ก่อนเสนอ ครม. หวังให้มีผลทางปฏิบัติ เชื่อราคายางแตะ 80 บาทต่อกิโลกรัมภายใน 1-2 เดือน เตรียมแผนลดหนี้เกษตรกร ขณะที่"ปรีดิยาธร"ไฟเขียวยืดหนี้นิคมสร้างตนเองจังหวัดชายแดนใต้ 585 ล้าน ตัดหนี้สูญอีก 1.2 ล้านบาท
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจน โดยมีนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วม
พล.อ.ประวิตร กล่าวหลังประชุมได้สั่งให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ สาธารณสุข การศึกษา การแก้ปัญหาภัยแล้ง สินค้าโอท็อป กองทุนธนาคารประชาชน ปัญหาราคาพืชไร่เกษตรกร และการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหา มาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะนำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสั่งการให้มีการช่วยเหลือและแก้ไขโดยเร่งด่วน
เชื่อยางพุ่ง 80 บาทในอีก1-2เดือน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงเรื่องรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง โดยรัฐบาลกำลังพยายามทำทุกอย่าง ให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น ส่วนสต็อกยางที่มีอยู่จะนำมาใช้ในประเทศโดยนำไปผสมกับยางมะตอยในการทำถนน รวมทั้งจะเร่งรัดการเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำยางข้นในตลาด ผ่านการให้สินเชื่อกับกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำยางข้นโดยธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน วงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
“ราคารับซื้อยางพาราสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 จะถึงกิโลกรัมละ 80 บาทหรือไม่ ยังบอกไม่ได้ตอนนี้ แต่เอกชนที่มาพูดคุยเขาบอกว่าราคาจะไปถึง 80 บาท ได้ในเวลา 1-2 เดือนนี้” พล.อ.ประวิตรกล่าว
สำหรับแนวทางการพักหนี้ของเกษตรกร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน สำหรับระยะเวลาและวงเงินในการชำระหนี้ ซึ่งกระทรวงต่างๆ ต้องเสนอแนวทางเข้ามาให้คณะกรรมการชุดนี้เข้ามาพิจารณาอีกครั้ง
"ปรีดิยาธร"ยันช่วยเกษตรกร3จังหวัดใต้
ขณะที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและอนุมัติตามที่หน่วยงานต่างๆ เสนอ ส่วนใหญ่เป็นการพิจารณายืดหนี้ให้แก่เกษตรกรในโครงการนิคมสร้างตนเองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็นมูลค่ารวมที่ไม่สูง และประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ยังคงประสบปัญหายากลำบาก จากความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือ
“มูลค่าที่อนุมัติยืดให้ไม่สูง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาหนี้สินของนิคมสร้างตนเองในจังหวัดชายแดนใต้ ประชาชนในพื้นที่น่าสงสาร เราต้องช่วยเหลือ ได้อนุมัติตามที่เขาเสนอมาคือยืดหนี้ออกไป 10 ปี” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรกรฯ ได้มีการเรื่องแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งสิ้น 8 โครงการ แยกเป็นโครงการที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ 7 โครงการและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย 1 โครงการ
รัฐยอมยืดจ่ายหนี้10ปี5โครงการ
สำหรับโครงการที่กรมพัฒนาสังคมฯ เสนอและได้รับอนุมัติ ประกอบด้วยโครงการที่ขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 10 ปีจำนวน 5 โครงการมูลค่า 585 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงหนี้โดย ครม.เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2547 ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินนิคมสร้างตนเองสุคิริน จ.นราธิวาส เดิมได้อนุมัติให้ปรับปรุงหนี้ให้สมาชิกโดยการขยายเวลาชำระหนี้ 10 ปี พร้อมงดคิดดอกเบี้ยจำนวน 4,912 ราย เป็นเงิน 229 ล้านบาท และในสิ้นปี 2557 มีหนี้สินคงค้าง 189 ล้านบาท เป็นเงินต้นกว่า 72 ล้านบาท ดอกเบี้ยกว่า 116 ล้านบาท สมาชิกที่คงเหลือชำระหนี้ 3,832 ราย
2.การแก้ไขหนี้สินนิคมสร้างตนเองศรีสาคร จ.นราธิวาส เดิมได้อนุมัติให้ปรับปรุงหนี้วงเงิน 62 ล้านบาท สมาชิก 1,110 ราย มีหนี้สินคงเหลือ ณ สิ้นปี 2557 วงเงินกว่า 59 ล้านบาท แยกเป็นเงินต้น 27 ล้านบาท ดอกเบี้ย 31 ล้านบาท สมาชิกที่คงเหลือชำระหนี้ 1,063 ราย
3.การแก้ไขปัญหาหนี้สินนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.ยะลา ที่เดิมได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงหนี้ 176 ล้านบาท สมาชิก 3,050 ราย มีหนี้คงเหลือ ณ สิ้นปี 2557 ที่ 164 ล้านบาท แยกเป็นเงินต้น 64 ล้านบาท ดอกเบี้ย 99 ล้านบาท สมาชิกที่คงเหลือชำระหนี้ 2,804 ราย
4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินนิคมสร้างตนเองธารโต จ.ยะลา ที่เดิมได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงหนี้วงเงิน 21 ล้านบาท สมาชิก 473 ราย ณ สิ้นปี 2557 มีหนี้คงเหลือ 16 ล้านบาท แยกเป็นเงินต้นกว่า 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 11 ล้านบาท สมาชิกที่คงเหลือชำระหนี้ 351 ราย 5.การแก้ไขปัญหาหนี้สินนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล ซึ่งเดิม ครม.อนุมัติให้ปรับปรุงหนี้วงเงินกว่า 292 ล้านบาท สมาชิก 5,401 ราย ณ สิ้นปี 2557 มีหนี้คงเหลือ 155 ล้านบาท แยกเป็น เงินต้น 51 ล้านบาท และดอกเบี้ยกว่า 103 ล้านบาท สมาชิกที่คงเหลือชำระหนี้ 2,693 ราย
ยอมตัดหนี้สูญ 1.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมพัฒนาสังคมฯ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้เสนอให้มีการตัดหนี้สูญและคณะกรรมการบริหารหนี้เกษตรกรฯ อนุมัติ มูลค่า 2 ล้านบาท ประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สินนิคมสร้างตนเองเทพา จ.สงขลา ที่ ณ สิ้นปี 2557 มีหนี้คงค้างอยู่ 219,327 บาท รายการขอจำหน่ายหนี้สูญหนี้สินเกษตรกรสมาชิกนิคมสร้างตนเองอีก 4 แห่ง รวม 880,503 บาท สุดท้ายโครงการจำหน่ายหนี้สูญโครงการเกษตรจอมทอง ที่ ณ สิ้นปี 2557 มีหนี้คงเหลือ 1 ล้านบาท
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.