อึ้งกันไปทั่วคุ้งน้ำ….
กับประกาศิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา สั่งให้กระทรวงการคลังชะลอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ก่อน ด้วยเกรงว่าจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา
ทั้งที่ก่อนหน้า นายกฯประกาศกร้าวยืนยันความจำเป็นในการเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เพื่อนำเงินมาใช้ในการบริหารงานของรัฐและถือเป็นหนทางเดียวในห้วงเวลานี้ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลและท้องถิ่น โดยหากไม่จัดเก็บภาษีที่ดิน รัฐบาลอาจต้องหวนกลับไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งจะสร้างปัญหาเดือดร้อนให้ประชาชนมากกว่า!
“ที่ผ่านมาเพราะมีการโกงภาษี หลีกเลี่ยงภาษี ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอ หากไม่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่สามารถทำได้ เพราะประชาชนจะเดือดร้อน ปัจจุบันเพดานภาษีอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่ยังจัดเก็บอยู่ที่อัตราเดิมคือร้อยละ 7 ดังนั้นจึงอยากให้คนที่มีหน้าที่เสียภาษีช่วยกันรับผิดชอบ...”
แน่นอน! การสั่งถอยร่นร่างกฎหมายดังกล่าว ด้านหนึ่งถือเป็นการลดแรงกดดันจากผู้คนในสังคมที่ส่วนใหญ่ “ตั้งป้อม” ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐที่ว่านี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า รัฐบาล คสช.ใช่จะ “ดั้นเมฆ” ดำเนินนโยบายใดๆ โดยไม่ “แยแส” ต่อเสียงสะท้อนของผู้คนในสังคม
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายที่ “อ่อนปวกเปียก” ปราศจากความหนักแน่นของนายกฯและรัฐบาล ในเมื่อยืนยันมาโดยตลอดถึงความจำเป็นอันยิ่งยวดที่ต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แล้วเหตุใดนายกฯถึง “กลับลำ” หักดิบถอนร่างกฎหมายกลับไปตั้งหลักใหม่เพียงชั่วข้ามคืน!
ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามว่า เมื่อรัฐบาลสั่ง “ถอนทัพ” ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ออกไปอย่างไม่มีกำหนดเช่นนี้แล้ว ร่าง “พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก” ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเช่นเดียวกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นอย่างไร?
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอย้อนรอยปมขัดแย้งและผลกระทบในวงกว้างของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมที่สุด ให้รัฐบาลตระหนักถึง “ภาระที่เพิ่มขึ้น” และ “การทำหน้าที่พลเมืองที่ดี” ของประชาชน ว่าควรมองมุมไหนและอย่างไร เพื่อที่จะไม่ “พลาด” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างที่ผ่านมา
“ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษา โดย “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)” เมื่อกว่า 15 ปีมาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายอำนาจการจัดเก็บรายได้ลงไปสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารมากขึ้น ทั้งในเรื่องคน ภาระหน้าที่ และงบประมาณ
ที่ผ่านมา “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” ทั่วประเทศมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีของตนเองเฉลี่ยปีละ 25,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต่ำมาก เป็นรายได้จาก “ภาษีบำรุงท้องที่” ที่เก็บจากที่ดินและ “ภาษีโรงเรือน” ที่เก็บจากการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม และห้างสรรพสินค้า บ้านเช่า และอพาร์ตเมนต์ เป็นต้น
รายได้อันจำกัดจำเขี่ยที่ท้องถิ่นได้รับนี้ ทำให้รัฐบาลต้องเจียดเม็ดเงินภาษีลงไปอุดหนุน อปท.มาโดยตลอด โดยในปีงบประมาณ 2558 อปท.ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 250,000 ล้านบาท แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของท้องถิ่นทั่วประเทศอยู่ดี
สาเหตุที่ อปท.ไม่สามารถจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เพราะกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมมีข้อจำกัดและข้อยกเว้นมากมาย อัตราภาษีที่กำหนด และการประเมินราคาที่ดินที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2521–2524 โดยไม่เคยปรับให้สอดคล้องกับสภาพความเจริญทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง!
