กระทรวงคลัง เผย "แบงก์รัฐ" เร่งทำโครงการช่วยเหลือคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตามมติ คสช.
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (เอสเอฟไอ) ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธ.อ.ส.) ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) รวมไปถึงธนาคารกรุงไทย อยู่ระหว่างการหามาตรการเพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ
การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คสช. เข้าร่วมด้วย
ในการประชุมดังกล่าวได้มีการเชิญแบงก์รัฐเข้าร่วมประชุม พร้อมให้การบ้านแบงก์รัฐเหล่านี้ไปดูว่าแต่ละแบงก์ควรจะมีมาตรการช่วยคนจน และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรบ้าง โดยให้เวลากลับไปคิด 2 สัปดาห์ และนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 16 ก.พ.นี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการที่แบงก์รัฐมองกันไว้คือ การช่วยเหลือในเรื่องของภาระหนี้ของกลุ่มคนจน ในส่วนของธ.ก.ส.อาจจะเป็นการพักหนี้ ยืดหนี้ หรือลดดอกเบี้ย ซึ่งการดูแลเรื่องนี้ เป็นจังหวะเหมาะกับโครงการพักหนี้ดีในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ส.ค. นี้ ดังนั้นทางแบงก์รัฐที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่าจะต่ออายุ หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไข
โดยแนวคิดการดูแลภาระหนี้ครั้งนี้ จะนำไปเชื่อมโยงกับการดูแลหนี้ในกลุ่มเกษตรกรและคนยากจน ที่เป็นนโยบายที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพิจารณา รวมถึงนำข้อเสนอของนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ที่ต้องการให้พักหนี้ชาวนา 3 ปีมาร่วมพิจารณาด้วย แต่ในการดำเนินการนั้นคงจะไม่ทำเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเพียงกลุ่มเดียว แต่จะดูในภาพรวม เพื่อให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนจนด้วย
ส่วนเอสเอ็มอีแบงก์นั้น กำลังพิจารณาแนวทางการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการในระดับรากหญ้า หรือกิจการโอท็อป โดยทางหน่วยงานรัฐบาลจะนำเงินทุนที่มีอยู่มาฝากที่เอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์นำเงินทุนก้อนนี้ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการโอท็อป คาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มาปล่อยกู้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษไม่เกิน 5% ส่วนธนาคารออมสิน มีเครื่องมือในการช่วยเหลือกลุ่มคนจนคือธนาคารประชาชน ซึ่งธนาคารกำลังพิจารณาว่าหากจะให้สามารถเข้าถึงคนจนได้มากตามนโยบาย คสช.นั้นควรจะต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยลงหรือไม่
สำหรับแนวทางทั้งหมดจะเป็นการช่วยเหลือในระยะ 1 ปี โดยให้มองถึงความยั่งยืนในการแก้ปัญหาความยากจน รวมถึงการเข้าไปช่วยกลุ่มเกษตรกรที่กำลังได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยให้ไปดูว่ากลุ่มคนยากจน และเกษตรกรกำลังเดือดร้อนเรื่องอะไร และ แบงก์รัฐสามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่ช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการร่างหนังสือมอบอำนาจการกำกับดูแล เอสเอฟไอให้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อมอบอำนาจการกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของกระทรวงการคลัง ตามมาตรการ 120 ของพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด
ทั้งนี้ตามมาตรา พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ปี 2551 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีคลัง สามารถมอบอำนาจให้ธปท.ทำหน้าที่ในเรื่องต่อไปนี้ทั้งหมด หรือมอบอำนาจเพียงบางส่วนตามที่กฎหมายกำหนด
ประกอบด้วย 1.การกำกับดูแลโดยทั่วไป 2.มีอำนาจในการสั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบ และรายงานกิจการหรือ ทรัพย์สินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3.มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่บุคคลดังกล่าว 4. กำหนดนโยบายเพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการหรือถือปฏิบัติ และ5.มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องปฏิบัติ หรือยับยั้งการกระทำของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ขัดต่อนโยบายของรัฐวิสาหกิจ หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท.โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องปฏิบัติเพิ่มเติม หรือให้นำบทบัญญัติใดของพ.ร.บ.นี้มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้
"การมอบอำนาจในการกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้แก่ ธปท. จากปัจจุบันที่อยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงการคลังนั้น เพื่อแยกเรื่องการกำหนดนโยบาย ออกจากการกำกับดูแล ทำให้เกิดความโปร่งใส จากเดิมคลังก็ให้ธปท.ตรวจสอบแบงก์รัฐอยู่แล้ว แต่ธปท.ไม่มีอำนาจสั่งการแบงก์รัฐโดยตรง แต่หลังจากที่คลังมอบอำนาจให้ธปท.แล้ว ธปท.สามารถตรวจสอบ สั่งการได้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ แต่อำนาจกำหนดนโยบายยังอยู่ที่คลัง”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 ก.พ. 2558