แลนด์ลอร์ดแห่โอนที่ดิน ทรัพย์สินให้ทายาทก่อนตายทั่วประเทศ หนีภาษีมรดกใหม่ จ้องรีด10% มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ที่มีกระแสบังคับใช้ กลางปี 58 จากเดิมเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 50สตางค์จากราคาประเมิน ยอดโอน ธ.ค.57 เดือนเดียวทะลัก 4.7หมื่นราย กทม.-หัวเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยวแห่โอนพุ่งเกือบ 300%
สืบเนื่องจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกพ.ศ...และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่..)พ.ศ.(การรับให้กรณีผู้ให้มีชีวิตอยู่) ให้มีผลบังคับใช้ได้จริงกลางปี 2558 นี้ โดยกำหนดให้สินทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องอยู่ในข่าย เสียภาษีมรดก 10 % เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แม้ล่าสุดจะยังไม่มีข้อยุติในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่จะจัดเก็บควรจะเริ่มต้นที่เท่าไหร่ แต่ขณะนี้มีอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจ
ต่อเรื่องนี้นายสุจิต จงประเสริฐ รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า นับจากครม.มีมติเห็นชอบร่างภาษีมรดก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ส่งผลทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวของเจ้าของที่ดินทั่วประเทศ ต่างเข้ามาทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินจำนวนมากโดยเฉพาะ เดือนธันวาคม
อย่างไรก็ดี มองว่า ตัวเลขการทำนิติกรรมประเภทให้ หรือหมายถึง บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้บุตรธิดาสูงผิดปกติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 รวมถึงการทำนิติกรรมประเภทมรดก หรือ กรณีเสียชีวิตและทายาทติดต่อจดทะเบียนรับมรดกตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลค่าที่ดินสูง จากราคาประเมิน ส่งผลทำให้เกิดการแห่โอนกรรมสิทธิ์ประเภทให้สูงกว่าเท่าตัว
รองอธิบดีกล่าวต่อไปว่า อยากเตือนประชาชนเจ้าของที่ดินว่า ไม่ต้องรีบร้อนโอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรหลาน เพราะกฎหมายภาษีมรดกยังไม่ได้ข้อสรุปรวมทั้งหลักเกณฑ์การกำหนดมูลค่าสินทรัพย์ ยังไม่นิ่ง ซึ่งกรมสรรพากรเสนอมูลค่าสินทรัพย์เกิน 50 ล้านบาท จากราคาประเมินที่ดิน ที่กรมธนารักษ์กำหนด จะเสียภาษี 10% แต่ปัจจุบัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจปรับแก้ หรือกำหนดให้มูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าเดิม ที่สำคัญกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ต้องใช้เวลาอีกนาน
++เลี่ยงทำจัดสรร-ขายที่ดินบางส่วน
ทางออกของการเลี่ยงภาษีมรดก คือให้ทายาทช่วยนำที่ดินไปพัฒนาทำบ้านขายหรือขายที่ดินเพื่อแบ่งให้ทายาทในภายหลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเตือนว่า หากไม่ใช่มืออาชีพจริงโดยเฉพาะพัฒนาที่ดิน จะทำให้เสียหายมากกว่า ทางออก มองว่าน่าจะเร่งผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาบังคับใช้จะดีกว่าภาษีมรดก เพราะจะสร้างรายได้ให้กับภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
++เปิดเกณฑ์ค่าธรรมเนียมถูก
รองอธิบดีกล่าวต่อว่า เกณฑ์ของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และอากร ที่กรมที่ดินจัดเก็บเข้ากระทรวงการคลังนี้คือ ประเภทให้ รูปแบบพ่อแม่ให้ลูกช่วงมีชีวิต จะเสียค่าค่าธรรม 0.50% อากร 0.50 % รวม 1 % ของราคาประเมิน กรณีปู่ย่าตายายฯลฯ และลูกให้พ่อแม่ เกณฑ์จะเหมือนกับพ่อแม่ให้ลูก แต่จะเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ามา ส่วนพี่ให้น้องจะเสียค่าธรรมเนียมเท่ากับซื้อขาย คือ 2.50 % รวมอากรจากราคาประเมิน ส่วนประเภทมรดก เจ้าของที่ดินต้องเสียชีวิตทายาทจะเสียค่าธรรมเนียม 0.50 %จากราคาประเมิน
