"...กล่าวได้ว่าการจัดระบบที่ดินในชนบทไทย โดยการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเอกชนฉบับแรกใน ปี พ.ศ.2444 เป็นการนำที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตของชาวนาเข้าสู่ระบบตลาดที่ดินเป็นครั้งแรก เนื่องจากเปิดให้มีการซื้อขายที่ดินได้อย่างเสรี ไม่มีการควบคุม ผู้ที่มีเงินมากและต้องการที่ดินสามารถกว้านซื้อที่ดินจากชาวนาเก็บไว้ได้ ในขณะที่ชาวนาหากทำการผลิตล้มเหลว สามารถขายที่ดินเพื่อชดใช้หนี้ได้เช่นกัน.."
“เคยตั้งคำถามว่า ทำไมชาวนาไทยถึงยากจน ทั้งที่ข้าวเป็นสินค้าขายดี ส่งออกได้มาก และคนไทยเราต้องกินข้าวกันทุกวัน ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนาที่ยากจน มีหนี้สิน และต้องสูญเสียที่ดินทำกินมากขึ้นเรื่อยๆ”จนนำไปสู่งานวิจัยเพื่อค้นคำตอบและนำมาถ่ายทอดผ่านหนังสือ “ฉากหลังชีวิตชาวนา ..ภาระหนี้สินและผืนดินที่กำลังหายไป ชาวนา ชีวิตปริ่มน้ำ”ก่อนหน้านี้
ล่าสุด “พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์” ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน(โลโคลแอค) และทีมงาน ตั้งคำถามอีกครั้งผ่านงานศึกษาชิ้นใหม่ “หนี้ชาวนา เดิมพันการสูญเสียที่ดิน”
“ทำไมชาวนาภาคกลางถึงประสบปัญหาถูกยึดที่นาขายทอดตลาด การยึดที่ดินชาวนาขายทอดตลาดเกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคมเกษตรกรรมไทย และอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวนาภาคกลางจำนวนมากเดินทางมาถึงจุดจบนี้ได้”
นี่เป็นเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้เกิดงานศึกษาเรื่องการขายทอดตลาดที่ดินชาวนา งานศึกษาสถานภาพหนี้สินชาวนา และความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของชาวนาภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน
“เป้าหมายหลักเพื่อทำความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างหนี้สินของชาวนา ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการขายทอดตลาดที่ดินชาวนาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากในพื้นที่ภาคกลางปัจจุบัน”พงษ์ทิพย์ขยายผ่านบทนำ
งานศึกษาชิ้นนี้ใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างชาวนาจำนวน 247 ราย ในจังหวัดชัยนาท และอ่างทอง และกรณีศึกษาเชิงลึกชาวนา 3 ราย ในจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา ควบคู่กับการศึกษาเชิงนโยบายในประเด็นประวัติศาสตร์การสูญเสียที่ดิน การจัดการที่ดินของรัฐ และความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร โดยงานศึกษาเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค) สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 กรณีศึกษาประกอบการวิจัย(สัมภาษณ์โดยสุมาลี พะสิม) ประกอบด้วย
รายแรก อำพร บ่อแก้ว วัย 53 ปี คนอำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี สูญเสียที่นา 2 ครั้ง 12 ไร่ ให้นายหน้านายทุนเงินกู้นอกระบบ กลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน ไม่มีแม้บ้านอาศัย
รายที่สอง ลมัย สมรวย ชาวนา จ.เพชรบุรีวัย 56 ปี ที่ดิน 2 แปลง 55 ไร่ ถูกธนาคารของรัฐยื่นฟ้องยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จากเงินต้น 1.5 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ19 รวม 2.1 ล้านบาทเศษ ทั้งที่ที่ดินมีราคาสูงถึงไร่ละ 158,000 บาท มิหนำซ้ำคนมาซื้อที่ดินต่อก็เป็นเครือญาติของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
รายที่สาม จุไรรัตน์ แก้วไกรสร ชาวนา จ.ฉะเชิงเทรา วัย 76 ปี เจ้าของที่ดิน 252 ไร่ ต้องสูญเสียที่ดินจากการขายทอดตลาดด้วยราคาเพียง 11.4 ล้านบาท แม้พยายามรักษาไว้อย่างเต็มที่
“พงษ์ทิพย์”ร่ายต่อว่า
