นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พิจารณาแล้ว โดยสาระสำคัญประกอบด้วยอัตราภาษี แบ่งเก็บเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรอัตรา 0.5% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยหรือการพาณิชย์อัตรา 1% และที่ดินรกร้างว่างเปล่าอัตรา 4% โดยในกฎหมายจะมีคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่เรียกเก็บจริง ซึ่งจะไม่เกินกำหนดเพดานดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังมีบทเฉพาะกาลในกฎหมายกำหนดให้เก็บภาษีเพิ่มที่ละ 25% ไปจนถึงอัตราที่คณะกรรมการกำหนด โดยกฎหมายคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในปี 58 แต่กฎหมายจะให้เก็บจริงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป เพื่อทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษี และให้เวลากรมธนารักษ์ประเมินที่ดินรายแปลงให้ครบทั้งประเทศเสียก่อน
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากมีที่ดินเคยเสียภาษีจากกฎหมายเดิมอยู่ 100 บาท และเมื่อกฎหมายภาษีที่ดินใหม่มีผลบังคับใช้และต้องเสียภาษีเป็น 200 บาท หรือเพิ่มขึ้น 100 บาท ก็ให้เสียในปีแรก 125 บาท ปีที่ 2 เสีย 150 บาท ปีที่ 3 เสีย 175 บาท และปีที่ 4 เสีย 200 บาท จนครบจำนวนที่ต้องชำระ เพื่อให้ผู้เสียภาษีที่ดินได้ปรับตัวและไม่รู้สึกว่ามีภาระเพิ่มมากขึ้นเกินไป ส่วนการยกเว้นภาษีที่ดินให้กับที่อยู่อาศัยหรือการพาณิชย์ จะยกเว้นตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในส่วนมูลค่า 1 ล้านบาทแรกจะได้รับการยกเว้นไม่เกินภาษี และจะเก็บภาษีที่ดินตั้งแต่มูลค่าล้านที่ 2 เป็นต้นไป”
ขณะที่ กรณีของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และมีที่ดินว่างเปล่าเพื่อรอการปลูกสร้างอยู่จำนวนมาก และต้องมีภาระภาษี จนทำให้ต้นทุนบ้านสูงขึ้นนั้น ทาง สศค. ได้เสนอทางออกให้ฝ่ายนโยบายพิจารณา 2 แนวทาง คือ ทางที่ 1 หากตีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ก็ให้ออกพระราชกฤษฎีกามายกเว้น แต่ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าได้ยกเว้นภายในกี่ปี หากไม่นำไปสร้างก็ต้องเสียภาษีอัตราที่ดินรกร้างว่างเปล่าต่อไป
สำหรับแนวทางที่ 2 คือตีความว่าที่ดินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ก็ให้เสียภาษีในอัตราที่ไม่เกิน 1% ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่บอกว่ายอมรับภาระดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะตัดสินใจว่าแนวทางเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด
นายสมหมาย กล่าวว่า จะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ครม. พิจารณาภายในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้การเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 60 เพิ่มขึ้น โดยกระบวนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 6-7% ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี หลังจากที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และโรงเรือนได้หลักหมื่นล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในการการปฏิรูปภาษี ของรัฐบาล
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 2 ก.พ. 2558