++สำรวจสนง.ที่ดินงานล้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาพระโขนงกล่าวว่าปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ยอดโอนประเภทให้ และประเภทมรดก มีสูงผิดปกติ เกิดจาก ภาษีมรดกใหม่ ส่งผลให้เกิดกระแสตื่นตัวทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินฯมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นลักษณะนี้แทบทุกสำนักงาน เพราะมูลค่าที่ดินในกทม.สูง ทำให้มูลค่าที่ดินและทรัพย์สินสูงเกินกว่า 50 ล้านบาท จึงต้องแห่โอนให้กับทายาท
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า มีความเคลื่อนไหวโอนหนีภาษีมรดกมากขึ้นโดยดูจากปริมาณงาน ประเภทให้ และ มรดก ที่สูงกว่า 30% ช่วงปลายปี 2557เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556
แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ยอมรับว่า มีเจ้าของที่ดิน มาเร่งโอนที่ดินหนีภาษีมรดกกันมาก เกือบ 100 % ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจรายใหญ่ของเชียงใหม่ อาทิ กลุ่มอสังหาฯ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนมีที่ดินโอนให้ทายาทหลายแปลง ขนาด 10ไร่ มูลค่าแปลงละ 100 ล้านบาทขึ้นไป ทำเลส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลเมือง
++ เศรษฐีเร่ขายที่ดินให้ทุนจัดสรร
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า นับแต่มีกระแสข่าวภาครัฐจะจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก เศรษฐีที่มีที่ดินจำนวนมากก็มีความหวั่นวิตก บางรายก็นำที่ดินมาพัฒนา บางรายคิดว่าไม่มีความรู้ความชำนาญด้านอสังหาฯก็ตัดสินใจขายออก แต่ก็มีบางส่วนที่พ่อแม่ทำธุรกิจอสังหาฯอยู่แล้ว ก็แบ่งที่ดินให้ทายาทนำมาพัฒนาต่อก็มี
"ช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเพียงวางมัดจำซื้อที่ดิน เจ้าของที่ดินก็เร่งรัดให้ผู้ประกอบการรับโอนที่ดินไปก่อน โดยที่ให้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือด้วยการอาวัลก็มี"
++ยันภาษีมรดกยังไร้ข้อสรุป
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก กล่าวว่าขณะนี้ร่างกฎหมายยังไม่มีอะไรคืบหน้าและไม่มีความชัดเจน จึงขอไม่พูดอะไร เพราะจะทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้เสนอให้ขยายเพดานมูลค่าทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีจาก 50 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาท และขอให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีจาก 10% เป็น 8% เป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้อัตราภาษีที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
"ในเรื่องนี้คงต้องหารืออีกสักระยะหนึ่ง ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนอะไร ไม่อยากให้สัมภาษณ์ออกไป "
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวถึงข้อเสนอการขยายมูลค่าทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นเป็น 80 ล้านบาทและในเรื่องอัตราภาษี 8% นั้นเป็นเพียงข้อเสนอบนแนวคิดต้องการที่จะดูแลคนในกลุ่มชั้นกลางค่อนไปทางรวยมากขึ้น จะได้ไม่ต้องนำทรัพย์สินถ่ายเทไปยังต่างประเทศ หรือการโอนที่ดินหนีภาษีมรดก ส่วนในการพิจารณาวาระที่ 2 ของร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ในประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ยังหาข้อสรุปอะไรไม่ได้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กลับไปพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งและจะมีการพิจารณาประเด็นนี้ต่อในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์นี้
"ขณะนี้คณะกรรมาธิการ ยังเหลือในส่วนของทรัพย์สินที่จะจัดเก็บว่าควรจะเริ่มต้นที่เท่าไหร่ และอัตราจะเป็นเท่าไหร่ ในสัปดาห์นี้จะเริ่มพิจาณากฎหมายที่ละมาตราอย่างละเอียดว่าในกว่า 30 มาตรการในกฎหมายนั้นควรจะต้องมีการปรับแก้หรือไม่อย่างไร"
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า จะสามารถจัดเก็บภาษีมรดก จะเข้ามาเป็นรายได้ในปีงบ 2559 ประมาณ 4-5 พันล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,027 วันที่ 15 - 18 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 16 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.