ชงก.ม.สวัสดิการเกษตรใช้งบแสนล.ต่อปีตั้งกองทุน หวังประกันรายได้-เพิ่มสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต
เกษตรฯ เตรียมดันร่างร่างกฎหมายรายได้และสวัสดิการเกษตรกร เน้นดูแลรายได้ขั้นต่ำ-สวัสดิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร คาดใช้เงินปีละ 1 แสนล้านบาท หวังแก้ปัญหานักการเมืองใช้เงินหาเสียง
การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมผลักดันกฎหมายประกันรายได้และสวัสดิการภาคเกษตร หวังเป็นสวัสดิการทางสังคมเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น โดยจัดตั้งเป็นกองทุนใช้เงินจากงบประมาณและเงินสมทบจากเกษตรกรเช่นเดียวกับองค์กรภาคเอกชน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในวันที่ 2 ก.พ.2558 จะเชิญนักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) เกษตรกร นักกฎหมาย นักการเมืองเข้าร่วมทำประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)รายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ....ก่อนรวบรวมมาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ฯนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือน ก.พ. 2558 และเสนอสภานิติบัญญัติ(สนช.)พิจารณา
"จะใช้เวลานานเพียงใด บอกไม่ได้ แต่กระทรวงเกษตรฯอยากให้พ.ร.บ.ฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้ประมาณไตรมาส 3 ปี 2558"
นายปีติพงศ์ กล่าวว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดสัดส่วนวงเงินไว้ที่ 1-10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) หรือปีละ 1 แสนล้านบาท เพื่อกำหนดเพดานขั้นสุดที่รัฐบาลจะนำงบประมาณมาใช้ในส่วนของภาคเกษตรในการช่วยเหลือ โดยที่ไม่ส่งผลให้ฐานะการคลังมีปัญหา โดยจะมีการทบทวนและการจัดสรรงบประมาณทุก 5 ปี
“ผมไม่อยากจะเห็นว่ารัฐบาล นักการเมือง หรือใครก็ตามใช้เงินงบประมาณ เพื่อการหาเสียงอย่างไม่มีข้อจำกัด ดังนั้นมันจะต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและความช่วยเหลือ การผลิตมันจะสะท้อนจากจีดีพี ภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรมเกษตร ส่วนค่าใช้จ่ายสวัสดิการของเกษตรกรที่จะช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของส่วนตัว เช่น โรคที่เกิดกับเขาบ่อยๆอย่างโรคจากการใช้สารเคมีผิดประเภท โรคจากพิษที่มาจากการเกษตรโรคทางเดินอาหารที่เกษตรกรเป็นมาก โรคฟัน แว่นตา ลอกต้อกระจกซึ่งเกิดกับเกษตรกรมาก เพราะสภาพวิถีชีวิต เป็นต้นเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่แล้ว”นายปีติพงศ์ กล่าว
สำหรับประโยชน์ของพ.ร.บ.นี้ จะเน้น 2 เรื่อง คือการดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกร ไม่ได้เป็นความช่วยเหลือที่จะไปทำเรื่องทดแทนราคา ไม่ได้แทรกแซงราคา หรือเรื่องการผลิต ถ้าจะเปรียบแล้วเสมือนเป็นกฎหมายคุ้มครองกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ชาวบ้านผู้ผลิตอยู่ได้อย่างมีความสุขพอสมควร ส่วนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้นไม่สามารถกำหนดเข้าไปได้และในกระบวนการทำงานการช่วยเหลือภัยแล้ง การพัฒนาหรือปรับโครงสร้างการเกษตรจะไม่ได้มาใช้เงินก้อนนี้ เพราะมีหลายกองทุนที่ช่วยอยู่
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติรายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ. ... ประกอบด้วย 1. เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในด้านรายได้และสวัสดิการ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายการเกษตรใดให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากการจัดสวัสดิการของรัฐให้แก่บรรดาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือภาคแรงงานเอกชน
2. ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรเป็นครัวเรือน 3.การช่วยเหลือด้านรายได้ มีการกำหนดหลักเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำในแต่ละปีของพืชแต่ละชนิด โดยการประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างแพร่หลาย และจ่ายเงินเป็นเงินตามอัตราส่วนของรายได้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ประกาศกำหนด และจ่ายเฉพาะตามรอบการเพาะปลูกของพืชชนิดนั้นๆ
4. เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯและต้องจ่ายเงินบำรุงเพื่อนำมาใช้จ่ายเฉพาะในการบริหารงานการช่วยเหลือด้านรายได้และสวัสดิการ
5. มีมาตรการลงโทษทางปกครองแก่เกษตรกรที่ขอรับการช่วยเหลือโดยไม่สุจริต หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
6. การบริหารงานมีการกำหนดคณะกรรมการเป็น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการระดับนโยบายและคณะกรรมการระดับบริหารงาน
7. คณะกรรมการระดับนโยบายต้องกำหนดแผนงานโครงการช่วยเหลือด้านรายได้ และสวัสดิการเกษตรกร มีระยะเวลา 5 ปี โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณตามแผนงานโครงการดังกล่าวเป็นรายปีงบประมาณไม่เกิน 10 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรของประเทศในปีที่มีการเผยแพร่และกำกับดูแลคณะกรรมการระดับบริหารงาน ส่วนคณะกรรมการระดับบริหารงานจะทำหน้าที่ในการกำหนดรายได้ขั้นต่ำและบริหารงานการช่วยเหลือต่างๆ
8. การช่วยเหลือด้านรายได้และสวัสดิการเกษตรกรต้องเป็นไปตามกรอบวงเงินงบประมาณในแต่ละปี และ 9. การช่วยเหลือด้านสวัสดิการเกษตรกรเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องเป็นมาตรฐานเดียวกับสวัสดิการในภาคแรงงานเอกชน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.