นายวันชัย สอนสิริ กล่าวว่า จะต้องปฏิรูปให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย จากการสัมมนากับตำรวจ ยืนยันว่า กฎหมายและระเบียบเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่มีปัญหาที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับในทางปฏิบัติ ส่งผลให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ยากขึ้น ไม่เป็นธรรม เกิดความทุกข์สั่งสม ยกตัวอย่างเช่น กรณีโครงการรับจำนำข้าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติถอดถอน และอัยการสูงสุดส่งเรื่องไปยังศาลปกครองสูงสุดแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 70 ล้าน เป็นที่ประจักษ์ ขณะที่การทุจริตที่เกิดขึ้นในสถาบันพระจอมเกล้า
ลาดกระบัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่งยึดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเปรียบเทียบของกรณีนี้ คือตัวอย่างของความเหลื่อมลํ้าในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่มีเงิน ไม่ได้ถูกบังคับใช้กฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมลํ้าอย่างชัดเจน
พ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงษ์ กล่าวว่า จะต้องนำธุรกิจที่อยู่นอกระบบหรือธุรกิจใต้ดิน ปรับให้มีการดำเนินการและเสียภาษีอย่างถูกกฎหมาย เช่น หวยใต้ดิน เพราะมีวงเงินที่อยู่ในกระบวนการดังกล่าวจำนวนมาก แต่ประเทศชาติกลับไม่ได้ผลประโยชน์จากธุรกิจดังกล่าว นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม ในเมื่อกรุงเทพมหานครเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ในต่างจังหวัดก็ควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นกัน
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวว่า มิติของความเหลื่อมลํ้าไม่ได้มีเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินในป่า เช่น กรณีที่ชาวบ้านถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด เมื่อตัดต้นยางที่อยู่ในป่า ทั้งที่ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนการประกาศพื้นที่อุทยาน เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความไม่สอดคล้องของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. รัฐธรรมนูญ และมติครม. ฉะนั้นควรระบุให้ชัดเจนว่าชาวบ้านที่อยู่ในป่า มีสิทธิในการจัดสรรทรัพยากรหรือไม่ ถ้าหากมีสิทธิตามกฎหมาย ขอบเขตของการบริหารจัดการอยู่ตรงไหน จะได้ไม่เกิดปัญหาในลักษณะนี้อีกต่อไป
นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า ความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ เกิดจากรัฐเลือกที่จะอุ้มธุรกิจกลุ่มหนึ่ง แทนที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นรากฐานของประเทศ การพัฒนา 50 ปี ที่ผ่านมาการถ่ายโอนทรัพยากรจากส่วนบนสู่ส่วนล่างไม่เคยเกิดขึ้นจริง ความรํ่ารวยของคนระดับบน เกิดจากการหยิบฉวยทรัพยากรธรรมชาติไปสร้างผลประโยชน์แก่ตนเอง ในรูปแบบของสัมปทาน ซึ่งพิจารณาจากตัวเลขการให้สัมปทาน เช่น เหมืองแร่ หลุมนํ้ามัน ฯลฯ แม้จะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบรายได้ภาษีส่วนนี้ กับภาษีอื่นๆ ทั้งระบบ จะพบว่ามีเพียง 2.5% เท่านั้น อีกทั้งยังสร้างมลภาวะให้กับประชาชน ฉะนั้นหากต้องการสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน จะต้องให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในส่วนนี้
นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมลํ้าจะต้องเริ่มจากภาคธุรกิจเอกชน เพราะรายได้กระจุกอยู่ในส่วนนี้ ซึ่งกระจายไปยังสังคมในรูปแบบภาษี การลงทุน และกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Cooperate Social Responsibility) ฉะนั้นภาคเอกชนควรสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการพัฒนาสังคมร่วมกัน เนื่องจากในอดีตมีเพียงภาครัฐที่ร่วมมือกับภาคธุรกิจ จึงยังไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ ทั้งนี้ไม่เชื่อในแนวคิดต่างฝ่ายต่างชนะ (Win-Win) เพราะจะต้องมีผู้ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง นอกจากนั้นควรสนับสนุนให้เกิดวิสากิจสังคม (Social Enterprise) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 ม.ค. 2558