การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์คนล่าสุดของ "จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล"ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา แทนที่ "นริศ ชัยสูตร" ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 8 เดือนเศษก็จะเกษียณอายุราชการ ซ้ำยังปาดหน้ารองปลัดกระทรวงการคลังอีก 2 คน คือ "อำนวย ปรีมนวงศ์" และ "ประสิทธิ์ สืบชนะ" ที่เป็น "ลูกหม้อธนารักษ์แท้ๆ" ทั้งคู่
ทำให้ถูกมองว่าเป็น "ตาอยู่" คว้า "พุงปลา" ไปกิน เพราะเป็นอดีตลูกน้องผู้ใกล้ชิด "สมหมาย ภาษี" รมว.คลัง
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ต้องถือว่า "จักรกฤศฏิ์" เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่มักจะมี "ไอเดีย" ที่น่าสนใจมานำเสนออยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แล้ว
สำหรับ "โจทย์หลัก" ที่อธิบดีกรมธนารักษ์ได้รับภารกิจมา คือ ต้องเร่งประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้ครบ 30 ล้านแปลงทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่ทำไปได้แค่ 7-8 ล้านแปลง เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามนโยบายของขุนคลัง และตามโรดแมประยะที่ 2 ของกระทรวงการคลังที่ได้เสนอไว้ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
"จักรกฤศฏิ์" ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังมอบนโยบายผู้บริหารกรมในวันแรกที่เริ่มทำงานว่า จากงานเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายมานั้น ก็มีแนวคิดจะว่าจ้างเด็กที่เรียนจบอาชีวศึกษาในท้องที่เข้ามาเป็นลูกจ้างชั่วคราวในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อเป็นตัวเสริมในทีมประเมินราคาที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เพิ่มอัตรากำลัง 60 คน ซึ่งจะต้องมีการฝึกอบรมองค์ความรู้ด้านการประเมินราคาที่ดินอย่างเป็นระบบโดยเร็ว
"แผนงานการประเมินที่ดินให้เสร็จทั้ง 30 ล้านแปลง เราก็พูดกันว่าจะต้องศึกษา เดินคู่ขนานระหว่างการทำงานของกรมธนารักษ์กับหน่วยงานอื่น ไม่ว่ากรมที่ดิน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISDA ซึ่งการประสานงานก็อาจต้องหาทีมที่ปรึกษาภายนอกที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำงานของกรมธนารักษ์ กรมที่ดิน การประเมินราคา มาให้คำปรึกษาว่ากระบวนการประเมินราคาอย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด จะต้องทำอย่างไรบ้าง"
เขามั่นใจว่าจะสามารถประเมินราคาที่ดินทั้ง 30 ล้านแปลงได้ใน 1 ปี เพราะปัจจุบันมี "โฉนด" ที่เป็นระบบดิจิทัลอยู่ในฐานข้อมูลแล้ว 7-8 ล้านแปลง ส่วนที่เหลือยังเป็นเอกสารซึ่งสามารถสแกนโฉนดเข้าไปไว้ในระบบได้ในเบื้องต้น แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นโฉนดดิจิทัลในอนาคตต่อไป
"การมีฐานข้อมูลไว้ก่อน 30 ล้านแปลง จะเป็นตัวเริ่มต้นว่าเราสามารถใส่ราคาเบื้องต้นขั้นต่ำสุด-สูงสุดที่อยู่ในโซนต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลอ้างอิงได้ หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นที่มีราคาคร่าว ๆ ก็จะใช้เป็นราคาอ้างอิงได้ ส่วนธนารักษ์ก็มีทฤษฎีในการประเมินราคาอยู่ก็เอาเข้าไปจับ ถ้าข้อมูลเหล่านี้แมตช์กัน เป็นที่ยอมรับก็เอาเข้ากรรมการระดับจังหวัด ประกาศใช้เป็นราคาเบื้องต้นได้"
