ก.เกษตรฯรับลูก"ประยุทธ์"ลุยล้างหนี้เกษตรกรครั้งใหญ่ คืนสุขชาวไร่ชาวนาอีกระลอก ประเมินต้องใช้เงินกว่า 6.7 แสนล้าน " ปีติพงศ์" ยันไม่ใช่ประชานิยม ชงครม.อนุมัติก้อนแรก 10 กลุ่มได้อานิสงส์ตัดหนี้สูญกว่า 2.6 หมื่นราย เลขาฯกองทุนฟื้นฟูฯ ระบุรัฐบาลเอาจริงเดินหน้าแก้กฎหมายล้างหนี้ ปรามพวกรอกินหัวคิวระวังเจอดี
ผลสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2558 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(29 ม.ค.58) ได้มีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางในการชะลอ หรือพักชำระหนี้ หรือยกหนี้ให้เกษตรกร แล้วนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป
++คืนสุขสั่งล้างหนี้ทั่วประเทศ
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากคำสั่งดังกล่าว ล่าสุดทางกระทรวงฯได้ทำการประเมิน มูลหนี้ที่เกษตรกรเป็นหนี้สถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้นราว 6.7 แสนล้านบาท โดยแบ่งหนี้ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. หนี้กองทุนฟื้นฟู ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ช่วยซื้อหนี้เกษตรกร 2.หนี้จากโครงการส่งเสริมของรัฐบาลในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กองทุน ส.ป.ก. และโครงการโคล้านตัว เป็นต้น และ 3.หนี้กองทุนต่างๆ เป็นหนี้ในกรณีที่ไม่เข้าข่าย อาทิ กองทุนตั้งตัวได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และกองทุนผู้สูงอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้เกษตรกรในบุคคลเดียวกัน ที่อาจจะเป็นหนี้ทั้ง 3 กรณีมูลหนี้จะต้องแยกให้ชัดเจน ซึ่งต้องยอมรับว่าการสมัครสมาชิกกองทุนต่างๆ เพื่อกู้ยืมเงินนั้นสามารถทำได้ง่าย เพียงแค่สลับกันค้ำประกัน เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้จ่าย ส่งผลให้มีเหตุเป็นหนี้ได้ง่าย ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะตัดวงจรการเป็นหนี้ของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรไทยได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ในทุกกระทรวงจะต้องสำรวจหนี้กองทุนต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบว่าเท่าใด อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยกันปลดหนี้ให้เกษตรกรครั้งใหญ่โดยต้องเร่งทำภายในปีนี้
++ประเดิมปลดหนี้กองทุนเกษตร
ต่อเรื่องนี้นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระในโครงการ/กองทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เป็นลำดับแรก โดยจะมีการยกหนี้ให้เกษตรกร ที่เป็นหนี้ติดอยู่กับกองทุนต่างๆ ของกระทรวงเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการส่งเสริมจากภาครัฐ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้ โดยมีมูลหนี้รวมกว่า 4 พันล้านบาท จะมีเกษตรกรที่ได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้กว่า 2.6 หมื่นราย โดยขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ส่งไปยังสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรีเพื่อรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ในส่วนหนี้ค้างชำระดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โดยกลุ่มแรกจะตัดเป็นหนี้สูญ และกลุ่มที่ 2 จะมีการตัดยอดหนี้บางส่วน สำหรับในส่วนที่เสนอให้ตัดเป็นหนี้สูญ ประกอบด้วย 10 กลุ่มได้แก่ 1.เกษตรกรที่เป็นหนี้จากโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2.กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ 3.ผลจากปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ 4.หนี้ขาดอายุความ 5.หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป 6.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ 7.ผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ 8.เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพทุพพลภาพ วิกลจริต หรือ เจ็บป่วยเรื้อรัง 9. ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย หรือ ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ 10.หนี้สินเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 1-3 หมื่นบาท
++ยันไม่ใช่ประชานิยม
"การปลดหนี้ให้เกษตรกรครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจเกษตรกร แต่เพียงพิจารณาเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรยากจนไม่มีความสามารถชำระหนี้คืนได้จริง หรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อายุมาก หรือทุพพลภาพ บางครั้งลูกหลานต้องรับภาระหนี้เป็นมรดก จึงอยากจะเร่งสะสางเงินก้อนนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นอีกแนวทางหนึ่ง"
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหนี้ดังกล่าว เป็นของกองทุนที่สังกัดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เท่านั้น อาทิ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนผู้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน เป็นต้น ไม่เกี่ยวกับหนี้ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่แยกกันคนละส่วน
