ร่างภาษีที่ดินฯไม่สะเด็ด! ชงรมว. คลังเร่งหาข้อยุติ 5 มี.ค. "สศค.-ธนารักษ์" เล็งทบทวนฐานประเมินภาษีจากมูลค่าของที่ดิน เป็นการใช้ประโยชน์หวังลดความลักลั่น เสนอรัฐเร่งกำหนดโซนนิ่งแยกพื้นที่-ประเภทการใช้ให้ชัด ชูโมเดล "กทม." เป็นต้นแบบ ก่อนทยอยใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ระหว่างรอความชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราเพดาน หรืออัตราจัดเก็บ /ข้อยกเว้น และการลดหย่อน ตามร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ...ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณานั้น ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานภาษีลง 50% จากร่างฯก่อนหน้า เช่น ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานจัดเก็บใหม่เป็นอัตรา 0.25%จากเดิมอยู่ที่ 0.50% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยเพดานจัดเก็บใหม่เป็น 0.50% จากเดิม 1% และที่ดินเพื่อการพาณิชย์ รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์เพดานจัดเก็บใหม่เป็น 2% จากเดิม 4% ทั้งนี้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหากไม่ใช้ประโยชน์จะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.5% และจะเพิ่ม 1 เท่าตัวทุก 3 ปี ขณะที่เกณฑ์ยกเว้นภาษีที่ดินและบ้านสำหรับอยู่อาศัยที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนบ้านที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเก็บภาษี 50% และบ้านที่เกิน 3 ล้านบาท จะเก็บเต็มทั้งจำนวน
ต่อประเด็นดังกล่าว นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเพดานภาษี อัตราภาษีที่เก็บจริง รวมถึงเกณฑ์ยกเว้นและลดหย่อนต่างๆ เพื่อลดภาระผู้เสียภาษีที่กังวลว่าจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเสียภาษีมาก่อนและผู้มีรายได้น้อย ก่อนที่จะเสนอครม. ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่เก็บจริงจะเป็นเท่าไหร่ สศค. จะมาพิจารณาปรับฐานที่ดินเป็นราคา ณ ปัจจุบัน จากฐานราคาประเมินที่ดินปี 2521- 2524 โดยจะไม่ให้ผู้เสียภาษีมีภาระเพิ่มขึ้นจากที่เคยเสียไปมากกว่าเดิมแน่นอน ตัวอย่างเช่น บ้านราคา 5 ล้านบาท เคยจ่ายภาษีเฉลี่ย 1 พันบาทต่อปี แต่หากใช้ราคาประเมินที่ดินปัจจุบัน ราคาบ้านปรับขึ้นเพิ่ม 10 เท่า ภาระภาษีใหม่ที่ต้องจ่ายเป็นหลักหมื่นบาทต่อปีแน่นอน
"การพิจารณากำหนดอัตราภาษีที่เก็บจริง สศค. จะกำหนดให้ผู้เสียภาษีมีภาระเริ่มต้นที่หลักร้อยบาทต่อปี เช่น เริ่มที่ 300-400 บาทต่อปี ซึ่งยังมีเกณฑ์แบ่งเบาภาระการเสียภาษีเป็นระยะเวลา 3 ปี และเกณฑ์ยกเว้นรวมถึงลดหย่อนภาษีอีก จากนั้นอาจจะปรับอัตราภาษีเก็บจริงใหม่ ให้อยู่ที่ระดับ 2 พันบาทต่อปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ระยะเวลาช่วงเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาษีที่ดินฯ อีก 2 ปี เพื่อประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้ครบทั่วประเทศ รวมแล้วมีระยะเวลาถึง 5 ปี โดยที่ผู้เสียภาษีจะไม่มีภาระเพิ่มขึ้นไม่มากไปกว่าเดิม หลังจากกฎหมายประกาศบังคับใช้แล้ว จึงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศอัตราภาษีที่จะเก็บจริงตามมา แต่ต้องรอหารือรมว.คลังให้ได้ข้อยุติก่อน"
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการพิจารณาอัตราเพดานภาษีและอัตราภาษีที่เก็บจริงภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินดังกล่าวนั้น เบื้องต้นต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบของที่ดินแต่ละประเภท แม้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ข้อสรุปรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ขณะนี้ก็มีข้อเรียกร้องเพราะยังมีความลักลั่น จากการพิจารณาอัตราภาษีบนฐานมูลค่าของที่ดิน เช่น พื้นที่สีลม บ้าน ซึ่งจะถูกตีเป็นที่ดินพาณิชย์ จะจัดเก็บอัตราภาษีที่ดินพาณิชย์ จ่ายภาษีที่อัตราสูงกว่าพื้นที่อื่น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมของแต่ละพื้นที่ หรือที่ดินผู้ประกอบการทำโฮมสเตย์ ต้องเก็บภาษีอัตราที่ดินเชิงพาณิชย์ แต่หากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาเป็นประกอบการเชิงเกษตร รัฐต้องเก็บภาษีได้น้อยลง
สำหรับการหารือระหว่าง กรมธนารักษ์ กับ สศค. ต้องกำหนดให้ชัดว่า มูลค่าที่ดินจะพิจารณาบนฐานอะไรเพื่อใช้พิจารณาอัตราภาษี แต่เบื้องต้นกระทรวงการคลัง ควรจะประเมินบนฐานการใช้ประโยชน์ของที่ดิน แทนมูลค่าของที่ดิน ซึ่งใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รายแปลงของกรมธนารักษ์ ที่ให้กรมธนารักษ์เร่งประเมินให้เสร็จ แต่ในขณะนี้ราคาประเมินที่ดินยังแกว่ง อีกทั้งประเมินที่ดินรายแปลงไปได้เพียง 8 ล้านแปลง คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของที่ดินทั่วประเทศ ยังมีอีกกว่า 20 ล้านแปลงที่ยังไม่ได้ประเมิน แต่ต้องยอมรับว่า ที่ดินในประเทศไทยเป็นแบบผสม ไม่ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่แต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งดำเนินการกำหนดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ของพื้นที่และแยกประเภทให้ชัดเจน เช่น โซนนิ่งการเกษตร หรือโซนนิ่งอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากในพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก่อน อีกทั้งมีราคาประเมินที่ดินใหม่รายแปลงครบแล้ว เพื่อมาพิจารณาอัตราเพดานภาษีและอัตราภาษีที่เก็บจริง เช่น พื้นที่สีลม โซนไหนจะถูกประเมินเป็นพื้นที่พาณิชย์ทั้งหมดก็ถูกเก็บในอัตราเดียวกัน เริ่มใช้โมเดลกรุงเทพฯ เป็นต้นแบบ จากนั้นถึงจะขยายผลไปใช้ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ จะส่งผลให้การเก็บภาษีที่ดินฯ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย , ราคาที่ดินปรับลดลง และเกิดการใช้ประโยชน์ของแปลงที่ดินตามศักยภาพ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,032 วันที่ 5 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 4 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.