ตัวอย่างเช่น ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครตั้งแต่ 50-100 ตารางวาไม่ต้องเสียภาษี หรือกรณีที่ดินในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แม้จะมีขนาดที่ดินถึง 5 ไร่ก็ตาม ขณะที่การประเมินราคาที่ดินที่ต้องเสียภาษีก็มี “ช่องโหว่” เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ “ดุลพินิจ” ประเมินได้ตามใจชอบ กลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษีกันอย่างกว้างขวาง
กระทรวงการคลังจึงเดินหน้า “ยกเครื่อง” ปฏิรูปภาษีโรงเรือนขนานใหญ่ ยกระดับขึ้นเป็น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่จะเรียกเก็บภาษีบนฐาน “ทรัพย์สิน” หรือ Property Tax ซึ่งแตกต่างจากภาษีประเภทอื่นๆ ที่จัดเก็บจากรายได้ หรือการจับจ่ายใช้สอย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ โดยกระทรวงการคลังได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ จนผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุม “คณะรัฐมนตรี (ครม.)” ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2553
แต่เมื่อนายกฯ ในขณะนั้นประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ จึงทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกส่งกลับไปตั้งหลักกันใหม่ กระทั่งรัฐบาล คสช.ชุดนี้ประกาศนโยบาย “ปฏิรูปภาษี” จึงได้ปัดฝุ่นกฎหมายฉบับนี้มาดำเนินการควบคู่ไปกับ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก” และ “ร่างประมวลรัษฎากรที่ว่าด้วยการรับให้” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนำส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนหน้านี้
แต่ “ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ยังคงสะดุด และสุดท้ายมีคำสั่งชะลอไปไม่มีกำหนด
ในมุมมองของนักพัฒนาเมืองโดยทั่วไป “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชี้นำการพัฒนาเชิงกายภาพในที่ดินภาคเอกชนให้เป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้ และอีกมุมหนึ่งก็คือการสร้าง “ความเท่าเทียม” ในการเข้าถึงทรัพยากรที่ขาดแคลนนั่นคือ “ที่ดิน” โดยมีหลักคิดอยู่ 2 ประการได้แก่
ประการที่ 1.เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในภาพรวม โดยใช้มาตรการภาษีเพื่อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม และมีค่าปรับต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินตามระดับความเข้มข้นของการทิ้งที่ดินเอาไว้โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
ประการที่ 2.เพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ เพราะอัตราภาษีในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีเป้าหมายอีกประการเพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งมีผลให้เกิดการใช้ที่ดินอย่าง “ไม่คุ้มค่า” ทำให้คนที่มีความต้องการใช้ที่ดินจริงๆ ต้องจ่ายในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะถูกนักเก็งกำไรซื้อดักหน้าไว้เก็งกำไร
แต่ประเด็นที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูก “ต่อต้าน” จนนายกฯต้องร่นถอย ก็มาจากความไม่ชัดเจนในเนื้อหา และอัตราภาษีที่ปรากฏอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ปรับเปลี่ยนไปมาเป็นรายวันจนเวียนหัว เมื่อมาประจวบเหมาะกับความล้มเหลวในการสื่อสารของผู้รับผิดชอบในภาครัฐ จากความต้องการเบื้องต้นที่อยากจะลดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับคนไทยที่มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ การปล่อยให้มีการสื่อสารกับผู้คนในสังคมในวงกว้างสับสน ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ อย่างกรณีที่ นายสมหมาย ภาษี ออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า “หากไม่มีภาษีที่ดินฯ ก็เท่ากับไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างภาษี” รวมถึงการออกมานำเสนอข้อมูลว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ท้องถิ่นจะมีรายได้จัดเก็บเพิ่มจาก 20,000-30,000 ล้านบาท จะเพิ่มทะลักขึ้นไปเป็น 200,000 ล้านบาท
