการรัฐที่ส่งเสริมแล้วไม่ประสบความสำเร็จมี 11 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปี 2535/2536 หรือ2.กรมส่งเสริมการเกษตร ในโครงการปลูกพืชอื่นทดแทนมันสำปะหลังปี 2522-2530 และ3.กรมส่งเสริมสหรณ์ โครงการเชื่อมโยงสินเชื่อเพื่อการผลิตและบริการข้าวของสหกรณ์ปี 2542/2543 เป็นต้น 4.กรมชลประทาน โครงการกองทุนจัดรูปที่ดิน 5.กรมประมง โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบยั่งยืน 6.กรมปศุสัตว์ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม จังหวัดตรัง เป็นต้น 7.กรมวิชาการเกษตร โครงการผลักดันและเร่งรัดการตลาดลำไย ปี 2543 และ8.องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) โครงการเงินทุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ 9.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน 10.กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ 11.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในโครงการรับซื้อข้าวโพด ปี 2518-2523
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,035 วันที่ 15 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 15 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.