อย่างไรก็ดีตัวอย่างข้อมูลหนี้สินของเกษตรกรไทยที่เป็นหนี้กับกองทุนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ เช่น กองทุนพัฒนาสหกรณ์ มีมูลหนี้ ณ ปัจจุบันประมาณ 9 พันล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากถึง 42% หนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีมูลหนี้ 8.22 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 35% หนี้ที่มีอยู่กับสมาชิกสหกรณ์ภาคเกษตร มีมูลหนี้ทั้งหมด 1.1 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 22% หนี้เกษตรกรกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีหนี้เสีย 3-4%
++ เอาจริงผุดกฎหมายล้างหนี้
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่า ปีนี้ภาพรวมของกองทุนฟื้นฟูฯ จะเน้นการฟื้นฟูเป็นหลัก ส่วนเรื่องหนี้ของเกษตรกรนั้นทางรัฐบาล ในยุค คสช. จะมีการแก้ไขเรื่องหนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องหนี้จากสหกรณ์ ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้จะออกกฎหมายหรือ พ.ร.บ. เพื่อจัดการหนี้โดยเฉพาะ จะมีหน่วยงานตั้งขึ้นมาใหม่ หรือแม้กระทั่งทางสำนักงานกองทุนฯ ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วม สำหรับรายละเอียดนั้นกำลังดำเนินการทำกันอยู่
นอกจากนี้จะยังมีการปรับลด ปลดหนี้ โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมจากภาครัฐและมีผลให้ชาวบ้านเป็นหนี้ จะมี พ.ร.บ.ปลด ล้างหนี้ ขึ้นมา นอกจากจะมี พ.ร.บ.แล้ว ยังมีการแก้ปัญหาหนี้หลายรูปแบบ เช่น พ.ร.บ. ที่จะพิจารณาภาคเกษตรทั้งขบวน แม้กระทั่ง พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร คาดว่าจะค่อย ๆทยอยกันออกมา
อนึ่ง จากข้อมูลการทะเบียนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนหนี้ ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ (ปี 2546-2557 ) ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 พบว่ามีจำนวน 5.08 แสนราย บัญชี จำนวน 6.32 แสนบัญชี จำนวน 8.22 หมื่นล้านบาท คาดว่ากลุ่มนี้จะได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าวด้วย เพราะเป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการส่งเสริมของรัฐ ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 2 หมื่นราย จำนวนเงินกว่าพันล้านบาท สำหรับในส่วนที่เป็นหนี้จากสถาบันการเงินมานั้น คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ นับว่าเป็นการคืนความสุขให้กับเกษตรกรครั้งใหญ่
++ปรามพวกรอกินหัวคิวระวัง นายวัชระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางสำนักงานกองทุนฯ ได้ทำงานร่วมกับศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์ดำรงธรรม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ (กอ.รมน.) เพื่อจับตาผู้ที่อ้างเกษตรกรเพื่อหาประโยชน์จากเงินของแผ่นดิน เช่นการสวมสิทธิ หรือมีการดำเนินการแทนเกษตรกรเพื่อเรียกรับค่าหัวคิว จะเตือนให้หยุด หรือสั่งให้คืนเงินชาวบ้าน และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ก่อนหน้านี้นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรถือเป็นพันธกิจหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้มาแก้ไข ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรในทุกสินค้ามีหนี้สินทั้งในระบบผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร รวมถึงหนี้นอกระบบรวมกันหลายแสนล้านบาท ซึ่งจะเข้าไปดูว่าเจ้าหนี้ของเกษตรกรคือใคร เงื่อนไขการชำระหนี้เป็นอย่างไร และจะปรับโครงสร้างใหญ่อย่างไร โดยจะใช้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรกองทุนต่างๆ นโยบายการเงิน และนโยบายอัตราดอกเบี้ยของรัฐเข้ามาใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ และดึงหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อที่หลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้วเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในชั้นของตัวเอง ทั้งชั้นที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน โดยจะร่วมทำงานกับหลายกระทรวง เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เป้าหมายเมื่อรัฐบาลนี้สิ้นสุดลงอยากให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ได้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น ไม่มีหนี้สินรุงรังจนไม่สามารถที่จะตั้งตัวได้ในอนาคต มีอิสระในการประกอบอาชีพ และมีหลักประกัน ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เผยถึงแผนล้างหนี้เกษตรกรว่า ล่าสุดนายอำนวย ปะติเส ได้มีผลการศึกษาข้อมูลไว้แล้ว แต่ยอมรับขบวนการทางปฏิบัติยังมีความล่าช้า
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,026 วันที่ 12 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558