เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กล่าวถึงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอว่า ในอดีตมีวิธีการหลายอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชนในส่วนที่เป็นการจัดสรรที่ดิน สปก.
หรืออีกหลายแนวทางแต่ปรากฎว่า ในระยะหลังนี้ที่ดิน สปก. ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในความรับผิดชอบหรือการครอบครองของนายทุนเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยต้องเรียกคืนที่ดินกลับมา อาจมีการฟ้องร้องในเรื่องการชดใช้และดำเนินการจัดสรรที่ดินขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเปลี่ยนมือได้อีก และต้องไปอยู่ในมือของประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจริงๆ
ทั้งนี้ ควรมีการจัดระเบียบพื้นที่ที่ถูกบุกรุกและพื้นที่ใดที่สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าได้ก็ฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่า แต่พื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมจนไม่สามารถแก้ไขได้แล้วก็อาจให้มีการเช้า แต่จุดสำคัญคือไม่ให้มีการขายต่อเพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายเพียงแต่รัฐบาลต้องการที่จะช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ทำดินทำกิน และเรื่องการบุกรุกป่าต้นน้ำยังให้เร่งดำเนินการโดยด่วน ซึ่งต้องนำประชาชนที่บุกรุกพื้นที่ออกมาและจัดสรรที่ว่างให้อยู่ไปพลางก่อน หลังจากนั้นจะเร่งรัดเรื่องจัดสรรที่ทำกินให้แก่ประชาชน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกฯยังกล่าวถึงเรื่องเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางส่วนให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงต่อประชาชน เช่น เมื่อก่อนรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าบุกรุกซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าอย่างอื่น เพราะทำให้เกิดพื้นที่ป่ามากขึ้นซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น ผิดหลักการ เพราะการจะเป็นป่าได้นั้นมันต้องมีความหลายหลายทางชีวภาพ มีพืช ต้นไม้หลายชนิด
เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จึงเป็นการเข้าใจผิด จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดกับประชาชน เป็นการส่งเสริมให้มีการบุกรุกและใช้พื้นที่ป่าไม่ถูกต้อง และเน้นย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดแนวพื้นที่ป่าสงวนให้ชัดเจนและก็กำเนิดพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบสามารถใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ได้ โดยที่ไม่รบกวนสภาพของป่าสงวน เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยหน่วยงานหลักเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตรงพื้นที่โดยรอบ
ที่มา : มติชน วันที่ 18 ก.พ. 2558