สำหรับที่ปรึกษาภายนอกที่จะว่าจ้างเข้ามานั้น จะต้องเข้ามาจัดทำโรดแมปกระบวนการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำข้อมูลมาแชร์กัน และสุดท้ายผลักดันให้นำไปสู่การเป็น "ศูนย์ข้อมูลกลางด้านราคาที่ดินกลาง" ของประเทศในอนาคตต่อไปด้วย
ส่วนการแก้ปัญหาการพัฒนาที่ราชพัสดุที่ค้างคาอยู่ โดยเฉพาะ "โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณขนส่งหมอชิตเดิม" หรือ "โครงการร้อยชักสาม"และอื่น ๆ รวมแล้วนับ 10 โครงการนั้น "อธิบดี" ประกาศว่าจะเร่งหาทางออกให้เกิดความชัดเจนภายใน "ระยะเวลาอันสั้น" อย่างน้อยใน 1 ปีเช่นกัน โดยยืนบนหลักการว่า "ถ้าไม่ผิดกฎหมาย เดินหน้าได้ ก็จะเดินหน้า"
"ผมได้ให้นโยบายเจ้าหน้าที่ว่า อะไรที่เป็นไปตามกฎ ตามระเบียบ ก็ให้แก้ไปตามนั้น ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าติดตรงไหนก็ให้รายงานถึงผู้บริหารระดับรองอธิบดี ถ้าไปคุยแล้วยังสรุปไม่ได้ก็ให้เสนออธิบดีเพื่อแก้ปัญหาต่อไป แต่ไม่ใช่ใช้วิธีส่งหนังสือโต้ตอบกันไปมา ถ้าเดินหน้าแล้วติด ต้องประสาน เจรจาก่อน"
"จักรกฤศฏิ์" บอกอีกว่า ในยุคของตนบริหาร จะไม่มีการทิ้งที่ราชพัสดุให้เป็นที่รกร้าง หรือมีปัญหาบุกรุกหรือข้อพิพาทต่าง ๆ ที่ตกค้างก็จะนำเข้าสู่ระบบให้หมด อาทิ สวนผึ้ง เมืองกาญจน์ โคราช เกาะเต่า เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดพื้นที่เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะลงพื้นที่แต่ละแห่งเพื่อดูความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมที่ราชพัสดุที่น่าจะใช้ได้มาให้พิจารณาแล้ว
ที่สำคัญได้ให้นโยบายเน้นการใช้ที่ราชพัสดุใน"เชิงสังคม"ให้มากขึ้น ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องค่าเช่า แต่เน้นทำให้ถูกกฎหมาย รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เหล่านี้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่สร้างแล้วทิ้ง ทั้งนี้ ทางกรมธนารักษ์จะนำสัญญาเช่ามารีวิวใหม่ให้หมด หากพบว่าใครไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็จะมีมาตรการจัดการต่อไป
ส่วนที่ราชพัสดุที่อยู่ในการครอบครองของส่วนราชการ ก็จะมีการทำแผนแม่บทให้ชัดเจน ว่าที่ดินแต่ละที่มีศักยภาพอย่างไร เพื่อรองรับการนำมาใช้งานในอนาคต
ด้านนโยบายเหรียญกษาปณ์ จะมุ่งเน้นบริหารจัดการไม่ให้เป็นภาระต่อภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงธนาคารต่าง ๆ โดยมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ไปคิดหาวิธีการแลกเหรียญกลับมาจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยร่วมมือกับธนาคารของรัฐ และอาจมีการแก้กฎหมายการคืนเหรียญเพื่อดึงเหรียญชำรุดออกจากระบบ
"ทั้งหมดนี้ 1 ปีจะเห็นความชัดเจน ตอนนี้อาจจะเหมือนดูภาพ 3 มิติแบบไม่ใส่แว่น แต่อีก 1 ปีข้างหน้าจะใส่แว่นแล้วเห็นภาพชัดเจน" อธิบดีธนารักษ์คนใหม่ตั้งธง...
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.