แม้รัฐบาลสมัยยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พยายามสนับสนุนให้ชาวนาและเกษตรกรยากจนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ เพื่อลดปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหนี้นอกระบบ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา นับแต่มีการก่อตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปี พ.ศ. 2509 ปัญหาหนี้นอกระบบก็ไม่เคยหมดไปจากภาคชนบทไทย มิหนำซ้ำปัญหาหนี้สินเกษตรกรกลับกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น เพราะมีชาวนาจำนวนไม่น้อยนอกจากจะสูญเสียที่ดินให้กับเจ้าหนี้นอกระบบแล้ว ยังต้องสูญเสียที่ดินให้กับสถาบันเงินกู้ในระบบเพิ่มขึ้นอีกด้วย
หากจะกล่าวถึงต้นตอที่มาของการสูญเสียที่ดินของชาวนา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์การถือครองที่ดินในชนบท ที่แต่ไหนแต่ไรมาชาวนาภาคกลางไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้ประโยชน์และการถือครองที่ดิน ทั้งที่เป็นผู้ทำการผลิตแต่ชาวนาในภาคกลางกลับเป็นผู้เช่าที่ดินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เรียกได้ว่าถูกผลักดันให้เป็นผู้เช่าที่ดินมาตั้งแต่มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในยุคแรกเลยทีเดียว
เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่แรกของชนบทไทย ที่ถูกนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ระบบเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้ชาวนาผลิตข้าวจำนวนมาก เพื่อให้มีผลผลิตข้าวเพียงพอที่จะขายออกสู่ตลาดต่างประเทศ (ซึ่งยังคงเป็นอยู่ปัจจุบัน) ยิ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินฉบับแรกในปี พ.ศ.2444 ยิ่งทำให้ที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ชนบทภาคกลางจึงถูกจับจองจากชนชั้นสูง ผู้มีฐานะ และผู้มีอิทธิพล ที่ต้องการแสวงหากำไรจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เข้ามาสู่ภาคกลาง ชาวนาภาคกลางจึงถูกเบียดขับให้กลายเป็นผู้เช่าที่ดินมาตั้งแต่ยุคอดีต ต่างจากชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่เกษตรกรมีโอกาสในการจับจองพื้นที่เกษตรเป็นของตนเองมากกว่า
มาถึงยุคปัจจุบัน ภาพเหตุการณ์ยังคงดำเนินไปในทำนองเดียวกัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงรวมศูนย์อยู่มากในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบกับสภาพพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่มีแหล่งน้ำชลประทานเข้าถึง เหมาะสมกับการเพาะปลูกและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ดี ทำให้ชาวนาภาคกลางที่สามารถจับจองที่ดินไว้ได้บ้างในครั้งอดีต มาในวันนี้ได้ถูกเบียดขับในอัตราที่เร่งและเร็วกว่าเดิม ให้กลายเป็นชาวนาเช่า และชาวนารับจ้างจากผู้ที่มีฐานะ และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
กล่าวได้ว่าการจัดระบบที่ดินในชนบทไทย โดยการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเอกชนฉบับแรกใน ปี พ.ศ.2444 เป็นการนำที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตของชาวนาเข้าสู่ระบบตลาดที่ดินเป็นครั้งแรก เนื่องจากเปิดให้มีการซื้อขายที่ดินได้อย่างเสรี ไม่มีการควบคุม ผู้ที่มีเงินมากและต้องการที่ดินสามารถกว้านซื้อที่ดินจากชาวนาเก็บไว้ได้ ในขณะที่ชาวนาหากทำการผลิตล้มเหลว สามารถขายที่ดินเพื่อชดใช้หนี้ได้เช่นกัน
ประกอบกับเมื่อมีการจัดระบบสินเชื่อในชนบท จากเดิมที่ชาวนาเคยกู้เงินจากแหล่งเงินกู้รายย่อย ได้ถูกนำมารวมศูนย์อยู่ภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้ชาวนาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น โดยมีที่ดินเป็นทรัพย์สินจำนองเพื่อการลงทุน มองในอีกด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการผนวกให้ชาวนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น
