หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งชะลอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะสร้างภาระให้ประชาชนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี
สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
การที่นายกรัฐมนตรีสั่งถอยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเพราะฟังแล้วดูแล้ว เห็นว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนในขณะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมันไม่ดีจริงๆ แล้วถ้าเกิดภาษีที่ดินผ่านขึ้นมาก็เหมือนกับเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะการออกภาษีในลักษณะนี้เหมาะกับการที่ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากกว่าเดิม เพราะเป็นการเสียภาษีเพิ่ม อีกทั้งยังไปบรรจบกับการที่มีข่าวขึ้นเงินเดือนข้าราชการ มันก็ยิ่งเหมือนกับเป็นการไปหาเงินมาช่วยข้าราชการ มันดูไม่ค่อยเหมาะ
ง่ายๆ เลย บรรยากาศมันไม่ให้ จังหวะมันไม่ใช่
ส่วนที่มีคนบอกว่าจะเป็นการทำลายความนิยมหรือฐานเสียงหรือไม่ มองว่าเรื่องฐานเสียงรัฐบาลคงไม่ค่อยคิดเท่าไร เพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็อยากได้รับความรัก ความชอบ ความนิยม ถึงแม้จะไม่ได้หวังการเลือกตั้งในอนาคตก็ตาม
หากถามว่ากรณีภาษีที่ดิน บ้าน ควรจะมีการจัดเก็บในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องมองให้เห็นว่า ทุกวันนี้คนเรายังมีปัญหาเรื่องบ้านเป็นจำนวนมาก บ้านนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ และน่าจะสำคัญมากกว่ารถเสียอีก แต่ว่าคนยังไม่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ หากมองย้อนกลับไปโครงการบ้านหลังแรก กลับเป็นการช่วยคนไม่ต้องเสียภาษีเพื่อซื้อบ้านด้วยซ้ำ มันสวนทางกัน อะไรที่เป็นปัจจัยที่คนจำเป็นก็ควรที่จะสนับสนุน อย่างบ้านหลังแรก จริงๆ แล้วดูดีกว่ารถคันแรกเสียอีก แต่รัฐบาลนี้กลับมาเก็บภาษีบ้านคนอยู่
บางคนบอกว่าเป็นเรื่องยุติธรรมอะไรก็แล้วแต่ แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อน และมาเกิดในช่วงที่ประชาชนยังดิ้นรนเพื่อที่จะมีบ้านอาศัยอยู่ บรรยากาศแบบนี้จะเรียกเก็บภาษีใหม่ๆ เพิ่มไม่ได้ ทางที่ดีควรที่จะกวดขันภาษีที่มีอยู่แล้วให้เสียกันเต็มที่ เต็มทาง ไม่ให้มีร่องมีรอย กวดขันไม่ให้มีช่องโหว่ อีกทั้งการเปิดเผยตัวเลขการเสียภาษีของคนรวยนั้นสามารถที่ทำได้หรือไม่
ยุทธพร อิสระชัย
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
วันนี้มีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยกัน 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องการเมือง สภาวะทุกวันนี้ยังไม่นิ่ง แต่อยู่ในภาวะการสงบ แต่ปัจจัยต่างที่จะทำให้เรื่องการเมืองกลับขึ้นมาและกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลก็ยังมีอยู่ เช่น เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติต่างๆ หรือการเลือกตั้ง 2.เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลให้ปัจจัยทางการเมือง ที่วันนี้อยู่ในสภาวะที่สงบชั่วคราว ถูกกระตุ้นขึ้นมาได้ ทำให้เกิดการกระตุ้นความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาใหม่ หรือเป็นตัวเร่งที่กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลได้
เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เข้ามา ทำให้เราเห็นได้ว่านโยบายในการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายรายได้ของรัฐบาลชุดนี้ เราไม่เห็นภาพชัดนัก ทำให้เกิดภาวะการเก็บภาษีแต่ไม่กระจายรายได้ ความเดือดร้อนจึงตกอยู่ที่ประชาชน คนส่วนใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อนคือ คนชั้นกลางหรือคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฐานคนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้ทำรัฐประหารและรัฐบาลชุดนี้ด้วย
คนชั้นกลาง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลถอยเรื่องนี้ ซึ่งการถอยเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลครั้งนี้ เป็นพียงภาวะชั่วคราวที่ทำให้เรื่องการวิพากษณ์วิจารณ์ที่รัฐบาลจะต้องเจออย่างหนักมันจบลงชั่วคราวเท่านั้นแต่โดยพื้นฐานเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลยังไม่ค่อยมั่นคงนักเพราะยังมีปัจจัยปัญหาอื่นอยู่อีกมากมาย
การถอยของรัฐบาลครั้งนี้ มองว่าเป็นแค่การถอยไปชั่วคราวเพื่อลดแรงกดดัน แต่จะกลับมาอีกครั้งในช่วงที่กระแสสังคมกำลังให้ความสนใจเรื่องอื่นอยู่ เช่น ช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือช่วงกำลังประกาศเลือกตั้ง เป็นต้น ช่วงนี้มีโอกาสที่จะถูกหยิบยกกลับเข้ามาอีก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็บอกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้หายไปไหน แต่วันนี้ขอเอากลับมาศึกษาให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นมีโอกาสสูงมากที่จะกลับมาอีก
