สิ่งที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หวังให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ คือการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะคนรากหญ้าในภูมิภาค ถึงขั้นบรรจุให้เป็นวาระ "คืนความสุข" เป็นของขวัญโดยให้เริ่มดำเนินการก่อนปีใหม่
หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยมีโครงการตั้งโต๊ะลงทะเบียนให้ลูกหนี้นอกระบบมาเข้าร่วมโครงการ โดยใช้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับโอนหนี้จากนอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ กำหนดให้กู้รายละ 2 แสนบาท ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 8 ปี
อย่างไรก็ตาม กลับเงียบหายไปในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่มีโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เฉพาะเจาะจง
แต่เมื่อ คสช.ยึดอำนาจ จึงฟื้นโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นมาอีกครั้ง กำหนดให้ศูนย์ดำรงธรรมระดับอำเภอ ทุกจังหวัด จับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับเรื่องร้องทุกข์และเรื่องร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนทั้งหมด เพื่อประสานกับกลไกการแก้ไขปัญหา ที่กระทรวงการคลังวางไว้ ควบคู่กับกระทรวงการคลังที่สั่งการให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ตั้งจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศ
โดย รัฐบาลเตรียมนำร่องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ "โละหนี้เสีย" เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตามโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายเป็นหนี้สูญ แก่เกษตรกร 26,742 รายและองค์กรเกษตรอีก 1,082 แห่ง วงเงิน 4,556 ล้านบาท
เงื่อนไขเกษตรกรที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นหนี้มี 10 ข้อ อาทิ หนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า 1 หมื่นบาท หรือเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
นอกจากนี้ยังขยายเวลาปรับโครงสร้างและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ออกไปอีก 18 เดือน โดยใช้จ่ายเงินที่เหลือในบัญชีอีก 945,392,710 บาท
สืบเนื่องจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บอกวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตั้งแต่ระดับอำเภอแบบละเอียดยิบ-4 ขั้นตอน
อันดับ แรก โดยจัดเจ้าหน้าที่เพื่อมาตั้งโต๊ะคัดกรองลูกหนี้ โดยศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ จะคัดกรองโดยดูสัญญาเงินกู้และดอกเบี้ย ลูกหนี้ เจ้าหนี้ อยู่ในพื้นที่หรือไม่ ลูกหนี้มีศักยภาพในการชำระหนี้หรือไม่
อันดับ สอง หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามแผนการแก้ไขหนี้นอกระบบ ดังนี้ 1.กรณีข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์หรือมูลหนี้ไม่เกิน 2 แสนบาท อำเภอมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และกฎกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 ถ้าคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่พิพาทอีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการที่มีเขตอำนาจให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตามข้อ 25 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553
2.กรณีข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์หรือมูลหนี้เกิน 2 แสนบาท อำเภอไม่สามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่เกิน 2 แสนบาท แต่ถ้าหากคู่กรณียินยอม
ทั้งสองฝ่ายให้นายอำเภอไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท นายอำเภอก็สามารถดำเนินการไดอย่างไรก็ตาม ก่อนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทไม่ว่ามีหนี้ไม่เกิน 2 แสนบาท หรือเกิน 2 แสนบาท จะต้องขอดูสัญญาหรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยให้ชัดเจนก่อนเป็น ลำดับแรก เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 บัญญัติ ว่า "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"
3.ติดตาม ผลภายหลังการแก้ไขปัญหา / เจรจาไกล่เกลี่ย กรณีไกล่เกลี่ยสำเร็จยุติเรื่อง ประเมินความพึงพอใจของคู่กรณี กรณีไม่สำเร็จส่งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ถ้ากรณีเรียกดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนด หรือมีการทวงถามหนี้โดยการข่มขู่หรือใช้กำลังประทุษร้ายให้ตรวจสอบข้อเท็จ จริงแล้วใช้มาตรการทางกฎหมายโดยให้อำเภอแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็ว ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สรรพากร และอื่น ๆ ออกช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นโดยด่วน
อันดับ สาม ต้องรวบรวมข้อมูลทางลับเกี่ยวกับรายชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ในพื้นที่ รวมทั้งให้ปฏิบัติการเชิงรุกโดยการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ ติดแผ่นป้ายหรือผู้เป็นเจ้าของ ตรวจสอบใบประกาศโฆษณาเงินกู้ที่ติดตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
อันดับสี่ พัฒนาศักยภาพลูกหนี้
ให้ อำเภอประสานและบูรณาการขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาคเอกชนหรือกองทุนหมู่บ้านให้การสนับสนุนงบ ประมาณเพื่อจัดทำโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกู้ เงินนอกระบบ ความรู้ที่เกี่ยวกับการออม การใช้จ่ายเงิน หรือจัดทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หรือให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ แก่บุคคลที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ หลังจาก พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เป็นกฎหมาย ได้บัญญัติถึงอำนาจให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ประจำจังหวัด และปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจ หน้าที่ในการติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการ ปฏิบัติของผู้ประกอบการธุรกิจทวงถามหนี้
หลังจาก "พล.อ.ประยุทธ์" เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
เมื่อปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล อำนาจมืดในแต่ละท้องที่ ต้องดูว่าจะล้มเหลวอีกหรือไม่
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.