"สหกรณ์" เป็นกลไกที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงไว้ในนโยบายว่า จะเป็นกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนการเกษตร ประกอบกันกับโมเดลการจัดการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะรวมตัวเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันมาบริหารร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำการตลาด และเพิ่มอำนาจต่อรองกับพ่อค้าเอกชน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงรับลูกนำเสนอโครงการส่งเสริมการเกษตรผ่านกลไกสหกรณ์ 2 โครงการในปี 2558 นำร่องด้วยสินค้าเกษตร 2 ชนิด คือ ข้าว และปาล์มน้ำมัน ระยะโครงการ 5 ปี รวม 2 โครงการ ใช้งบประมาณรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท
โดยโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวสถาบันเกษตรกร จะอบรมให้สถาบันเกษตรกรดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น ตั้งแต่การรวบรวมและแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ทำการตลาด และโลจิสติกส์ มีการฝึกอบรม ให้โครงสร้างพื้นฐาน และเชื่อมโยงตลาด ใช้งบประมาณรวม 6,500 ล้านบาท เป็นเงินให้สถาบันเกษตรกรกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือกองทุนต่าง ๆ 5,000 ล้านบาท จะดำเนินการทั้ง 3 ชนิดข้าว คือ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ในสถาบันเกษตรกร 50 แห่ง จาก 19 จังหวัด เช่น ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปทุมธานี อยุธยา ขอนแก่น
รายงานจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ระบุว่า เป้าหมายโครงการนี้ที่จะพัฒนาอย่างเด่นชัด คือ 1)เพิ่มเงินทุนและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลานตาก ไซโล ยุ้งฉาง เพื่อให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกได้เพิ่มขึ้น จากปี 2557 รวบรวมได้ 4.5 แสนตัน คิดเป็น 10.5% ของผลผลิตข้าวเปลือกของสมาชิกเท่านั้น ดังนั้นจึงตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 9.5 แสนตัน ในปี 2562
2)ปรับปรุงหรือก่อสร้างโรงสีสหกรณ์เพิ่ม ปัจจุบันมีสหกรณ์รวบรวมข้าวเปลือก 556 แห่ง ในจำนวนนี้มีสหกรณ์ที่มีโรงสีเพียง 133 แห่ง และที่มีมาตรฐาน GMP มีเพียง 35 แห่งเท่านั้น โครงการจึงตั้งเป้าจะเพิ่มศักยภาพการสีแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเพิ่ม จากปี 2557 สีแปรได้ 5.4 หมื่นตัน ปี 2562 จะเพิ่มเป็น 1.34 แสนตัน ซึ่งการดำเนินงานที่ดีขึ้นของสหกรณ์จะทำให้มีรายได้คืนสู่สมาชิกเพิ่มประมาณ 100 บาท/ตันข้าวเปลือก
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานแถลงข่าว 99 ปีการสหกรณ์ไทยว่า ข้าวถือเป็นปัญหาใหญ่ มีสถาบันเกษตรกรกว่า 3,000 แห่ง จากทั้งหมด 8,000 แห่ง ที่ทำธุรกิจรวบรวมข้าวจากสมาชิก ผลผลิตข้าวปริมาณ 11.8 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น 39.7% ของผลผลิตทั้งประเทศ มาจากสมาชิกสถาบันเกษตรกร
"ถ้าสหกรณ์รวบรวมได้เพิ่มก็จะเป็นหน่วยค้าขายอีกหน่วยหนึ่ง นอกจากพวกพ่อค้าที่มีโรงสี จะทำให้อำนาจต่อรองของเกษตรกรเพิ่มขึ้น" นายปีติพงศ์กล่าว
ด้านโครงการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและตลาดปาล์มน้ำมันมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มไม่เพียงพอและให้ศักยภาพการผลิตแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยการปรับปรุงพันธุ์ปาล์ม ดิน และน้ำ รวมถึงเพิ่มจุดลานเทและโรงสกัดปาล์มน้ำมันดิบของสหกรณ์ ใช้งบประมาณทั้งหมด 3,400 ล้านบาท เป็นเงินให้สหกรณ์กู้ยืม 1,200 ล้านบาท จาก ธ.ก.ส. และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จะดำเนินการกับสหกรณ์ 12 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ชุมพร กระบี่
โดยโครงการปรับโครงสร้างปาล์มน้ำมันในระยะ 5 ปี จะดำเนินการดังนี้ 1)ตั้งกลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ 150 กลุ่ม กลุ่มละ 2,000-5,000 ไร่ มีผู้จัดการฟาร์ม เพื่อบริหารการผลิตร่วมกัน 2)ในพื้นที่ปลูกรวม 3.9 แสนไร่ จะเป็นการปลูกใหม่ 4 หมื่นไร่ มีการปรับสภาพดิน 1 แสนไร่ และพัฒนาแหล่งน้ำ 7 หมื่นไร่ 3)สร้างลานเทของสหกรณ์จาก 33 แห่ง เพิ่มเป็น 53 แห่ง 4)สร้างโรงสกัดปาล์มน้ำมันดิบของสหกรณ์เพิ่ม 5 แห่ง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มจาก 3.3 ตัน/ไร่ เป็น 3.8 ตัน/ไร่ ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่ม 4,240 บาท/ไร่/ปี