กลับยิ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกมากขึ้นไปอีก เพราะไม่แน่ใจว่า อัตราที่จะจัดเก็บจริงมีอะไรซ่อนเร้นอยู่อีกหรือไม่ รายได้ภาษีของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่านี้ ผู้มีรายได้น้อยจะต้องถูกผลักภาระให้รับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระทรวงการคลังสื่อสารแบบสับสน โยนหินถามทางรายวัน วันหนึ่งบอกว่า มีการให้ค่าลดหย่อนในบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท พออีกวันขยับการยกเว้นภาษีขึ้นไปเป็น 1.5 ล้านบาท และ 2-2.5 ล้านบาทในเวลาถัดมา ลู่ลมไปมาตามกระแสสังคมที่ผันเปลี่ยนไป และแม้ว่าจะมีการสั่งให้ชะลอ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯไปแล้วก็ตาม “ขุนคลัง”ยังได้ประกาศปรับอัตราภาษีที่ดินทิ้งท้ายไว้อีกครั้ง
แนวทางล่าสุด ของ “สมหมาย ภาษี” รมว.คลัง ได้ประกาศยกเลิกการเว้นภาษีและค่าลดหย่อนทั้งหมด แต่จะใช้วิธีกำหนดภาษีในอัตราที่ต่ำแทน เพื่อลดภาระให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่ฐานการจัดเก็บจะใหญ่ขึ้น เพราะทุกคนซึ่งมีที่อยู่อาศัยไม่ว่าบ้านราคาต่ำหรือสูงแค่ไหนจะต้องจ่ายภาษีที่ดินทุกรายเหมือนกันหมด
โดยกำหนดเป็นอัตราดังนี้ คือ บ้านมีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษี 250 บาท บ้านราคา 2 ล้านบาท เสียภาษี 500 บาท บ้านราคา 3 ล้านบาท เสียภาษี 1,000 บาท บ้านราคา 4 ล้านบาท เสียภาษี 1,500 บาท บ้านราคา 5 ล้านบาท เสียภาษี 2,500 บาท บ้านราคา 10 ล้านบาท เสียภาษี 7,500 บาท และบ้านราคา 20 ล้านบาท เสียภาษี 17,500 บาท เป็นต้น ขณะที่ที่ดินเพื่อการเกษตร จะยังมีการยกเว้นภาษีให้สำหรับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท (ตามตาราง)
ส่งผลให้ผู้คนโดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่มีบ้านที่อยู่อาศัยทุกคนในประเทศนี้ จะกลายเป็นผู้แบกรับภาษี “ทั้งขึ้น–ทั้งล่อง” และเชื่อว่า หากไม่มีการสั่งชะลอการเดินหน้าภาษีดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนครั้งล่าสุดของ รมว.คลัง จะกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ที่ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านเพิ่มขึ้นอีกระลอกอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์พิเศษของ “ทีมเศรษฐกิจ” รมว.คลัง คงยืนยันว่า เป็นเพียงการชะลอชั่วคราว เพื่อนำไปปรับปรุงเนื้อหา และหาจังหวะเวลาในการดำเนินการที่เหมาะสม ไม่ใช่การถอยแบบถาวร
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นนำภาษีเหล่านี้ไปพัฒนาพื้นที่ชุนชนของตนเอง” นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวเปิดใจกับ “ทีมเศรษฐกิจ” หลังจากที่รับทราบข่าวนายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอภาษีที่ดินฯ ไปแล้ว
โดย นายสมหมายกล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้ว่า “เพราะภาษีตัวนี้ จะเป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นการจัดเก็บรายได้บนฐานความมั่งคั่งของคนรวย ส่วนคนจนนั้นเราจะยกเว้นภาษีให้อยู่แล้ว และยังมีเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอยู่ด้วย”
รมว.คลัง ชี้แจงต่อไปว่า ในรายงานการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่า ประเทศสมาชิก 189 ประเทศ มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้น ไม่มีภาษี Property Tax สำหรับประเทศไทยนั้น แม้เรามีภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีภาษีประเภทนี้ แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บท้องถิ่นทำได้เพียงปีละ 25,000 ล้านบาทเท่านั้น จากข้อจำกัดและช่องโหว่ที่มีอยู่เพียบ ทำให้รัฐบาลต้องจัดงบลงไปอุดหนุนให้ท้องถิ่นถึงปีละกว่า 250,000 ล้านบาท
“มันถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องมีภาษีนี้ออกมาใช้จริงๆ วันนี้ทั่วโลกต่างยอมรับในเรื่องของรัฐสวัสดิการ ที่รัฐจำเป็นต้องจัดหาให้ เราจำเป็นต้องหาแหล่งเงินเพื่อมาทำเรื่องเหล่านี้ ยิ่งล่าช้าช่องว่างทางสังคม ช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวยจะยิ่งถ่างออกไปและยิ่งแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น ถ้าเริ่มได้ในวันนี้กว่าจะมีผลบังคับใช้จริงก็ต้องรอไปอีก 2 ปีหรือในปี 2560 ไปแล้ว”
ส่วนกรณีที่ผู้คนก่นด่าว่า อัตราภาษีไม่นิ่ง สร้างความสับสนให้ประชาชนนั้น รมว.คลังยอมรับว่าเหตุที่อัตราภาษีไม่นิ่ง เพราะกระทรวงการคลังต้องการทำออกมาให้ดีที่สุด สร้างผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยน้อยที่สุด จึงต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่า อัตราภาษีระดับไหนถึงจะมีความเหมาะสม
“ที่ผ่านมา ผมก็โยนก้อนหินถามทางตามวิธีการของผม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเข้าใจดี แต่เนื่องจากปัญหามีหลายเรื่องที่ต้องสะสาง เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอ ผมก็ชะลอ แต่ไม่ได้เลิกคิดเรื่องนี้” รมว.คลังกล่าวทิ้งท้าย
*************
เมื่อประมวลมาถึงจุดนี้ จากจุดเริ่มของหลักการที่ดีในการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคมของ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” แต่กลับต้องมาพบ “จุดจบ” จ่อจะต้องถูก “ปิดประตูลั่นดาล” ภายใต้เงื้อมมือของขุนคลังที่ชื่อ “สมหมาย ภาษี”
“ทีมเศรษฐกิจ” อยากเตือนให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงรากฐานที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการถือครองและเก็งกำไรที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำของผู้คน โดยมีเป้าหมายจัดเก็บอยู่ที่เศรษฐีผู้มีอันจะกิน และโดยเฉพาะบรรดา “แลนด์ลอร์ด” ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐในยาม “ถังแตก” เช่นนี้
นอกจากนั้น หากไม่เดินหน้าภาษีที่ดินฯ จนรัฐหมดทางเลี่ยง ต้องหันไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาระจะตกกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมมากกว่าภาษีที่ดินหลายร้อยเท่า
ที่สำคัญที่สุด การยกเครื่องปฏิรูปและผลักดันกฎหมายในลักษณะนี้ หากไม่ใช่รัฐบาล คสช.ชุดนี้ที่กล้าลุกขึ้นมาดำเนินการ ยังคิดว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหนกล้าลุกขึ้นมาปัดฝุ่นกฎหมายในลักษณะเช่นนี้อีก!
และในที่สุด หากการชะลอกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินในวันนี้ กลายเป็นการ “ถอยร่นอย่างถาวร” ไม่เพียงแต่ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ที่ต้องถูก “กระตุกเบรก” จนหัวคะมำ แต่ยังอาจส่งผลทำให้
“ร่าง พ.ร.บ.การรับมรดก” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช.อาจจะมีปัญหาตามไปด้วย
ยิ่งทำให้หนทางลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กลายเป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้!!!
“ทีมเศรษฐกิจ” หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อรัฐบาล คสช.ประกาศนโยบายแน่วแน่ที่จะคืนความสุขแก่ประชาชนคนไทย การชะลอร่างกฎหมายที่ยังสร้างความตื่นตระหนก ไม่เข้าใจให้กับผู้คนในสังคมแม้เป็นเรื่องเหมาะสมและสมควรยิ่งที่นายกฯ “ต้องดำเนินการ”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ภารกิจที่แท้จริงในอันที่จะสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และโดยเฉพาะการวางรากฐานการจัดเก็บภาษีที่จะทำให้รัฐบาลในอนาคตเดินหน้านโยบายภาษีที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งนายกฯและหัวหน้า คสช.เองต้องมีความ “หนักแน่น” เดินหน้าอย่าได้ย่อท้อ แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน รอบคอบรัดกุม ไม่ใช่ทำวันแก้วัน ไม่มีหลักการและทิศทางที่เหมาะสม
หาไม่แล้วความตั้งใจที่จะ “คืนความสุข–ลดความเหลื่อมล้ำ” จะ “เสียของ” ไปโดยเปล่าประโยชน์
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 16 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.