นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.จะเร่งสรุปรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเร็วที่สุดสัปดาห์หน้า โดยวันที่ 5 มี.ค.นี้ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมด ซึ่ง สศค.จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอัตราเพดานการจัดเก็บภาษี ที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว ส่วนการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ยังไม่มีข้อสรุป แต่วางเป้าหมายราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาท ควรได้รับการยกเว้นภาษี
สำหรับอัตราเพดานสูงสุดในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะเสนอที่ประชุมวันที่ 5 มี.ค.นี้ คือ ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.25% ของราคาประเมิน ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย จัดเก็บไม่เกิน 0.5% ส่วนที่ดินอื่นๆ เช่น ที่ดินเชิงพาณิชย์ จัดเก็บไม่เกิน 2% ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จัดเก็บไม่เกิน 0.5% และจะเพิ่ม 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% “เพดานการจัดเก็บ ได้หารือเบื้องต้นว่า ควรปรับลด ซึ่งเดิมที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดไม่เกิน 0.5% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1% ที่ดินเชิงพาณิชย์ไม่เกิน 4% ส่วนการยกเว้นการจัดเก็บสำหรับผู้มีรายได้น้อยยังไม่นิ่ง จะสรุปในการประชุมครั้งสุดท้ายนี้”
นอกจากนี้ ยังกำหนดการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสถานที่ราชการ วัด สาธารณะสมบัติ ที่ดินของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สถานทูต สภากาชาดไทย ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้หาประโยชน์ สุสาน และที่ดินเอกชนที่ใช้ในราชการ โดยจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม อัตราเพดานการจัดเก็บภาษีที่จะกำหนดในร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นอัตราต่ำเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ และอัตราการจัดเก็บจริงจะยิ่งต่ำกว่าอัตราเพดานที่กำหนด ขณะเดียวกัน ในร่างกฎหมายจะกำหนดอัตราค่าเสื่อมตามสภาพบ้านเก่าบ้านใหม่ก่อนที่จะนำมาคำนวณภาษีด้วย
“นอกจากการกำหนดอัตราการจัดเก็บจริง จะไม่เป็นภาระที่แตกต่างจากการจัดเก็บภาษีในปัจจุบันมากนักแล้ว ในร่างกฎหมายยังกำหนดระยะเวลาในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีให้ 2 ปี หลังจากนั้นในปีที่ 3-5 จึงจะเริ่มเสียภาษีแบบขั้นบันได โดยในปีแรก จะเสียภาษี 50% ของอัตราภาษีที่ต้องเสีย ส่วนปีที่ 2 เสีย 75% และปีที่ 3 ขึ้นไปจะเสีย 100% ดังนั้น ผู้มีภาระภาษีตามกฎหมาย จะมีเวลาถึง 5 ปี กว่าจะเสียภาษีเต็ม 100%”
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 3 มี.ค. 2558