ทั้งนี้ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนตัวมองว่า มันเป็นกลไกที่ดีอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเสมอภาคกันในสังคม แต่บนพื้นฐานตรงนี้ต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการกระจายรายได้ด้วย ไม่ใช่รายได้กระจุกอยู่กับคนบางกลุ่ม แต่ภาษีกระจายกับคนทุกกลุ่ม อย่างนี้มันไม่เป็นธรรม กลับกันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะยิ่งกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของทุนในการผลิต คือ ที่ดิน ไปอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม
นายทุนที่ถือครองที่ดิน 5-6 ตระกูลใหญ่ในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจ่ายได้ และมีทุนที่สามารถจ้างนักกฎหมายเก่งๆ ให้หาช่องทางให้เสียภาษีตรงนี้ลดลง หรืออาจจะถือครองในรูปแบบบริษัท คณะบุคคลได้ ซึ่งการถือครองตรงนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่ดินจากคนกลุ่มใหญ่จริงๆ มาสู่ประชาชนจริงๆ ถ้าเรามีแค่กฎหมายตัวนี้แต่ยังขาดกฎหมายการกระจายรายได้ และไม่มีกฎหมายป้องการผูกขาด กฎหมายป้องการทุ่มตลาด ผลกระทบจะตกอยู่กับคนชั้นกลางที่มีที่ดิน ที่ท้ายที่สุดหากไม่มีเงินจ่ายที่ดินเหล่านี้จะไปตกอยู่ที่กลุ่มนายทุน
ถ้าจะมีกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องมีกฎหมายส่วนนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่เช่นนั้นจะเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์และที่สำคัญคือต้องตั้งคำถามว่า วันนี้มีกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออะไร ถ้าบอกว่า จะเอาไปให้กับเกษตรกรและคนไม่มีที่ดิน นั่นหมายถึงสังคมต้องมีลักษณะเกษตรกรรม แต่วันนี้สังคมไทยก้าวข้ามสังคมเกษตรกรรมมาพอสมควร ที่ดินเหล่านี้จะตกอยู่กับเกษตรกรจริงหรือไม่
ธนพร ศรียากูล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
การที่นายกฯสั่งชะลอ น่าจะมีสาเหตุว่ากฎหมายฉบับนี้คงไปกระทบกับผู้ที่เคยให้การสนับสนุนนายกฯเป็นหลัก เพราะว่าจริงๆ แล้วการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคน เป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มชนชั้นรากหญ้ามานานแล้ว และเป็นข้อเสนอหนึ่งในการปฏิรูปประเทศของ กปปส.ด้วยซ้ำไป ในช่วงการชุมนุมที่สวนลุมพินี
เข้าใจว่าเวลานั้นทุกคนซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุมก็ดูเหมือนจะเห็นด้วยกันไปทั้งหมดแต่พอมาถึงเวลาจริงแล้วก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่ให้การสนับสนุนนายกฯหรือรัฐบาล ไม่ได้มีเจตนาในการปฏิรูปที่แท้จริง เพราะมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือการแก้ปัญหาเรื่องการกระจายตัวของที่ดินทำกิน ดังนั้นการที่นายกฯชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้ ชนิดว่าไม่มีระยะเวลาจำกัดก็ไม่สามารถแปลความเป็นอื่นใดว่า นายกฯคงเกรงจะไปกระทบต่อคะแนนเสียงความนิยมของกลุ่มคนที่สนับสนุน เช่นเดียวกับกรณีนายกฯ ได้ออกคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้วปรากฏว่าผู้คนซึ่งเคยให้การสนับสนุนการเข้ามาของนายกฯ มีแรงต่อต้านท่าน
เพราะฉะนั้นการที่นายกฯสั่งชะลอเรื่องนี้ ในทรรศนะผมคิดว่า ผิดหวังมาก แต่สะท้อนให้เห็นความจริงว่า แท้จริงความตั้งใจหรือวาทกรรมที่บอกว่า ตั้งใจจะเข้ามาปฏิรูปประเทศไทยให้ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจที่แท้จริง ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เพราะการกระจายตัวของที่ดินทำกินเป็นสาเหตุหลักประการสำคัญที่สังคมไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
คิดว่าในแง่ของหลักการการจัดเก็บภาษีที่ดินมีความจำเป็นและในรูปแบบที่กระทรวงการคลังเสนอหรือรูปแบบใดก็ตาม จะต้องเปิดเวทีให้เกิดการถกเถียง เกิดการโต้แย้งถึงรูปแบบที่เหมาะสมอย่างเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งรัฐบาลสามารถดำเนินงานได้คือ การแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ว่า การจัดเก็บภาษีนี้จะต้องเกิดขึ้น แต่ในเมื่อวันนี้รัฐบาลหรือ คสช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในเวลานี้ ได้แสดงออกอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริง ก็คงเป็นภาระของพี่น้องประชาชนที่จะต้องไปเรียกร้องต่อพรรคการเมืองในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แล้วจะคือคำตอบที่ว่า หลายๆ เรื่อง คนที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถจะทำได้ พรรคการเมืองก็ต้องมีหน้าที่แสดงให้เห็นว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งสามารถทำได้ทุกเรื่อง
ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีนี้ แล้วยิ่งเป็นรัฐบาลที่บอกว่าจะเข้ามาปฏิรูปในสิ่งที่นักการเมืองจะไม่ทำ ยิ่งต้องทำ แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าพอเอาเข้าจริงแล้วก็ทำให้เห็นว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้ามาปฏิรูปในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง
ที่มา : มติชน วันที่ 14 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.