เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 มูลนิธิซิตี้ ของธนาคารซิตี้แบงก์ ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกันแถลงผลวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับต่างๆ พร้อมสรุปแนวทางแก้ไขในระยะยาว โดยจัดทำ “โครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” รวมถึงจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ
ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวนำเสนอตัวเลขที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 84% ของจีดีพี ในขณะที่ สัดส่วนการออมกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน นั้น ต้องกันเงินไปชำระหนี้มากถึง 61% ในแต่ละเดือนเลยทีเดียว
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเชียกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็น 84.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ จีดีพี เพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งหลังจากทำการศึกษามานานกว่า 1 ปี พบว่า ปัญหาเชิงลึกของหนี้ภาคครัวเรือนในประเทศไทยมาจาก 3 สาเหตุคือ
1.ระดับความรู้ด้านการเงินยังต่ำ 2.ปัญหาทัศนคติและความไม่เข้าใจในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล 3.การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน
นอกจากนี้ผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ 3 กลุ่มประชากรที่เป็นฐานส่วนใหญ่ และมีความเสี่ยงในการก่อหนี้เนื่องจากมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินน้อยได้แก่ 1) กลุ่มนักเรียน นักศึกษา 2) กลุ่มเกษตรกร 3) กลุ่มแรงงานรับจ้าง
“ถ้าไม่แก้ไข ปล่อยไปอย่างนี้ มันอาจเกิดภาวะล้มละลายของคนในระดับล่าง มีหนี้ล้นพ้นตัว ซึ่งจะแย่กว่าในอดีตที่เป็นปัญหาหรือภาวะล้มละลายของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินเท่านั้น ผลการวิจัยทำให้เราตระหนักว่าจะต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางนั่นคือ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงิน พร้อมกับการติดตามตรวจสอบหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองประชาชนด้านการเงิน ท้ายที่สุดก็ต้องหาวิธีให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเงินที่สะดวกมากกว่านี้”
นายดาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะตัวแทนจากมูลนิธิซิตี้กล่าวว่า ธนาคารและมูลนิธิฯ มีโปรแกรมในการช่วยเหลือ สนับสนุนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาด้านการเงินในประเทศต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งใน “โครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” นี้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในระยะยาว
เขายังกล่าวด้วยว่ามูลนิธิซิตี้มีความยินดีที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเพื่อศึกษาให้ข้อแนะนำและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อช่วยพัฒนาความรู้ทางด้านการเงินให้ประชากรไทย
นายดาเรนกล่าวอีกว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือน 10.2 ล้านล้านบาทถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่รวดเร็วมาก ในจำนวนนั้นยังมีตัวเลขที่เป็นเงินกู้นอกระบบอีกด้วย ซึ่งในระยะต่อไปจะเพิ่มภาระให้กับสถาบันการเงินของรัฐที่อาจจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้ ตัวเลขทางประชากรก็ชี้ว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีจำนวนคนที่ขาดศักยภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การดูแลของภาครัฐก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าที่ควร ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน เราเริ่มเห็นการชำระหนี้ที่ล่าช้ามากขึ้น ทั้งในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต และหากภาระหนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย”
ที่มา : มติชน วันที่ 3 มี.ค. 2558