ด้วยข้อจำกัดของการให้สินเชื่อเงินกู้ที่ไม่ได้มาพร้อมกับความรู้ของการใช้เงิน เมื่อชาวนากู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน ชาวนาไม่ได้ถูกให้ความรู้อย่างที่นักลงทุนควรจะรู้ โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจในสัญญาเงินกู้ เงื่อนไขการผ่อนชำระ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ชาวนาภาคกลางมักจบลงด้วยความล้มเหลวในการลงทุน อยู่ในสภาพจำเป็นต้องผลิตข้าวจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตสูง และขายข้าวได้ในราคาที่ไม่คุ้มกับต้นทุนที่จ่ายไป เมื่อไม่สามารถชดใช้หนี้ได้ ก็จะถูกสถาบันการเงินฟ้องดำเนินคดีให้ชดใช้หนี้ และนำที่ดินที่จำนองไว้ออกขายทอดตลาด และเวลานี้นี่เองที่ผู้มีฐานะ และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่หูตาไว มีเส้นสายอยู่ในสถาบันการเงิน จะเข้ามาช้อนซื้อที่ดินของชาวนา จากแปลงเล็กค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นแปลงใหญ่ต่อเนื่องกัน
การยึดที่ดินชาวนาโดยเจ้าหนี้นอกระบบยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย แบบแรกเกิดขึ้นจากการทำสัญญาขายฝากที่ดิน ที่เจ้าหนี้นอกระบบให้ชาวนาโอนลอยมอบที่ดินให้กับเจ้าหนี้ตั้งแต่เริ่มกู้เงิน และอีกแบบคือการทำสัญญาจำนองที่นา เมื่อชาวนาไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้นอกระบบจะฟ้องดำเนินคดีกับชาวนา และขอให้ศาลนำที่ดินชาวนาออกขายทอดตลาด เมื่อที่ดินชาวนาถูกขายทอดตลาด เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ก็จะติดต่อญาติและคนรู้จักมาช้อนซื้อที่ดินไว้เอง การถ่ายโอนที่ดินจากมือชาวนาสู่นายทุนและผู้มีอิทธิพลจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและถูกต้องตามกฎหมายในปัจจุบัน เพราะคนที่ประกาศขายทอดตลาดที่ดินของชาวนา ก็คือเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่ทำหน้าที่ตามคำสั่งศาลที่ให้ยึดที่ดินชาวนาขายทอดตลาดนั่นเอง
กล่าวได้ว่าความล้มเหลวจากการลงทุนทำนา การผลิตข้าวจำนวนมากตามแรงกระตุ้นของตลาด การเข้าสู่ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินโดยมีที่ดินจำนองผูกพัน และแรงกดดันจากการกว้านซื้อที่ดินของผู้มีอิทธิพล ล้วนเป็นแรงส่งเสริมผลักดันให้ชาวนาภาคกลางสูญเสียที่ดินจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
การยึดที่ดินจากชาวนา จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยอดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยน ถึงแม้ภาครัฐและสถาบันการเงินจะอ้างว่าที่ต้องการให้ชาวนากู้เงิน เพื่อให้ชาวนามีเงินลงทุนทำนา ซื้อปัจจัยการผลิต และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มากขึ้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวนาไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกำไร อันงอกเงยจากการผลิตข้าวที่มากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่ชาวนาเผชิญอยู่ปัจจุบันคือการถูกหลอมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน และระบบเงินกู้ของสถาบันการเงินที่ชาวนาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทำนาของตนเองได้ ทั้งราคาปัจจัยการผลิต ดอกเบี้ยเงินกู้ หรือแม้แต่ราคาผลผลิตข้าว
“พงษ์ทิพย์”สรุปในตอนท้ายด้วยว่า 3 กรณีศึกษาชาวนาซึ่งถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด การทบทวนประวัติศาสตร์การสูญเสียที่ดิน บทคัดย่องานวิจัยสถานภาพหนี้สินชาวนา และความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของชาวนาในหนังสือเล่มนี้ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า เดิมพันของชาวนาภาคกลางในการเดินหน้าเข้าสู่ระบบการค้าและการลงทุน ด้วยเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ สุดท้ายพวกเขาล้วนมีจุดจบที่ไม่แตกต่างกัน นั่นก็คือการสูญเสียที่ดินของตนเองให้กับสถาบันเงินกู้และเจ้าหนี้นอกระบบ อย่างที่ไม่มีทางหวนคืนนำที่ดินกลับมาได้
เป็นงานศึกษาที่นำความจริง (อันเจ็บปวด) ฉากสุดท้ายชีวิตชาวนา มาตีแผ่ตอกย้ำอีกครั้ง
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 9 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.