จัดคิวให้เกษตรกรรายย่อยขายตลาดกลาง
ด้านนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การระบายสต๊อกยางพาราของรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งมอบยางให้แก่ บริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ฯ เพิ่มแล้ว 1.5 หมื่นตัน จากที่ส่งมอบครั้งแรก 2,000 ตัน ไปเมื่อช่วงสิ้นปี 2557 โดยยางที่ส่งมอบครั้งนี้เป็นยางเก่าในสต๊อกตั้งแต่ปี 2555 แต่เป็นยางคุณภาพดี ได้ราคาพรีเมี่ยม 63 บาท/กก. ตามที่ทำสัญญาซื้อขาย
"ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการส่งมอบยางเพิ่ม เพราะเกรงกันว่าราคายางจะตกลง จึงชะลอออกไปก่อน จากนี้เป็นช่วงปิดกรีดก็จะเร่งส่งมอบยาง แต่จะส่งมอบได้เท่าไหร่นั้น เป็นไปตามกลไกธุรกิจที่ต้องตกลงกันสองฝ่าย ต้องเป็นความต้องการของผู้ซื้อด้วย"
นายอำนวยกล่าวต่อว่าด้าน 16 มาตรการยางที่ขับเคลื่อนไปแล้วนั้น จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์เร็ว ๆ นี้ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยการประเมินของกระทรวงเกษตรฯเองนั้น มองว่ามาตรการโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ เป็นมาตรการที่ได้ผลดีแต่โครงสร้างตลาดปรับตัวไม่ทันความต้องการ
"เรารับทราบแล้วว่ามีปัญหาเรื่องการจัดคิวในตลาดกลาง ครั้งถัดไปถ้ายังมีการใช้มาตรการนี้ต่อ จะจัดคิวจัดระบบการจัดการให้เรียบร้อย เพราะมีแนวคิดแล้วว่าต่อจากนี้เกษตรกรรายย่อยที่มาขายครั้งละไม่เกิน 15 ตันต้องได้ขายก่อน หรืออีกแนวทางหนึ่ง อาจใช้การยกระดับตลาดท้องถิ่น สกย.108 แห่ง เพื่อไม่ให้เกษตรกรรายย่อยต้องขนส่งมาถึงตลาดกลาง"
นายอำนวยเปิดเผยว่า การจัดการยางพาราฤดูการผลิต 2558/59 จะเป็นการบริหารงานจากระดับจังหวัด ได้สั่งการให้จังหวัดทำแผนจัดการตนเองเกี่ยวกับสินค้ายาง 6 ชนิด ได้แก่ ยางก้อนถ้วย น้ำยางสด ยางแผ่นดิบในตลาดท้องถิ่น ยางแผ่นดิบในตลาดกลาง ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดกลาง และยางที่จำหน่ายให้กลุ่มพ่อค้าส่งออก ซึ่งจังหวัดจะต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับยางทั้งหมดในพื้นที่ เช่น ราคายางในทุกตลาด ปริมาณผลิต โรงงานผลิตและรับซื้อยาง ตลาดซื้อขายยาง ต้นทุนการผลิต ซึ่งจะต้องส่งข้อมูลให้กระทรวงเกษตรฯทั้งหมดภายใน 5 มี.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า การเร่งขับเคลื่อนเรื่องยางในระดับจังหวัด หากจังหวัดใดไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าจะถูกรายงานถึงกระทรวงมหาดไทยและอาจถูกโยกย้ายตำแหน่ง
สำหรับราคายางวันที่ 25 ก.พ. 58 ราคา FOB ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 61.45 บาท/กก. ขณะที่บัฟเฟอร์ฟันด์เข้าซื้อที่ราคา 63 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด 47 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย 39.50 บาท/กก. และยางแผ่นดิบราคา 58 บาท/กก.
ชง 3 เรื่องสร้างความเข้มแข็ง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 9 มี.ค. 2558 จะนำ 3 ประเด็นใหญ่ของระบบสหกรณ์เข้าหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
โดย 3 ประเด็นดังกล่าว ได้แก่ 1)แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับสหกรณ์ ให้มีกองทุนกลางสำหรับช่วยเหลือสหกรณ์ต่าง ๆ ในกรณีฉุกเฉิน ให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าตรวจสอบสหกรณ์ที่ส่อพิรุธการกระทำผิด และปรับระเบียบให้สหกรณ์บริหารงานได้คล่องตัวขึ้น 2)โครงการปรับประสิทธิภาพสหกรณ์เกี่ยวกับพืช 2 ชนิด คือ ข้าว และปาล์มน้ำมัน วงเงินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท 3)แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อระบุให้รัฐบาลต้องสนับสนุนระบบสหกรณ์ทุกสมัย
นายปีติพงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้จะนำเสนอเรื่องการชะลอหักค่าเสื่อมในบัญชีสหกรณ์ เมื่อมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากขณะนี้สมาชิกสหกรณ์มักเกรงว่าเงินปันผลจะลดลงในปีแรก ๆ หลังลงทุน ทำให้การลงทุนพัฒนาของสหกรณ์ล่าช้าหรือไม่เกิดขึ้น
"ไม่ใช่แก้เพื่อไม่แสดงการหักค่าเสื่อม อันนั้นติดคุก แต่อาจชะลอการหักค่าเสื่อมให้ช้าลงได้ เช่น เคยเฉลี่ยหักปีละ 10% ก็ปรับเป็น 5% แต่ก็ต้องดูว่าจรรยาบรรณทางบัญชีจะทำได้หรือไม่" นายปีติพงศ์กล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.